คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันโดยเรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่าโจทก์ และเรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 กับเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2
โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนว่า เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2538เวลากลางวันจำเลยทั้งสองร่วมกันชิงทรัพย์ของนายบิดฮี จันผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง และให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 7,600 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83จำคุกคนละ 12 ปี คำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 8 ปีให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 7,600 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ในเบื้องต้นว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง นายบิดฮี จัน ผู้เสียหายพบกับจำเลยทั้งสอง ซึ่งหลังจากผู้เสียหายพูดโต้ตอบกับจำเลยที่ 2สักพักหนึ่ง ผู้เสียหายก็ได้วิ่งหลบหนีไปโดยทิ้งรองเท้าแตะไว้จำเลยทั้งสองได้เก็บรองเท้าแตะดังกล่าวไปไว้ที่บ้านพัก ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสองได้พร้อมกับยึดรองเท้าแตะเป็นของกลาง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ในข้อนี้โจทก์มีนายบิดฮี จัน ผู้เสียหายเบิกความว่า วันเกิดเหตุผู้เสียหายไปยืมเงินจากน้องชายได้ 5,800 บาท หลังจากนั้นได้นั่งรถจักรยานยนต์รับจ้างออกจากที่ทำงานของน้องชายไปลงที่ปากซอยประชาอุทิศ 33ขณะที่ผู้เสียหายกำลังลงจากรถจักรยานยนต์ได้พบกับจำเลยทั้งสองจำเลยที่ 2 บอกให้ผู้เสียหายหยุด แล้วเข้าไปจับมือผู้เสียหายไว้ส่วนจำเลยที่ 1 กอดผู้เสียหายทางด้านหลัง จากนั้นจำเลยที่ 2ล้วงเอาหนังสือเดินทางของผู้เสียหายและเงินสด 5,800 บาทจากกระเป๋าเสื้อ กับดึงแว่นตาและถอดนาฬิกาของผู้เสียหายไปทั้งพูดว่าจะเอาตัวผู้เสียหายไปด้วย ผู้เสียหายกลัวจึงร้องขอความช่วยเหลือและดิ้นจนหลุดแล้ววิ่งหลบหนีเข้าไปในซอยโดยถอดรองเท้าแตะทิ้งไว้ เมื่อจำเลยทั้งสองหลบหนีไปแล้วจึงย้อนกลับมาปรากฏว่ารองเท้าแตะหายไป ผู้เสียหายจึงไปแจ้งเรื่องให้น้องชายและนายซามมาดู ซิงห์ ที่พักอยู่ด้วยกันทราบนายซามมาดูพาผู้เสียหายไปแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลราษฎร์บูรณะ ต่อมาวันที่ 19 ตุลาคม 2538 ผู้เสียหายกับนายซามมาดูไปที่บ้านเช่าหลังหนึ่งซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจสงสัยว่าจำเลยทั้งสองอยู่ที่นั่น พบจำเลยที่ 2 แต่ไม่ทันจะพูดจากันจำเลยที่ 2 ถอดรองเท้าแตะของผู้เสียหายที่ทิ้งไว้ข้างต้นวิ่งหลบหนีไป ผู้เสียหายได้ให้น้องชายไปตามเจ้าพนักงานตำรวจมาพอดีจำเลยที่ 1 มาถึงจึงจับตัวได้ จำเลยที่ 2 ถูกจับได้ในวันที่ 12 มกราคม 2539 เห็นว่าคำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าวคงมีแต่ตัวผู้เสียหายที่ยืนยันถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเท่านั้น น้องชายของผู้เสียหายและนายซามมาดูซึ่งเป็นพยานแวดล้อมที่สำคัญโจทก์ก็มิได้นำตัวมาเบิกความสนับสนุนเพื่อให้สมตามคำอ้างของผู้เสียหาย ปรากฏว่าขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน ทั้งสถานที่เกิดเหตุอยู่ในแหล่งชุมนุมชนมีประชาชนเดินผ่านไปมาตลอดและเป็นคิวรถจักรยานยนต์รับจ้าง หากจำเลยทั้งสองลงมือกระทำความผิดดังที่ผู้เสียหายเบิกความก็น่าจะมีคนเห็น และสามารถอ้างบุคคลที่รู้เห็นมาเป็นพยานได้ไม่ยาก ซึ่งตามบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีอาญาเอกสารหมาย จ.7 ในข้อ 9 เกี่ยวกับสภาพทั่วไปและร่องรอยหลักฐานที่พบในสถานที่เกิดเหตุยังระบุไว้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นอาจจะเข้าใจว่าหยอกล้อกันเล่น และที่ผู้เสียหายอ้างว่านายซามมาดูพาผู้เสียหายไปแจ้งความในวันเกิดเหตุนั้นก็หามีหลักฐานใดมาแสดงไป คงมีแต่คำเบิกความของร้อยตำรวจเอกนิกร ชัยวีระวงศ์ ผู้จับจำเลยทั้งสองว่าผู้เสียหายแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นให้ทราบและขอให้พยานไปจับจำเลยทั้งสองในวันที่ 19 ตุลาคม 2538 ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุพิเศษใดถึงปล่อยให้เนิ่นช้าไปถึง 8 วัน เช่นนี้ ทั้งที่ผู้เสียหายยอมรับว่ารู้จักจำเลยที่ 2 เป็นอย่างดีตั้งแต่อยู่ที่ประเทศอินเดียแล้ว น่าจะทราบที่อยู่ของจำเลยที่ 2 ได้และควรรีบดำเนินการเพื่อจับจำเลยทั้งสองทันที นอกจากนี้ทรัพย์สินที่ผู้เสียหายอ้างว่าถูกจำเลยทั้งสองชิงไปนั้นก็หาได้ยึดคืนมาไม่ เว้นแต่รองเท้าแตะของกลางเท่านั้น ตามรูปเรื่องข้อเท็จจริงอาจจะเป็นไปดังที่จำเลยทั้งสองนำสืบต่อสู้ว่าวันเกิดเหตุผู้เสียหายนัดจำเลยที่ 2 ไปรับเงินที่ยืม 5,000 บาทจำเลยที่ 2 ชวนจำเลยที่ 1 ไปด้วย แต่ผู้เสียหายกลับขอผัดผ่อนจำเลยที่ 2 ไม่ตกลงและขอให้ผู้เสียหายไปเจรจากันที่บ้านผู้เสียหายไม่ยอมและวิ่งหลบหนีไปโดยทิ้งรองแตะไว้ จำเลยทั้งสองจึงเก็บรองเท้าแตะเพื่อคืนให้ผู้เสียหายในวันหลังก็ได้ แม้จะได้ความว่าในชั้นจับกุมจำเลยที่ 1 ให้การภาคเสธ และจำเลยที่ 2ให้การรับสารภาพก็ตาม แต่ในวันเดียวกันกับที่ถูกจับจำเลยทั้งสองกลับให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวน ตามบันทึกจับกุมเอกสารหมาย จ.4และ จ.5 กับคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสองเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 จึงทำให้ไม่แน่ใจว่าจำเลยทั้งสองจะให้การด้วยความสมัครใจในชั้นจับกุมตามที่จำเลยทั้งสองต่อสู้หรือไม่เช่นนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่อาจเชื่อได้โดยสนิทใจว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมา กรณีมีเหตุควรสงสัย จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น สำหรับฎีกาของจำเลยข้ออื่นนั้นไม่จำต้องวินิจฉัยอีก เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง"
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง