โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102 และริบเงินสด 400 บาท ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง จำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) จำคุก 4 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีสิบตำรวจเอกเสกสันต์เป็นพยานเพียงปากเดียวที่เบิกความว่ารู้เห็นเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุ โดยซุ่มดูเหตุการณ์อยู่ที่ชั้นล่างบริเวณบันไดทางขึ้นตึกแถวเยื้องกับห้องพักของจำเลยซึ่งอยู่ชั้นบนห่างประมาณ 10 ถึง 20 เมตร เห็นว่า โจทก์มิได้อ้างและนำสายลับซึ่งเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความทั้ง ๆ ที่สายลับรู้เห็นเหตุการณ์เช่นเดียวกับสิบตำรวจเอกเสกสันต์ แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้มีประจักษ์พยานในคดีเพียงปากเดียว ย่อมเป็นการนำสืบพยานเดี่ยวเพื่อจะหลีกเลี่ยงการถูกถามค้านในกรณีที่สามารถนำสืบพยานคู่ได้ คำเบิกความของสิบตำรวจเอกเสกสันต์ ซึ่งเป็นพยานเดี่ยวจึงมีน้ำหนักน้อยและต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง ที่สิบตำรวจเอกเสกสันต์เบิกความว่า แอบดูเหตุการณ์ล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนของสายลับอยู่ที่ชั้นล่างบริเวณบันไดทางขึ้นตึกแถวเยื้องกับห้องพักจำเลยนั้น เมื่อพิจารณาภาพถ่ายตึกแถวที่เกิดเหตุ แล้ว ปรากฏว่า ตึกแถวที่เกิดเหตุเป็นอาคาร 2 ชั้น 2 แถว หันหน้าเข้าหากัน แต่ละแถวแบ่งเป็นห้องพักชั้นละ 6 ห้อง มีบันไดขึ้นชั้นบนแห่งเดียวขนาดกว้างพอเดินสวนกันได้ หากสิบตำรวจเอกเสกสันต์ยืนอยู่ที่ชั้นล่างบริเวณบันได มองขึ้นไปยังห้องพักของจำเลยซึ่งอยู่บนด้านซ้ายถัดจากห้องสุดท้ายดังที่เบิกความตอบคำถามติงไว้แล้ว สิบตำรวจเอกเสกสันต์ต้องมองในลักษณะเฉียงจากด้านขวาขึ้นไปด้านซ้าย ระเบียงและราวระเบียงหน้าห้องพักของตึกแถวชั้นบนย่อมบดบังการมองเห็นของสิบตำรวจเอกเสกสันต์ ทั้งข้อที่สิบตำรวจเอกเสกสันต์อ้างว่าขณะแอบซุ่มดูเหตุการณ์ได้ใช้วิทยุสื่อสารแจ้งให้พันตำรวจโทนิวัติปล่อยตัวสายลับเข้าไปล่อซื้อ และเมื่อสายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนแล้ว ได้รับแจ้งทางวิทยุสื่อสารให้เข้าไปควบคุมตัวจำเลยก็ไม่สมเหตุผล เพราะการใช้วิทยุสื่อสารบริเวณบันไดตึกแถวที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นที่โล่งย่อมเป็นการแสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ในวันเกิดเหตุเมื่อสิบตำรวจเอกเสกสันต์ค้นตัวจำเลยก็ไม่พบเมทแอมเฟตามีน คงได้เพียงเมทแอมเฟตามีนของกลางจากสายลับที่นำไปมอบให้พันตำรวจโทนิวัติห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 30 เมตร สายลับอาจนำเมทแอมเฟตามีนจากสถานที่อื่นไปมอบให้พันตำรวจโทนิวัติก็ได้ นอกจากนี้บันทึกการจับกุมยังระบุว่า ทราบชื่อจำเลยในภายหลัง ขัดแย้งกับคำเบิกความของพันตำรวจโทนิวัติที่ว่า ก่อนเกิดเหตุประมาณ 7 วัน ได้รับแจ้งจากสายลับว่าจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และขัดแย้งกับรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีที่ระบุว่า นำธนบัตรไปล่อซื้อยาเสพติดให้โทษที่บ้านนายสมศักดิ์ ไม่ทราบนามสกุล เป็นพิรุธว่าเจ้าพนักงานตำรวจสืบทราบมาก่อนเกิดเหตุว่าจำเลยลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามที่โจทก์นำสืบหรือไม่ แม้โจทก์จะนำสืบว่าสิบตำรวจเอกเสกสันต์ตรวจค้นพบธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อที่ตัวจำเลย จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนก็ตาม แต่จำเลยก็นำสืบอ้างว่าธนบัตรดังกล่าวเป็นของจำเลยและจำเลยให้การรับสารภาพโดยไม่สมัครใจ พยานหลักฐานโจทก์จึงยังเป็นที่สงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องหรือไม่ เห็นควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง