โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 4, 43, 157
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นาง น. ผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาของนาย ย. ซึ่งเป็นผู้เยาว์ นาง ส. ผู้ร้องที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาของนาย ภ. ซึ่งเป็นผู้เยาว์ นาง จ. ผู้ร้องที่ 3 ซึ่งเป็นมารดาของนาย ฐ. ผู้ตาย และนางสาว ท. ผู้ร้องที่ 4 ซึ่งเป็นมารดาของเด็กชาย ก. ผู้ตายยื่นคำร้องเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องที่ 1 เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 โดยให้เรียกว่า โจทก์ร่วมที่ 1 และอนุญาตให้ผู้ร้องที่ 3 เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 โดยให้เรียกว่า โจทก์ร่วมที่ 3 ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของผู้ร้องที่ 2 และที่ 4
โจทก์ร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ 40,000 บาท และค่ารักษาพยาบาลนาย ย. ผู้เสียหาย 20,000 บาท รวมเป็นเงิน 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมที่ 1 ผู้ร้องที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าดูแลรักษาพยาบาลนาย ภ. ผู้เสียหายนับแต่วันเกิดเหตุเป็นเวลา 30 ปี เป็นเงิน 4,419,000 บาท ค่าซื้อเครื่องมืออุปกรณ์กระติกน้ำร้อน เข็มฉีดอาหารและเครื่องปั่นอาหาร 4,788 บาท และค่าสินไหมทดแทนอันมิใช่ตัวเงิน 2,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 6,423,788 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องที่ 2 โจทก์ร่วมที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพนาย ฐ. ผู้ตายเป็นเงิน 150,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะ 5,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 5,150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมที่ 3 และผู้ร้องที่ 4 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายในการจัดการศพเด็กชาย ก. ผู้ตายเป็นเงิน 140,000 บาท และค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่ไม่สามารถคิดค่าเสียหายเป็นตัวเงินได้ 5,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 5,140,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องที่ 4
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายอันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี กับให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 เป็นเงิน 4,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 21 มีนาคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องที่ 2 เป็นเงิน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 23 มีนาคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมที่ 3 เป็นเงิน 860,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 21 มีนาคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องที่ 4 เป็นเงิน 860,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 23 มีนาคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 จำคุก 4 ปี และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 3 กับผู้ร้องที่ 2 และที่ 4 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ซึ่งยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี คดีส่วนอาญาจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า เหตุคดีนี้เกิดจากความประมาทที่นาย ภ. ผู้เสียหายและเด็กชาย ก. ผู้ตายที่ขับรถจักรยานยนต์โดยประมาทโดยไม่เว้นระยะห่างให้มากพอที่จะหยุดรถได้ทัน ทำให้รถจักรยานยนต์ทั้งสองคันชนท้ายรถบรรทุกพ่วงที่จำเลยขับจนเป็นเหตุให้นาย ฐ. และเด็กชาย ก. ถึงแก่ความตาย นาย ภ. ได้รับอันตรายสาหัส และนาย ย. ได้รับอันตรายแก่กาย ซึ่งมิใช่ผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของจำเลย จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้องนั้น เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่วินิจฉัยไว้เป็นยุติแล้วว่า จำเลยขับรถบรรทุกพ่วงด้วยความเร็วสูงและหยุดรถกะทันหันเป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ที่ขับตามมาชนท้ายรถบรรทุกพ่วงจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายสาหัสและอันตรายแก่กาย ซึ่งเป็นผลจากการขับรถโดยประมาทของจำเลย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และฎีกาของจำเลยที่ขอให้รอการลงโทษนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษหรือการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 4 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นกัน เมื่อจำเลยมิได้ขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 4 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง หรืออัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันสมควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ฎีกาของจำเลยในคดีส่วนอาญาจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าว สำหรับฎีกาของจำเลยในคดีส่วนแพ่งที่จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 3 กับผู้ร้องที่ 2 และที่ 4 นั้น เมื่อคดีส่วนอาญาต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และจำเลยไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกาในคดีส่วนแพ่ง จึงต้องห้ามฎีกาในคดีส่วนแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 การที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยมาจึงไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว และศาลฎีกาเห็นว่าพฤติการณ์ที่ปรากฏในคดี โทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดยังไม่เหมาะสมแก่รูปคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจเปลี่ยนแปลงดุลพินิจในการลงโทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดไว้ได้ จำเลยประกอบอาชีพสุจริตและมีภาระเลี้ยงดูครอบครัว ประกอบกับหลังเกิดเหตุจำเลยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนค่าปลงศพนาย ฐ. และเด็กชาย ก. ผู้ตายให้แก่โจทก์ร่วมที่ 3 และผู้ร้องที่ 4 คนละ 10,000 บาท และหลังจากอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 จำเลยพยายามขวนขวายหาเงินนำมาวางศาลเพื่อชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษาของศาลให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 3 กับผู้ร้องที่ 2 และที่ 4 เป็นจำนวนเงินที่สูงถึง 2,858,968 บาท แสดงว่าจำเลยรู้สำนึกในการกระทำของจำเลยและพยายามบรรเทาผลร้ายจากการกระทำนั้นแล้ว ทั้งเหตุคดีนี้นาย ภ. และเด็กชาย ก. มีส่วนประมาทด้วย จำเลยมิได้ประมาทเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งการกระทำความผิดของจำเลยเป็นการกระทำโดยประมาท มิได้กระทำโดยเจตนา จึงมิใช่อาชญากรรมที่เป็นความผิดร้ายแรง เมื่อจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยเพื่อให้โอกาสจำเลยได้กลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป ซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมโดยรวมมากกว่าที่จะจำคุกจำเลยไปเสียทีเดียว แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำและปรามมิให้จำเลยกระทำความผิดในลักษณะนี้อีก จึงให้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง และคุมความประพฤติของจำเลยไว้ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลย 50,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง และให้คุมความประพฤติจำเลยโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้งภายในกำหนด 1 ปี กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4