ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การวินิจฉัยมรดกใช้ ป.พ.พ. ก่อน หากเป็นมรดกจึงใช้กฎหมายอิสลามได้ ศาลล่างพิพากษาถูกต้องฟ้องขาดอายุความ
แม้โจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นอิสลามศาสนิกอยู่ในจังหวัดนราธิวาส แต่ในการวินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นมรดกหรือไม่ จะนำกฎหมายอิสลามมาใช้บังคับไม่ได้ ต้องใช้ ป.พ.พ. เป็นหลักวินิจฉัยก่อน
คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาททั้งที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายอิสลามและที่มิใช่ข้อกฎหมายอิสลามปะปนกันอยู่ การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่มีดะโต๊ะยุติธรรมนั่งพิจารณาพร้อมด้วยผู้พิพากษา การพิจารณาคดีจะไม่เป็นการชอบด้วย พ.ร.บ. ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489 มาตรา 4 วรรคแรก ก็แต่เฉพาะข้อพิพาทที่ต้องใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกบังคับเท่านั้น ส่วนการพิจารณาคดีในประเด็นข้ออื่นหาได้อยู่ในบังคับที่ต้องมีดะโต๊ะยุติธรรมร่วมพิจารณาด้วยไม่
ประเด็นข้อพิพาทที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นของมารดาจำเลยทั้งสอง หรือเป็นมรดกของบิดาโจทก์และจำเลยทั้งสอง และประเด็นข้อพิพาทที่ว่าคดีขาดอายุความแล้วหรือไม่ ทั้งสองข้อหานี้หาใช่ข้อกฎหมายอิสลามที่ดะโต๊ะยุติธรรมจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดไม่ แม้ดะโต๊ะยุติธรรมจะมิได้ร่วมนั่งพิจารณาด้วย ก็ไม่ทำให้กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นต้องเสียไปแต่อย่างใด
จำเลยทั้งสองได้ให้การต่อสู้อย่างชัดแจ้งว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความเรียกร้องขอส่วนแบ่งมรดกแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 และในชั้นพิจารณา จำเลยทั้งสองก็นำสืบว่าเจ้ามรดกถึงแก่ความตายในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2534 จึงเป็นการนำสืบตามข้อต่อสู้ในเรื่องอายุความแล้ว ส่วนที่จำเลยทั้งสองเบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า หากที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นมรดกก็จะยอมแบ่งให้แก่โจทก์นั้น เป็นเพียงการแสดงความบริสุทธิ์ใจของจำเลยทั้งสองที่ไม่ประสงค์จะฉ้อโกงโจทก์ หาใช่เป็นการสละประโยชน์แห่งอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 ที่ต้องแสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งก่อนการฟ้องคดีไม่