โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 60, 80, 288 และริบของกลาง
จำเลยให้การต่อสู้อ้างเหตุป้องกัน
ระหว่างพิจารณา นางเหี้ยง มารดานายสมศักดิ์ ผู้ตาย และเด็กหญิงนาฏยา บุตรผู้ตาย โดยนางสาวปนิตาหรือลสิตา ผู้แทนโดยชอบธรรม ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต โดยให้เรียกนางเหี้ยงว่า โจทก์ร่วมที่ 1 และเรียกเด็กหญิงนาฏยาว่า โจทก์ร่วมที่ 2
โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องว่าเป็นมารดาของผู้ตายและบุตรของผู้ตาย ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 100,000 บาท และ 1,815,225 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งว่า จำเลยกระทำเพื่อป้องกันตัว จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมทั้งสอง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 72 และมาตรา 288 ประกอบมาตรา 60, 72 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยพลาดและโดยบันดาลโทสะ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี ริบของกลาง ยกคำร้องคดีส่วนแพ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ กับให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของนางเหี้ยง และเด็กหญิงนาฏยา
โจทก์ร่วมทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 20,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และชำระเงิน 240,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2560 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมทั้งสอง ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยให้ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามที่พระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ร่วมทั้งสองขอ ค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นางสาวปนิตาหรือลสิตา ผู้เสียหาย ทะเลาะวิวาทกับนางสาวธวัลพร น้องของจำเลย เมื่อเหตุการณ์ยุติแล้วจำเลยได้เตะและต่อยผู้เสียหายแล้วชักอาวุธมีดจะแทงผู้เสียหาย แต่มีคนเข้าห้ามไว้ จำเลยจึงขับรถจักรยานยนต์ออกไป จากนั้นนายเกียรติศักดิ์ พี่ชายของผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์มารับผู้เสียหาย แล้วไปจอดหน้าบ้านจำเลยและสอบถามเรื่องที่เกิดขึ้น จำเลยกับพวกเข้ามารุมชกต่อยนายเกียรติศักดิ์ จำเลยใช้อาวุธมีดแทงถูกศีรษะของนายเกียรติศักดิ์ ส่วนนายนิกรณ์ บิดาของจำเลยใช้ไม้ทุบตีนายเกียรติศักดิ์และชกผู้เสียหายหลายครั้ง สักพักหนึ่งมีคนเข้าห้ามไว้ ทั้งสองฝ่ายจึงหยุดทำร้ายร่างกายกัน แต่ยังคงโต้เถียงกัน ระหว่างนั้นนายสมศักดิ์ ผู้ตาย ซึ่งเป็นสามีของผู้เสียหายขับรถกระบะมาที่เกิดเหตุ นายเกียรติศักดิ์บอกผู้ตายว่าถูกจำเลยใช้อาวุธมีดแทงศีรษะ ผู้ตายจึงแย่งไม้จากนายนิกรณ์แล้วตีศีรษะนายนิกรณ์หลายครั้งจนล้มลง จากนั้นจำเลยวิ่งถืออาวุธมีดออกมาจากบ้านที่เกิดเหตุเพื่อจะเข้ามาแทงผู้เสียหาย ผู้ตายใช้ลำตัวเข้าบังผู้เสียหายไว้ คมมีดจึงไม่ถูกผู้เสียหาย แต่ไปถูกบริเวณลิ้นปี่ของผู้ตาย ทำให้อวัยวะภายในช่องอกของผู้ตายเป็นบาดแผลอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้ผู้ตายได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 72 และมาตรา 288 ประกอบมาตรา 60, 72 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยพลาดและโดยบันดาลโทสะ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี ยกคำร้องคดีส่วนแพ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เฉพาะคดีส่วนแพ่งเป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 200,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และชำระเงิน 240,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 2 พร้อมดอกเบี้ย จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาคดีส่วนอาญายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยในคดีส่วนอาญาเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 9 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว และจำเลยไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 9 เพื่อพิจารณาและอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำฟ้องฎีกาของจำเลยว่า "พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุด จึงอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และรับฎีกาจำเลย สำเนาให้อีกฝ่ายแก้..." ดังนี้ จึงเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า ฎีกาของจำเลยชอบด้วยกฎหมายที่ศาลฎีกาจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ ในปัญหานี้ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้บัญญัติวิธีการขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสาม และมาตรา 252 มาใช้บังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ด้วยการยื่นคำร้องขออนุญาตถึงผู้พิพากษานั้น แต่ก็เป็นเพียงนำมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้เท่านั้น ทั้งเหตุผลที่ต้องให้ผู้ฎีกายื่นคำร้องดังกล่าว ก็เพื่อให้ทราบถึงเจตนาของผู้ยื่นฎีกาว่าประสงค์ให้ผู้พิพากษาคนใดพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เพื่อที่ศาลที่รับคำร้องจะได้ส่งคำร้องพร้อมสำนวนความไปยังผู้พิพากษาดังกล่าวพิจารณาและมีคำสั่งต่อไป โดยที่การยื่นฎีกาในคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคสอง และมาตรา 223 บัญญัติให้ยื่นต่อศาลชั้นต้น และให้เป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นตรวจฎีกาว่าควรจะรับส่งขึ้นไปยังศาลฎีกาหรือไม่ เมื่อผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ศาลชั้นต้นนั้น จึงมีอำนาจตรวจฎีกา และเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุด ก็ย่อมมีอำนาจสั่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไปในคำฟ้องฎีกาเสียทีเดียวได้ แม้จำเลยจะมิได้ยื่นคำร้องเพื่อขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงมาด้วยก็ตาม เพราะถือเป็นดุลพินิจเด็ดขาดของผู้พิพากษาที่สั่งอนุญาต การที่ผู้พิพากษาดังกล่าวตรวจฎีกาแล้วเห็นว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุด จึงอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และรับฎีกาของจำเลยไว้ จึงเป็นกรณีที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องตามเจตนารมณ์แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 แล้ว ศาลฎีกาย่อมวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยต่อไปได้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า มีเหตุสมควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี การที่จำเลยกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ ศาลล่างทั้งสองได้กำหนดโทษจำคุก 6 ปี ซึ่งน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดตามที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 72 ให้อำนาจไว้ ทั้งยังลดโทษให้จำเลยอีกหนึ่งในสาม คงจำคุก 4 ปี อันเป็นโทษที่เหมาะสมแก่สภาพความผิดแล้ว ส่วนพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างทะเลาะวิวาทและทำร้ายร่างกายกันมาก่อนเวลาเกิดเหตุไม่นาน โดยจำเลยเองมีส่วนในการวิวาทโดยใช้มีดเป็นอาวุธทำร้ายร่างกายฝ่ายผู้เสียหายด้วย การที่จำเลยยังคงใช้มีดเป็นอาวุธแทงผู้ตายในเวลาต่อมาอีกเช่นนี้นับว่าเป็นการกระทำที่ร้ายแรง ส่วนการวางเงินต่อศาลเพื่อชดใช้ค่าสินไหมทดแทนก็เป็นเรื่องที่จำเลยต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาอยู่แล้ว แม้จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือไม่เคยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ หรือยังมีภาระต้องดูแลครอบครัวดังที่จำเลยอ้างในฎีกา ก็ยังไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมทั้งสองหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า แม้ผู้ตายมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดอยู่ด้วย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย นางเหี้ยงซึ่งเป็นมารดาของผู้ตาย และเด็กหญิงนาฏยาซึ่งเป็นบุตรของผู้ตาย ย่อมไม่มีอำนาจเข้ามาจัดการแทนผู้ตายและไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยก็ตาม แต่บุคคลทั้งสองเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลย จึงเป็นผู้ที่ถูกโต้แย้งสิทธิในทางแพ่งและมีสิทธิเรียกร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ตายเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ ส่วนจะกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้มากน้อยเพียงใด ย่อมต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคหนึ่ง และมาตรา 438 วรรคหนึ่ง ที่ให้พิจารณาว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร ซึ่งเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว แม้ฝ่ายผู้ตายและฝ่ายจำเลยจะมีเหตุทะเลาะวิวาทกันมาก่อน แต่เหตุดังกล่าวยุติไปแล้ว การที่ในเวลาต่อมาผู้ตายใช้ไม้เป็นอาวุธตีทำร้ายนายนิกรณ์ บิดาของจำเลย จนเกิดเหตุคดีนี้ขึ้น ถือได้ว่าผู้ตายมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 กำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางเหี้ยงเป็นค่าปลงศพ 60,000 บาท กับค่าขาดไร้อุปการะแก่เด็กหญิงนาฏยา 720,000 บาท โดยให้จำเลยรับผิดในค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเพียงหนึ่งในสามส่วนพร้อมด้วยดอกเบี้ย นับว่าเหมาะสมแล้ว ส่วนที่จำเลยอ้างว่ามีฐานะยากจนทำนองว่าจำเลยไม่สามารถชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษาได้ ก็ไม่ใช่เหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 เป็นอย่างอื่น ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งในชั้นฎีกาให้เป็นพับ