โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 318,244,022.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.60 ต่อปี ของต้นเงิน 62,916,119.27 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์จำนองคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 72280 และ 82147 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะทายาทโดยธรรมของนางอำพัน จำเลยที่ 5 และที่ 6 ไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 89681 ,89682, 90766, 90767, 90944 และ 90945 (ที่ถูก 90954) ตามลำดับ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง หากจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ไม่ไถ่ถอนจำนอง ให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งหกขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 89681 และ 89682 จำเลยที่ 4 ไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 90766 จำเลยที่ 4 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนางอำพัน ไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 90767 จำเลยที่ 5 ไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 90944 และจำเลยที่ 6 ไถ่ถอนจำนองที่ดิน โฉนดเลขที่ 90954 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง อันเป็นทรัพย์ติดภาระจำนองตามสัญญากู้ยืมเงินเลขที่ 080/2538 ในมูลหนี้ 14,502,586.41 บาท หากจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ไม่ไถ่ถอนจำนอง ให้ยึดที่ดินดังกล่าว ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรม ของนางสงัด ผู้ค้ำประกัน ชำระเงินตามสัญญากู้ยืมเงินเลขที่ 082/2539 จำนวน 48,030,908.75 บาท ให้จำเลยที่ 5 ไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 90944 และจำเลยที่ 6 ไถ่ถอนจำนองโฉนดเลขที่ 90954 พร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์ติดภาระจำนองตามสัญญากู้ยืมเงินและจำนวนหนี้ดังกล่าว หากจำเลยที่ 5 และที่ 6 ไม่ไถ่ถอนจำนอง ให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระให้แก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งหกร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท ค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีจำเลยแต่ละคน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ แต่ความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ต้องไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกของนางสงัดและนางอำพันที่ตกทอดแก่ตนตามลำดับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่ขอให้บังคับจำนองจำเลยที่ 1 และที่ 2 และขอให้บังคับสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นนี้ฟังได้ว่า บริษัท อ. เป็นลูกหนี้กู้ยืมเงินจากบริษัท ง. มีนางระภี และนางสงัด เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม กับมีนายชาญธวัช จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 72281 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ดังกล่าวโดยยอมรับผิดหนี้ส่วนที่ยังขาด ต่อมามีการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 72281 ออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 82147 ซึ่งในเวลาต่อมานางระภีได้รับโอนที่ดินแปลงนี้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ส่วนโจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ของบริษัท อ. รวมทั้งการค้ำประกันและการจำนองจากเจ้าหนี้เดิม เมื่อนางระภีถึงแก่ความตาย โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้กองมรดกของนางระภีได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของนางระภีเฉพาะส่วนที่เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 82147 โจทก์ฟ้องและบรรยายฟ้องระบุตัวจำเลยที่ 2 ว่า บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางระภี จึงมีความหมายว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องตัวโจทก์เองเป็นจำเลยในฐานะที่โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 82147 ของนางระภีที่มีภาระการจำนองครอบอยู่ และโจทก์เองรับโอนสิทธิเรียกร้องการค้ำประกันและการจำนองมาจากเจ้าหนี้เดิม ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ นายชาญธวัชจึงเป็นผู้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 82147 ส่วนนางระภีเป็นผู้ค้ำประกันและเป็นผู้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 82147 นางระภีจึงตกอยู่ในฐานะผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองที่จะใช้สิทธิไถ่ถอนจำนองไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 736 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในส่วนที่ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันด้วย โจทก์ไม่อุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และโจทก์ไม่ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ที่ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ในส่วนที่เกี่ยวกับการจำนองที่ดิน จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 เช่นกัน
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ว่า การที่ก่อนฟ้องโจทก์มิได้บอกกล่าวบังคับจำนองไปยังบริษัท อ. ลูกหนี้ด้วยนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้วหรือไม่ เห็นว่า สำหรับคำขอให้ศาลพิพากษาสั่งยึดทรัพย์จำนองและให้ขายทอดตลาดหรือการขอบังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 82147 นั้น ปรากฏว่าโจทก์มิได้ฟ้องบริษัท อ. ลูกหนี้ผู้กู้ยืมเงินเป็นจำเลย และแม้โจทก์จะฟ้องนายชาญธวัช เป็นจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ก็ฟ้องในฐานะที่นายชาญธวัชเป็นทายาทโดยธรรมของนางสงัด ผู้ค้ำประกันและผู้จำนองอีกคนหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้ฟ้องนายชาญธวัชเป็นจำเลยในฐานะผู้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 82147 โดยที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 12 หมวด 4 การบังคับจำนอง มีบทบัญญัติในมาตรา 728 ถึง 735 ซึ่งมาตรา 728 ที่แก้ไขใหม่ ที่ใช้บังคับกับการจำนองในคดีนี้ วรรคหนึ่งบัญญัติเงื่อนไขและขั้นตอนก่อนการฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาดไว้ว่า ผู้รับจำนองต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรซึ่งต้องไม่น้อยกว่าหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ได้รับคำบอกกล่าวนั้น และในกรณีเป็นการจำนองเพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นต้องชำระ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 วรรคสอง บัญญัติให้ผู้รับจำนองต้องส่งหนังสือบอกกล่าวดังกล่าวในวรรคหนึ่งให้ผู้จำนองทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ส่งหนังสือแจ้งให้ลูกหนี้ทราบ แต่การไม่ส่งหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้จำนองภายในกำหนดเวลาตามวรรคสองนี้ส่งผลเพียงทำให้ผู้จำนองหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน และค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาสิบห้าวัน ไม่ได้ส่งผลถึงขนาดทำให้ผู้จำนองหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาจำนอง หรือผู้รับจำนองไม่มีสิทธิฟ้องบังคับจำนองต่อลูกหนี้และหรือผู้จำนอง แสดงว่ากฎหมายมุ่งกำหนดเป็นเงื่อนไขที่ผู้รับจำนองต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังลูกหนี้เป็นสำคัญ เช่นเดียวกับที่บัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 เดิม ที่บัญญัติว่า "เมื่อจะบังคับจำนองนั้น ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรซึ่งกำหนดในคำบอกกล่าวนั้น ถ้าและลูกหนี้ละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าวผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาดก็ได้" โดยมาตรา 728 เดิม มิได้บัญญัติถึงการต้องบอกกล่าวผู้จำนองเป็นประกันหนี้อันบุคคลอื่นต้องชำระ นอกจากนี้ หากพิจารณาบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 ควบคู่กับมาตรา 735 ซึ่งบัญญัติว่า "เมื่อผู้รับจำนองคนใดจะบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวแก่ผู้รับโอนล่วงหน้า... จึงจะบังคับจำนองได้" ก็จะเห็นว่าบทกฎหมายทั้งสองมาตราดังกล่าวใช้ถ้อยคำเช่นเดียวกันว่า "บังคับจำนอง" และเมื่อพิจารณาบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229 (2) ที่ได้บัญญัติถึงการรับช่วงสิทธิของผู้รับจำนองว่า หากผู้ได้ไปซึ่งอสังหาริมทรัพย์ใด ได้เอาเงินราคาค่าซื้อใช้ให้แก่ผู้รับจำนองทรัพย์นั้นเสร็จไป กับมาตรา 489 ที่ให้สิทธิผู้ซื้อทรัพย์สินที่ติดจำนองยึดหน่วงราคาค่าซื้อไว้ได้หากว่าตนถูกขู่หรือเชื่อว่าจะถูกขู่ว่าจะฟ้องคดีโดยผู้รับจำนองหรือผู้เรียกร้องเอาทรัพย์สินนั้น ก็จะเห็นว่าบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวจะมีผลเกี่ยวพันถึงลูกหนี้ด้วยในที่สุดนั่นเอง เมื่อคดีนี้ทรัพย์สินซึ่งจำนองถูกโอนไปยังบุคคลภายนอกสัญญาจำนอง คือนางระภีซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันที่รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ยิ่งแสดงให้เห็นว่าผู้รับจำนองยิ่งต้องมีหน้าที่บอกกล่าวลูกหนี้คือบริษัท อ. ก่อนด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 วรรคหนึ่ง เพราะหากลูกหนี้และหรือผู้รับจำนองซึ่งเป็นเจ้าหนี้เงินกู้ยืมดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับหนี้กู้ยืมซึ่งเป็นสัญญาประธาน ผลของการนั้น ๆ ย่อมกระทบภาระการจำนองซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์ที่ยังมีอยู่เหนือทรัพย์สินซึ่งจำนองของผู้รับโอนด้วยไม่มากก็น้อย และแม้ผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองที่ไม่ใช่ลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันหรือทายาทของลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันประสงค์จะใช้สิทธิไถ่ถอนจำนอง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 738 ก็ยังบัญญัติให้ผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองต้องบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่ผู้เป็นลูกหนี้ชั้นต้นด้วย เพราะฉะนั้น ศาลฎีกาจึงเห็นว่า เมื่อผู้รับจำนองประสงค์จะบังคับจำนองเอาแก่ทรัพย์สินซึ่งจำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 735 ผู้รับจำนองต้องบอกกล่าวให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนด้วยตามเงื่อนไขในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์มิได้บอกกล่าวไปยังบริษัท อ. ลูกหนี้ก่อนด้วยว่าให้ชำระหนี้ โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 เพื่อบังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 82147 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง สำหรับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 ในฐานะส่วนตัวและทายาทโดยธรรมของนางอำพัน จำเลยที่ 5 และที่ 6 ซึ่งโจทก์ฟ้องในฐานะผู้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 89681, 89682, 90766, 90767, 90944 และ 90954 ที่แบ่งแยกจากที่ดินแปลงเดิมและยังติดจำนองอยู่นั้น แม้โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวการบังคับจำนองแก่จำเลยดังกล่าวแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 735 แต่เมื่อโจทก์มิได้บอกกล่าวให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 วรรคหนึ่ง ตามที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยมา โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องบังคับจำนองต่อจำเลยดังกล่าวซึ่งเป็นผู้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 89681, 89682, 90766, 90767, 90944 และ 90954 ได้เช่นกัน นอกจากนี้ การไถ่ถอนจำนองโดยผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองเป็นสิทธิที่ผู้รับโอนจะใช้ตามความประสงค์ของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 736 และ 737 ไม่ใช่กรณีที่โจทก์จะขอให้ศาลพิพากษาสั่งบังคับให้ไถ่ถอนได้ เพราะหากผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองไม่ประสงค์จะไถ่ถอนจำนอง ผู้รับจำนองก็ได้แต่จะดำเนินการบังคับจำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 และ 735 เท่านั้น สภาพแห่งหนี้ในกรณีนี้จึงไม่เปิดช่องให้โจทก์ขอบังคับเช่นนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้จำเลยดังกล่าวต้องไถ่ถอนจำนอง มิฉะนั้นให้โจทก์บังคับจำนองด้วยการขายทอดตลาดได้ต่อไปจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาเรื่องการที่โจทก์ไม่ได้บอกกล่าวให้ลูกหนี้ชำระหนี้ด้วยก่อนฟ้องบังคับจำนองจำเลยดังกล่าว และปัญหาที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาบังคับให้จำเลยดังกล่าวต้องไถ่ถอนจำนองตามที่โจทก์มีคำขอเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 และเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ทั้งหมด ศาลฎีกาจึงเห็นควรใช้ดุลพินิจกำหนดความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ใหม่ให้เหมาะสม
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 เสียด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ