โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 (1) จำคุก 3 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 3 กระทง โทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า จำเลยยืมเงินโจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้จำนวน 3 ฉบับ ฉบับแรกลงวันที่ 10 มกราคม 2563 จำนวนเงิน 100,000 บาท กำหนดชำระเงินวันที่ 4 มิถุนายน 2563 และจำเลยสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ 4 มิถุนายน 2563 จำนวนเงิน 100,000 บาท มอบแก่โจทก์ ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 จำนวนเงิน 140,000 บาท กำหนดชำระเงินวันที่ 8 มิถุนายน 2563 และจำเลยสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ 8 มิถุนายน 2563 จำนวน 140,000 บาท มอบแก่โจทก์ และฉบับที่ 3 ลงวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 จำนวนเงิน 52,500 บาท กำหนดชำระเงินวันที่ 2 มิถุนายน 2563 และจำเลยสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ 2 มิถุนายน 2563 จำนวนเงิน 52,500 บาท มอบแก่โจทก์ เมื่อเช็คทั้งสามฉบับถึงกำหนด โจทก์นำเช็คฝากธนาคารเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า "เช็คสั่งจ่ายผิดปกติ เช็คสั่งจ่ายไม่ถูกต้อง" "เงินในบัญชีไม่พอจ่าย" และ "เงินในบัญชีไม่พอจ่าย"
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อเป็นประกันเงินกู้ยืมกับโจทก์ และขณะออกเช็คพิพาทยังไม่ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้นั้น เห็นว่า โจทก์เบิกความยืนยันว่า จำเลยยืมเงินพยาน 3 ครั้ง โดยทำหนังสือรับสภาพหนี้และสั่งจ่ายเช็คพิพาทตามจำนวนเงินที่ยืมแต่ละครั้งเพื่อชำระหนี้แก่พยาน แม้โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จำเลยยืมเงินพยานโดยนำเช็คมาค้ำประกันว่าหากไม่ชำระหนี้ ให้พยานบังคับตามเช็ค ขณะจำเลยเขียนเช็คทั้งสามฉบับยังไม่มีการจัดทำหนังสือรับสภาพหนี้ แต่โจทก์ก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านด้วยว่า จำเลยยืมเงินพยานหลายครั้ง ไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมเงิน แต่บางครั้งจำเลยออกเช็คมอบให้พยาน หนังสือรับสภาพหนี้ฉบับลงวันที่ 1 และ 5 พฤษภาคม 2563 เกิดจากจำเลยยืมเงินแล้วออกเช็คไว้แต่ไม่สามารถเรียกเก็บเงินตามเช็คได้ จึงให้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ และเบิกความตอบทนายโจทก์ถามติงว่า ตามหนังสือรับสภาพหนี้จำเลยเขียนเองตามที่กู้ยืมเงินกัน แสดงว่าก่อนหน้านี้จำเลยยืมเงินและออกเช็คมอบให้โจทก์ แต่โจทก์ไม่สามารถนำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินได้ โจทก์จึงให้จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้และออกเช็คพิพาทไว้ และโจทก์มีนายอภิชัย สามีโจทก์ เบิกความเป็นพยานว่า จำเลยเขียนหนังสือรับสภาพหนี้ตามหนี้กู้ยืมเงิน จำเลยสัญญาว่าจะชำระเงินภายใน 1 เดือน โดยออกเช็คพิพาทและจำเลยมอบให้ไว้ในวันทำหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยบอกให้นำเช็คไปขึ้นเงินเมื่อถึงกำหนด และเมื่อพิจารณาหนังสือรับสภาพหนี้ทั้งสามฉบับระบุรายละเอียดของเช็คพิพาทว่าจำเลยออกเพื่อชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้แต่ละฉบับ เมื่อจำเลยมิได้นำสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยเจตนาออกเช็คพิพาทแต่ละฉบับเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย จำเลยจึงกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน