โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำ ได้รับค่าจ้างสุดท้ายเดือนละ ๖,๐๐๐ บาท และค่านายหน้าจากการขายสินค้าในอัตราร้อยละ ๐.๐๐๕ ของยอดขายทั้งแผนกรวมกัน โดยมีกำหนดจ่ายให้ ณ วันสุดท้ายของเดือน ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๓๑ โจทก์ได้ยื่นใบลาขอลาออกจากงานโดยให้มีผลในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๓๑ เพื่อให้ถูกต้องตามข้อบังคับซึ่งต้องลาล่วงหน้า ๓๐ วัน แต่จำเลยอนุมัติให้โจทก์พ้นจากหน้าที่ตั้งแต่วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๓๑ ซึ่งจำเลยมีหน้าที่จะต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๑ จำนวน ๖,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ นอกจากนี้จำเลยยังค้างจ่ายค่านายหน้าจากการขายระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ ถึงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๓๑ จำนวน ๘,๑๐๓.๕๕ บาทและระหว่างทำงาน จำเลยได้หักค่าจ้างของโจทก์ไว้เป็นเงินสะสมทั้งสิ้น ๖,๓๘๐.๓๘ บาท จึงขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างที่ค้างชำระค่านายหน้า และเงินสะสมให้โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า ค่านายหน้าที่โจทก์เรียกมา ๘,๑๐๓.๕๕ บาท นั้นจำเลยขอปฏิเสธความจริงค้างชำระอยู่เพียง ๒,๗๒๒.๒๙ บาท จำเลยไม่เคยอนุมัติให้โจทก์ลาออกก่อนกำหนด โจทก์ได้ละทิ้งหน้าที่ไม่มาปฏิบัติงานที่บริษัทจำเลยโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินสะสมเป็นเงิน ๖,๓๘๐.๓๘ บาท และค่านายหน้าเป็นเงิน ๒,๙๒๗.๒๙ บาทให้แก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนดคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่าการที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องตามคำร้องลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๓๑ นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะคดีของโจทก์เป็นการฟ้องเรียกเงินค่านายหน้าจากการขายสินค้าซึ่งถือว่าเป็นค่าจ้างอันเป็นปัญหาเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘๐ วรรคสอง (๒) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๓๑ โจทก์ขอเพิ่มเติมคำขอท้ายฟ้องโดยขอให้จำเลยจ่ายเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าทุกระยะเจ็ดวันของค่าจ้างที่เป็นค่านายหน้าจากการขายจำนวน ๘,๑๐๓.๕๕ บาท ที่ถึงกำหนดชำระในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๓๑ นับแต่วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๓๑ ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เป็นกรณีที่โจทก์เรียกร้องเงินเพิ่มตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ ๓๑ ซึ่งขณะยื่นฟ้องโจทก์ทราบถึงสิทธิในข้อนี้อยู่แล้ว ชอบที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องหลังจากที่โจทก์สืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว และคดีไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน คำร้องดังกล่าวของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลแรรงานกลางสั่งยกคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์นั้น ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่านายหน้าจากการขายจากจำเลยเป็นเงิน ๘,๑๐๓.๕๕ บาท แต่จำเลยให้การเพียงว่าจำเลยค้างชำระค่านายหน้าแก่โจทก์เป็นเงิน ๒,๗๒๒.๒๙ บาท โดยมิได้ให้การว่าเหตุใดจำเลยจึงค้างชำระค่านายหน้าแก่โจทก์ตามจำนวนดังกล่าว ทั้งมิได้ให้การถึงจำนวนค่านายหน้าที่แตกต่างจากฟ้อง คำให้การของจำเลยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๗ วรรคสอง จำเลยไม่มีสิทธิที่จะนำสืบว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่านายหน้าจากการขายเฉพาะราคาสินค้าซึ่งจำเลยได้รับชำระราคาส่วนสินค้าที่ลูกค้ายังมิได้ชำระราคา โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่านายหน้า และนอกจากนี้เมื่อโจทก์นำสืบพยานเข้าสืบ จำเลยก็มิได้ถามค้านพยานโจทก์ถึงความข้อนี้ ข้อนำสืบของจำเลยจึงรับฟังไม่ได้ การที่ศาลแรงงานกลางรับฟังตามข้อนำสืบของจำเลยเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยได้ปฏิเสธจำนวนค่านายหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์โดยชอบแล้วที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายค่านาย หน้าตามจำนวนที่โจทก์ฟ้อง เพราะจำเลยยังมิได้รับชำระราคาสินค้า จึงอยู่ในประเด็นที่จำเลยได้ให้การต่อสู้ไว้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง