โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนนิติกรรมจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 25153 อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ แล้วให้จำเลยนำที่ดินดังกล่าวมาแบ่งให้โจทก์กึ่งหนึ่ง เนื้อที่ 10 ไร่ 2 งาน 92.5 ตารางวา โดยให้ด้านหน้าติดถนนชยางกูรมีระยะกว้างเท่ากัน หากจำเลยไม่ยินยอมให้โจทก์ไถ่ถอนเองโดยถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยชดใช้เงินที่ไถ่ถอนพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและกำจัดมิให้จำเลยรับมรดกของนางค่ำหรือค้ำ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ว่า โจทก์และจำเลยเป็นบุตรต่างสามีของนางค่ำหรือค้ำ เจ้ามรดก โดยโจทก์มีพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันอีกสองคน คือนายบุญธรรม กับนายบรรเทิง ส่วนจำเลยเป็นบุตรคนเดียวของบิดามารดา นอกจากนี้เจ้ามรดกยังมีบุตรต่างสามีอีกหนึ่งคน คือ นายคำ เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อปี 2531 มีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินจำนวน 2 แปลง คือที่ดินส่วนที่ปลูกบ้านอยู่อาศัย ซึ่งเจ้ามรดกยกให้แก่จำเลยกับนายบุญธรรมคนละครึ่ง และส่วนที่ดินที่ทำนาซึ่งพิพาทกันในคดีนี้ จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้ขอออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 25153 อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ และแบ่งเป็นโฉนดย่อยให้แก่ทายาทอื่นทุกคนแล้วยกเว้นโจทก์ โดยยังเหลือที่ดินที่ยังไม่ได้แบ่งเนื้อที่ประมาณ 21 ไร่เศษ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ เนื่องจากโจทก์ฟ้องในฐานะบุคคลที่จะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ไม่ใช่คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก จึงให้ยกคดีกลับไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไป เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล มีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายในอันที่จะรวบรวมทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันแก่ทายาท ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดพิพาทมาก่อน เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองต่างเป็นทายาท การฟ้องคดีของโจทก์จึงเป็นเรื่องของการขอแบ่งมรดกที่มีจำเลยเป็นผู้จัดการไม่เข้าลักษณะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ตามความเห็นของศาลอุทธรณ์ภาค 3 แต่เป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่ได้มีคำวินิจฉัย แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว จึงเห็นควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียว โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอีก คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง บัญญัติห้ามมิให้มีการฟ้องร้องเกินห้าปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง คดีนี้เจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน 2 แปลง สำหรับแปลงพิพาท คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 25153 จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นที่นา ซึ่งจำเลยได้จัดการแบ่งเป็นแปลงย่อยและโอนให้แก่ทายาททุกคนตามสัดส่วนแล้ว ยกเว้นโจทก์เพียงคนเดียว โดยยังเหลือส่วนที่ยังไม่ได้แบ่งให้โจทก์และส่วนที่เป็นของจำเลยเนื้อที่รวมกันประมาณ 21 ไร่เศษ ในชื่อของจำเลย โดยจำเลยยืนยันว่าโจทก์ได้ขายที่พิพาทส่วนของตนให้แก่จำเลยแล้ว ซึ่งโจทก์แย้งว่าไม่เคยขายที่พิพาทและรับเงินจากจำเลย คดีจึงต้องพิจารณาว่า โจทก์และจำเลยมีข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกกันจริงหรือไม่ แม้โจทก์จะมีพยานปากนายบุญธรรมและนางทองสูน มาเบิกความสนับสนุนว่า เจ้ามรดกได้แบ่งที่ดินพิพาทให้แก่บุตรทั้งห้าคน ตามสัดส่วนที่ปรากฏในโฉนดที่ดิน และโจทก์ยังไม่ได้รับส่วนแบ่ง แต่นายบุญธรรมรับว่า จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้แบ่งที่ดินทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนหมดแล้ว ตั้งแต่ปี 2537 โดยรวมถึงผู้รับมรดกแทนที่และผู้ที่ไปมีภูมิลำเนาอยู่ที่อื่น ซึ่งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้โต้แย้งเป็นอื่น นอกจากกล่าวอ้างลอย ๆ ว่าตนไม่ทราบการแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่โจทก์อาศัยและประกอบอาชีพขับรถรับจ้างในเขตที่ดินพิพาทตั้งอยู่ จึงไม่น่าเชื่อว่าโจทก์จะไม่รับรู้ ทั้งโจทก์ก็รับว่าไม่เคยเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทคงมีแต่จำเลยทำประโยชน์มาโดยตลอดตั้งแต่เจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ และโจทก์ไม่เคยได้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการใช้ที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์จากจำเลย แต่กลับปล่อยปละละเลยให้เวลาล่วงเลยมานาน เพิ่งมาฟ้องเป็นคดีนี้หลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเป็นเวลานานถึง 27 ปี และหลังจากมีการแบ่งปันที่ดินพิพาทให้แก่ทายาทอื่นเป็นเวลาเกือบ 20 ปี ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เคยทวงถามหรือคัดค้านการจัดการมรดกของจำเลย กลับได้ความจากโจทก์ว่าหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย โจทก์ได้เข้าไปถมดินในที่ดินพิพาทเพื่อจะปลูกบ้าน แต่จำเลยไม่ยินยอม ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าจำเลยปฏิเสธความชอบธรรมในที่ดินพิพาทของโจทก์ตลอดมา หากที่ดินเป็นของโจทก์จริงโจทก์ก็ควรใช้สิทธิเรียกร้องเอาคืนมาเสียโดยเร็ว การปล่อยปละละเลยมานานเช่นนี้ ประกอบพฤติการณ์ในการจัดการมรดกของจำเลยที่ได้แบ่งให้แก่ทายาทรวมทั้งผู้รับมรดกแทนที่ทุกคนต่างพอใจ ไม่มีใครโต้แย้ง ทำให้คำเบิกความของจำเลยมีน้ำหนักน่าเชื่อถือแม้จำเลยจะไม่มีบันทึกการตกลงซื้อขายที่ดินพิพาทมาแสดงเนื่องจากหาไม่พบ ก็ไม่เป็นพิรุธ เพราะเวลาผ่านมาเนิ่นนานเช่นนี้หลักฐานต่าง ๆ อาจสูญหายไปได้ อนึ่งจำเลยยังมีนางถาวร ผู้รู้เห็นในการทำบันทึกข้อตกลงมาเบิกความยืนยันว่า โจทก์และจำเลยได้ตกลงขายที่ดินกันจริง ดังนี้พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบจึงมีน้ำหนักมั่นคงกว่าพยานหลักฐานโจทก์ กรณีจึงถือว่าการจัดการมรดกของจำเลยได้เสร็จสิ้นแล้วโดยชอบ โดยครั้งหลังสุดเมื่อโอนขายส่วนของนายบุญธรรมให้แก่นางทองสูนในวันที่ 17 พฤษภาคม 2550 โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 เกินกว่าห้าปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ