โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138,140, 289, 258, 33, 80, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(2) ประกอบมาตรา 80, 140 วรรคแรก,91, 33 ฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่และฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้อาวุธเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกตลอดชีวิต ฐานทำให้เสียทรัพย์จำคุก 1 ปี เมื่อศาลได้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว ก็ไม่เรียงกระทงลงโทษความผิดฐานอื่นอีก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3)สำหรับอาวุธมีดปลายแหลมไม่ได้ยึดไว้เป็นของกลาง ดังนั้นคำขอให้ริบจึงให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 140 วรรคแรก 295, 296 เป็นการกระทำกรรมเดียว ให้ลงโทษตามมาตรา 140 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดจำคุก 1 ปี ฐานทำให้เสียทรัพย์ วางโทษจำคุก 3 เดือน รวมสองกระทงจำคุก 1 ปี 3 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่เท่านั้นหาได้มีเจตนาจะฆ่า ผู้เสียหายแต่อย่างใดไม่ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296แล้ว ก็ไม่จำต้องปรับบทลงโทษตามมาตรา 295 อีก ส่วนการปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 140 วรรคแรกนั้น ต้องปรับบทลงโทษตามมาตรา 138 วรรคสองด้วยเพราะความผิดตามมาตรา 140 วรรคแรกมิได้บัญญัติความผิดไว้ชัดแจ้งในตัว การปรับบทลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงไม่ถูกต้อง สมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 296 และมาตรา 140 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 138 วรรคสองนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2