โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 2, 27 ทวิ, 100 พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 4, 5, 19, 24, 44, 49, 50 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ริบของกลางเป็นของกรมสรรพสามิต และจ่ายเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง, 24 วรรคหนึ่ง, 49, 50 ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร ปรับ 12,800 บาท ความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดอากรแสตมป์ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 78,750 บาท รวมสองกระทง ปรับ 91,550 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี กรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงปรับ 45,775 บาท ถ้าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลางเป็นของกรมสรรพสามิต จ่ายเงินรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 12,800 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 6,400 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้เถียงกันฟังได้เป็นยุติว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องจำเลยซื้อหรือรับไว้ด้วยประการใดจากผู้ลักลอบนำของเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมายซึ่งผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ผลิตในต่างประเทศ (บุหรี่ซิกาแรต) ซึ่งเป็นของตามพิกัดอัตราอากรประเภท 24.02 ประเภทย่อย 2402.20 ท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ต้องเสียอากรขาเข้าตามราคาร้อยละ 60 จำนวน 200 ซอง น้ำหนัก 3,800 กรัม ราคา 2,000 บาท คิดเป็นค่าอากรขาเข้า 1,200 บาท รวมเป็นราคาของและค่าอากร 3,200 บาท อันเป็นของต้องห้าม ต้องกำกัด ต้องขออนุญาตนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งมีผู้ลักลอบนำของดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรและโดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีที่จะต้องเสียโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรและโดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษี และจำเลยซึ่งมิใช่ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการอุตสาหกรรมยาสูบมีไว้ในครอบครองเพื่อขายซึ่งยาสูบที่ผลิตในต่างประเทศจำนวนและราคาดังกล่าวซึ่งเกินกว่าห้าร้อยกรัมและเป็นยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ เป็นค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิดบุหรี่ดังกล่าวจำนวน 5,250 บาท
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการเดียวว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ และพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง, 24 วรรคหนึ่ง, 49, 50 อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การที่จำเลยซื้อหรือรับยาสูบของกลางที่ผลิตในต่างประเทศโดยมีผู้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรขาเข้าไว้ในความครอบครอง และยาสูบนั้นมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามกฎหมาย กับการที่จำเลยมียาสูบจำนวนเดียวกันนั้นไว้เพื่อขาย แม้การกระทำนั้นจะผิดต่อบทกฎหมายหลายฉบับแต่เป็นการกระทำที่มุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกัน คือการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ต้องเสียภาษีอากรตามกฎหมาย ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ได้มีพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2548 มาตรา 12 ยกเลิกมาตรา 27 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 และให้ใช้ความใหม่แทน กับมีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 15) พ.ศ.2545 มาตรา 6 ยกเลิกมาตรา 30 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความใหม่แทน แต่มาตรา 27 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรที่แก้ไขใหม่ ไม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย ส่วนมาตรา 30 แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่แก้ไขใหม่ บัญญัติว่า "ในการกักขังแทนค่าปรับให้ถืออัตราสองร้อยบาทต่อหนึ่งวัน..." ต่างจากกฎหมายเดิมที่ให้ถืออัตราเจ็ดสิบบาทต่อหนึ่งวัน และเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ (เดิม) ถ้าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์