โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จะซื้อที่ดินของจำเลย โจทก์ชำระเงินดาวน์ครบถ้วนแล้ว แต่จำเลยยังไม่พัฒนาที่ดินให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ปล่อยให้โครงการทิ้งร้างหยุดก่อสร้าง โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาและตามที่โฆษณาชวนเชื่อก่อนโอนกรรมสิทธิ์ แต่จำเลยมิได้ปฏิบัติตามสัญญา โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,251,663.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,145,400 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงไม่มีอำนาจบอกเลิกสัญญาและการบอกเลิกสัญญาไม่ชอบ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายและดอกเบี้ยเพราะไม่ได้ตกลงไว้ในสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 572,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินกับจำเลย โดยโจทก์ตกลงจะซื้อที่ดินของจำเลยในโครงการกฤษดาซิตี้ เลค แอนด์ พาร์ค ในราคา 2,863,500 บาท โจทก์ได้ชำระเงินแล้วทั้งสิ้น 572,700 บาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่าจำเลยผิดสัญญาหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ผ่อนชำระเงินดาวน์แก่จำเลยครบถ้วนตามสัญญา ต่อมาจำเลยจึงมีหนังสือลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2541 แจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในวันที่ 11 ธันวาคม 2541 เวลา 10 นาฬิกา ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี พร้อมทั้งให้นำเงินส่วนที่เหลือไปชำระ แสดงว่าจำเลยได้ยืนยันต่อโจทก์ว่าจำเลยได้พัฒนาที่ดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาข้อ 5 ดังนั้น จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่โจทก์ตามกำหนดนัด ส่วนที่ปรากฏตามหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ มีข้อความระบุว่าก่อนที่จะถึงวันนัดให้โจทก์มีหนังสือแจ้งแก่จำเลยก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2541 เพื่อเป็นการยืนยันว่าจะไปรับโอนกรรมสิทธิ์นั้นเป็นเรื่องที่จำเลยกำหนดขึ้นเองฝ่ายเดียว โดยไม่มีเงื่อนไขดังกล่าวระบุไว้ในสัญญาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามปรากฏว่าโจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่ 1 ธันวาคม 2541 ตอบกลับไปยังจำเลยแจ้งให้ทราบว่าจำเลยยังพัฒนาที่ดินไม่เรียบร้อย สาธารณูปโภคยังไม่ครบ และยังไม่ได้ดำเนินการในสิ่งต่าง ๆ ตามที่โฆษณาไว้ แต่โจทก์ก็พร้อมที่จะไปรับโอนกรรมสิทธิ์ตามวันเวลาที่จำเลยกำหนดนัดซึ่งเพียงพอที่จะถือได้ว่าโจทก์มีหนังสือตอบรับยืนยันไปยังจำเลยแล้ว เมื่อถึงวันนัดโจทก์ได้ไปรอที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี ตามกำหนดนัดโดยได้เตรียมเงินส่วนที่เหลือจำนวน 2,308,230 บาท ไปชำระให้แก่จำเลยด้วยแต่ปรากฏว่าจำเลยมิได้ไปตามกำหนดนัด โจทก์จึงให้เจ้าพนักงานที่ดินบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ดังนี้จึงถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา และโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกร้องค่าเสียหายได้ตามสัญญาข้อ 6.3 เมื่อปรากฏว่าโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลย และจำเลยได้รับหนังสือของโจทก์แล้วตามใบตอบรับ สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเลิกกัน ที่จำเลยอ้างในฎีกาว่าหนังสือบอกเลิกสัญญาของโจทก์กระทำโดยทนายความซึ่งไม่ได้รับมอบอำนาจเป็นหนังสือจากโจทก์ จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยผู้ที่ไม่มีอำนาจนั้น เห็นว่า การบอกเลิกสัญญาในกรณีเช่นนี้ไม่มีบทกฎหมายใดบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ ดังนั้น การมอบอำนาจให้บอกเลิกสัญญาจึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือเช่นกัน อย่างไรก็ตามโจทก์ได้เบิกความยืนยันในชั้นพิจารณาว่าได้มอบหมายให้ทนายโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเจตนาของโจทก์ว่าได้ยอมรับการกระทำของทนายความที่กระทำการแทนโจทก์ในกรณีดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823 การบอกเลิกสัญญาจึงชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า โจทก์ได้ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นครั้งที่สองตามหนังสือนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของจำเลย แสดงว่าโจทก์ไม่ติดใจที่จะใช้สิทธิในการบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยจึงมีผลให้สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยยังไม่เลิกกันและยังคงใช้บังคับกันได้ตามกฎหมาย จึงถือว่าจำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญานั้น เห็นว่า โจทก์มีหนังสือบอกสัญญาเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2541 ส่งไปยังจำเลยซึ่งมีผู้รับหนังสือไว้เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2541 การบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงมีผลสมบูรณ์แล้ว แม้ต่อมาจำเลยจะมีหนังสือลงวันที่ 11 มกราคม 2541 นัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 29 มกราคม 2542 และโจทก์ไปที่สำนักงานที่ดินตามกำหนดนัดดังกล่าวนั้น ก็เป็นเพียงการให้โอกาสแก่จำเลยในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาข้อพิพาทกันอีกต่อไปเท่านั้น แต่ปรากฏว่าฝ่ายจำเลยก็ยังผิดนัดอีก พฤติการณ์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่าโจทก์ไม่ติดใจที่จะเลิกสัญญากับจำเลยอีกต่อไปดังที่จำเลยอ้าง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยจะต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้วเช่นนี้ คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจึงต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่ได้รับจากโจทก์แล้วจำนวน 572,700 บาท แก่โจทก์ และจำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามมาตรา 391 วรรคสอง นับแต่วันที่รับไว้ด้วยที่จำเลยฎีกาว่า ตามสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินกำหนดให้จำเลยเท่านั้นเป็นผู้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด โดยไม่ปรากฏข้อตกลงในสัญญาที่ให้สิทธิโจทก์ในการคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยนั้น เห็นว่า กรณีไม่ใช่เป็นการคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดแต่เป็นเรื่องที่จำเลยประพฤติผิดสัญญาและโจทก์ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสอง ดังกล่าว ส่วนอัตราดอกเบี้ยนั้นไม่ปรากฏว่าได้ระบุไว้โดยชัดแจ้ง จึงต้องถืออัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน"
พิพากษายืน