คดีนี้ เดิมโจทก์จำเลยและผู้ร้องสอดได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของนายต่วน ศรีสุรินทร์ โดยแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างกัน และศาลได้พิพากษาตามยอมแล้ว ภายหลังเกิดปัญหาพิพาทกันขึ้นเกี่ยวกับทรัพย์มรดกเฉพาะส่วนแบ่งของจำเลยที่ 2 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1.3(8) ซึ่งมีข้อความว่า "(8) ห้องแถวไม้สองชั้นจำนวน 6 ห้อง อยู่ตะวันออกปากทางเข้าโรงภาพยนตร์ศรีสุรินทร์ พร้อมกับที่ดินซึ่งติดอยู่ในโฉนดส่วนได้ของนางเยียกเกียง นางเยียกเกียงรับว่าแบ่งโฉนดให้ และห้องแถวไม้สองชั้นจำนวน 10 ห้อง อยู่ทางทิศใต้ปากทางเข้าโรงสีศรีสุรินทร์พาณิชย์ 2จากทางทิศเหนือไปทางทิศใต้" ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องว่า สัญญายอมความฉบับพิพาทนี้พิมพ์ตกคำว่า "ที่ดินกับ" ไปจากต้นร่างเดิมจึงขอให้ศาลมีคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมข้อผิดพลาด โดยเติมคำว่า "ที่ดินกับ" ลงหน้าประโยค "ห้องแถวไม้สองชั้นจำนวน 10 ห้อง..." ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 ศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องโดยเห็นว่ามิใช่เรื่องคำพิพากษามีข้อผิดพลาดเล็กน้อยที่ศาลจะมีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมได้ ซึ่งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาได้พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 จึงยื่นคำร้องว่า เจตนาที่แท้จริงของข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความพิพาทดังกล่าว ข้อความที่ว่า ห้องแถวไม้สองชั้นจำนวน 10 ห้องนี้ หมายความรวมทั้งที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของห้องแถวดังกล่าวนี้ด้วย การที่จำเลยที่ 1 ถือโอกาสเอาการพิมพ์ข้อความตกหล่นมาเป็นเหตุร้องขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ 2 รื้อห้องแถวไปเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงขอให้ศาลบังคับให้เป็นไปตามเจตนาอันแท้จริงแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพร้อมห้องแถวดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ด้วย
จำเลยที่ 1 คัดค้านว่า จะตีความหมายตามเจตนาที่แท้จริงให้รวมถึงที่ดิน ซึ่งไม่มีอยู่ในสัญญามิได้ และไม่เป็นความจริงดังที่อ้าง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วฟังว่า เจตนาของคู่สัญญาตกลงให้ห้องแถวไม้ 10 ห้อง ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ปากทางเข้าโรงสีศรีสุรินทร์พาณิชย์ 2 พร้อมด้วยที่ดินเป็นของนางประยงค์ จำเลยที่ 2 จึงมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพร้อมห้องแถวให้แก่จำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 เคยแถลงต่อศาลไว้แล้วเกี่ยวกับที่ดินและห้องแถวรายพิพาทนี้ว่าตนได้มอบห้องแถวให้จำเลยที่ 2 เก็บค่าเช่าแล้ว แต่ยังโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ไม่ได้เพราะยังติดจำนองอยู่ และจำเลยที่ 1 รับภาระเป็นผู้ไถ่จำนองโดยจำเลยที่ 2 ให้เวลา 1 ปีครึ่งในการไถ่จำนอง แล้วจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งหมายถึงที่ดินที่ปลูกห้องแถว 10 ห้องรายพิพาทนี้เอง จึงเห็นว่าสัญญายอมความส่วนนี้จึงหมายรวมถึงที่ดินที่ปลูกห้องแถว 10 ห้องนี้ด้วย เมื่อสัญญาประนีประนอมยอมความมีความหมายที่แท้จริงดังนี้ ก็ต้องบังคับให้เป็นไปตามนั้น
พิพากษายืน