โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 28, 30, 61, 69, 74, 75, 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 ริบเครื่องคอมพิวเตอร์ 27 เครื่อง ของกลาง และสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 30 (1) และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษปรับคนละ 100,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับ สำหรับจำเลยที่ 1 ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 2 ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จ่ายเงินค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ริบของกลาง ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสี่สำหรับจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นตามที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งในชั้นนี้ฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายสหรัฐอเมริกา โจทก์ที่ 4 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายไทย โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ไมโครซอฟท์ วินโดวส์ 2000 โปรเฟสชั่นแนล (Microsoft Windows 2000 Professional) โฆษณาครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2543 โปรแกรมคอมพิวเตอร์ไมโครซอฟท์ วินโดวส์ เอ็กซ์พี โปรเฟสชั่นแนล (Microsoft Windows XP Professional) โฆษณาครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2544 โปรแกรมคอมพิวเตอร์ไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ โปรเฟสชั่นแนล เอดิชั่น 2003 (Microsoft Office Professional Edition 2003) โฆษณาครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2546 โปรแกรมคอมพิวเตอร์ไมโครซอฟท์ วิชวล สตูดิโอ 2005 ทีม สูท (Microsoft Visual Studio 2005 Team Suite) โฆษณาครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2548 และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ 97 (Microsoft Office 97) โฆษณาครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2539 โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ออโต้เดสค์ แม็คคานิคอล เดสค์ท็อป 6 และแนวทางสำหรับผู้ใช้ (Autodesk Mechanical Desktop 6 and User's Guide) โฆษณาครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2544 โปรแกรมคอมพิวเตอร์ออโต้แคด 2010 และแนวทางสำหรับผู้ใช้ (AutoCAD 2010 and User's Guide) โฆษณาครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2552 โปรแกรมคอมพิวเตอร์ออโต้แคด แม็คคานิคอล 2004 และแนวทางสำหรับผู้ใช้ (AutoCAD Mechanical 2004 and User's Guide) โฆษณาครั้งแรกเมื่อปี 2547 โจทก์ที่ 3 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์โซลิดเวิร์คส์ พรีเมี่ยม 2009 (SolidWorks Premium 2009) โฆษณาครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2551 โปรแกรมคอมพิวเตอร์โซลิดเวิร์คส์ 2005 (SolidWorks 2005) โฆษณาครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2547 โปรแกรมคอมพิวเตอร์โซลิดเวิร์คส์ 2008 (SolidWorks 2008) โฆษณาครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2550 โปรแกรมคอมพิวเตอร์โซลิดเวิร์คส์ 2009 (SolidWorks 2009) โฆษณาครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2551 โจทก์ที่ 4 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์พจนานุกรมไทยซอฟท์แวร์ เวอร์ชั่น 4.0 (Thaisoftware Dictionary 4.0) โฆษณาครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2545 และโปรแกรมคอมพิวเตอร์พจนานุกรมไทยซอฟท์แวร์ เวอร์ชั่น 7.0 (Thaisoftware Dictionary 7.0) โฆษณาครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2551 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการโรงงานทำขนมและประกอบเครื่องจักร เครื่องยนต์ เครื่องมือกล โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ จำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทชนาสิน แมชชีนเนอรี่ จำกัด ซึ่งประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายเครื่องจักรเพื่อประกอบอาหารคนและสัตว์ แต่ปิดกิจการแล้ว คดีในส่วนของจำเลยที่ 3 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโดยไม่มีคู่ความอุทธรณ์ จึงเป็นอันยุติไป
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการแรกว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีอำนาจฟ้องคดีหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืนตามศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้ลงโทษปรับจำเลยคนละ 100,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก เมื่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษฟังข้อเท็จจริงว่า หนังสือมอบอำนาจที่ทำขึ้นโดยผู้แทนของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการให้เจ้าพนักงานโนตารีปับลิกตามกฎหมายท้องถิ่นรับรองเป็นพยานในเอกสารดังกล่าวและมีใบสำคัญของรัฐบาลประเทศสหรัฐอเมริกามาแสดงว่าเจ้าพนักงานโนตารีปับลิกดังกล่าวเป็นผู้มีอำนาจกระทำการได้ โดยมีการรับรองด้วยว่าบุคคลที่ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีการสาบานตนพร้อมยืนยันว่าเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจให้ลงลายมือชื่อกระทำการแทนโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ดังนั้น นางสาวพรพิมลจึงเป็นผู้แทนในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นนิติบุคคลได้ โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าวจึงเป็นการโต้เถียงคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษว่าหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ยังมิได้ประทับตราสำคัญของบริษัทเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่มีอำนาจฟ้อง จึงเป็นการต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับฎีกาประการนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการต่อไปว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้กระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้าตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อคดีนี้ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาทำนองว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้กระทำผิดตามฟ้องจึงเป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายเดียวกัน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยให้เช่นกัน ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าข้อยกเว้นว่าเป็นการใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัว ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 32 วรรคสอง (2) นั้น เห็นว่า มาตรา 32 วรรคสอง (2) ตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติดังกล่าวในวรรคหนึ่งที่ว่า "การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ หากไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์" ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ทั้งสี่เพื่อประโยชน์ในธุรกิจของจำเลยที่ 1 คือ เพื่อใช้ในการออกแบบ เขียนแบบ และงานด้านเอกสาร เพื่อใช้ประโยชน์ด้านการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 แสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่โดยนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทั้งสี่ อันเป็นการขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามปกติของโจทก์ทั้งสี่ และเป็นการกระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ทั้งสี่ จึงไม่เข้าเงื่อนไขข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 32 อย่างไรก็ตามเมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่า โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 นำไปใช้ในการทำงานเกี่ยวกับเอกสารทั่วไป โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 2 นำไปใช้ในการออกแบบ เขียนแบบผลิตภัณฑ์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 3 นำไปใช้ในการออกแบบซ่อมแซมเครื่องจักร และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 4 นำไปใช้ในการแปลภาษา โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวเป็นเวอร์ชั่นที่ใช้สำหรับองค์กรบริษัท จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันทำซ้ำหรือดัดแปลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ทั้งสี่เพื่อประโยชน์ในการประกอบธุรกิจผลิตอาหารและขนมของจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้มีการนำไปใช้แสวงหากำไรจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวในเชิงพาณิชย์โดยตรง ดังนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมิได้ร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ทั้งสี่เพื่อการค้าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 30 (1) เท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ทั้งสี่เพื่อการค้ามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการสุดท้ายว่า คดีโจทก์ทั้งสี่ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 66 บัญญัติแต่เพียงว่า "ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นความผิดอันยอมความได้" โดยไม่ได้กำหนดอายุความคดีอาญาไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา ภาค 1 หมวด 9 ว่าด้วยอายุความมาใช้บังคับกับความผิดคดีนี้ โดยคดีนี้ตามคำฟ้อง โจทก์ฟ้องข้อหาความผิดว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า ด้วยการทำซ้ำ ดัดแปลงซึ่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27, 28, 30, 69, 74 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 แต่เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง, 74 (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบมาตรา 30 (1) และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ซึ่งมีระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท กรณีจึงมีกำหนดอายุความหนึ่งปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (5) ดังนี้ ที่ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ทั้งสี่และเจ้าพนักงานตำรวจได้เข้าตรวจค้นสถานที่ทำการของจำเลยที่ 1 ตามหมายค้นโดยพบการกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ทั้งสี่ดังวินิจฉัยข้างต้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2553 การที่โจทก์ทั้งสี่ยื่นฟ้องคดีนี้ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 จึงเป็นการมิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมาศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันกระทำความผิด คดีโจทก์ทั้งสี่เป็นอันขาดอายุความตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสี่ แต่ให้ริบเครื่องคอมพิวเตอร์ 27 เครื่อง ของกลาง