คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าเป็นบุตรของนายยองซึ่งเป็นลูกหนี้ค่าภาษีอากรโจทก์เป็นเงิน 59,604 บาท ต่อมานายยองถึงแก่กรรมแต่ก่อนถึงแก่กรรมนายยองโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2130 ตำบลกะแดะ อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 1 โดยไม่มีค่าตอบแทน โดยรู้ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินระหว่างนายยองและจำเลยที่ 1 เพื่อให้ที่ดินกลับคืนมาเป็นกองมรดกของนายยอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 และไม่รับฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลล่างทั้งสองไม่รับคำฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึง 5 ไว้พิจารณาชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ตอนแรกบรรยายกล่าวถึงหนี้ภาษีอากรค้างที่ นายยองซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้วเป็นหนี้ค้างอยู่แก่โจทก์ ตอนต่อมาบรรยายถึงข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่โจทก์ขอให้ศาลเพิกถอนการโอนให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างนายยองกับจำเลยที่ 1 ว่า ก่อนนายยองถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2540 นายยองซึ่งรู้ว่าเป็นหนี้ภาษีอากรค้างแก่โจทก์ได้โอนให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตาม น.ส.3 ก เลขที่ 2130 ตำบลกะแดะ อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หาเพื่อให้พ้นจากการถูกยึดโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นการทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ และจากการสอบสวน นายยองไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะชำระหนี้ได้ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินดังกล่าวไปขอออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 16066 ตำบลกะแดะ อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วนำไปขายฝาก ภายหลังเมื่อได้ไถ่ถอนการขายฝากแล้วได้นำไปจดทะเบียนจำนองแก่นายธีรยุทธ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2545 คำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้ได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในเรื่องเพิกถอนนิติกรรมว่า นายยองซึ่งเป็นลูกหนี้ภาษีอากรค้างแก่โจทก์ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบและกรณีเป็นนิติกรรมที่นายยองทำให้โดยเสน่หาแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรอันเป็นความรับผิดส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับการให้จากนายยองที่อาจถูกโจทก์ร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียซึ่งนิติกรรมดังกล่าวนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ส่วนคำฟ้องของโจทก์ที่บรรยายถึงฐานะของจำเลยที่ 1 ว่าเป็นบุตรสาวและเป็นทายาทโดยธรรมของนายยองเช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ก็เป็นบุตรและฐานะเป็นทายาทโดยธรรมของนายยองเช่นกันนั้น เป็นการบรรยายฟ้องที่แสดงถึงสภาพความรับผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ซึ่งกองมรดกของนายยองตกทอดแก่บุคคลดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1600 เมื่อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกลับมาเป็นกองมรดกของนายยองแล้ว จำเลยทั้ง 5 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายยองจะต้องรับชำระหนี้ภาษีอากรดังกล่าวแทนนายยอง เมื่อคดีร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่นายยองผู้ตายได้กระทำไปโดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบนั้นเป็นความรับผิดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ตายต่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ จึงเป็นมรดกตกทอดไปยังทายาทซึ่งทายาทคนหนึ่งคนใดหรือทั้งหมดอาจถูกเจ้าหนี้ฟ้องให้รับผิดในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นได้ คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวในส่วนนี้เพียงพอที่จะให้เข้าใจถึงสภาพแห่งข้อโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้รับผิดในฐานะเช่นว่านั้นแล้ว สภาพแห่งคำฟ้องของโจทก์มิได้มีข้อโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวเช่นอย่างจำเลยที่ 1 ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้รับการให้จากนายยองผู้ให้โดยเสน่หาด้วย ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่ว่า คำบรรยายฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ร่วมกันรับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากนายยองและมีหน้าที่ต้องโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวคืนให้เป็นกองมรดกของนายยองในประการใด โจทก์จึงไม่อาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้ ให้รับคำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไว้พิจารณาด้วย ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นเป็นพับ