คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์และจำเลยที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อกันและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมโดยจำเลยที่ 2ยอมรับว่าที่ดินพิพาทตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 2782, 2795 และ 4410เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยที่ 2 จะเพิกถอนชื่อของจำเลยที่ 2ออกจาก น.ส.3 ก. ทั้งสามฉบับภายใน 5 วัน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หากพ้นกำหนดให้โจทก์ถือเอาคำพิพากษาตามยอมแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 โดยให้โจทก์ชำระค่าใช้จ่ายในการพัฒนาที่ดินและค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2 เป็นเงินรวม2,400,000 บาท โดยจะชำระเงินให้ครบถ้วนภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2538 หากโจทก์ไม่ชำระเงินให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดดังกล่าวถือว่าโจทก์ผิดนัดและยินยอมให้จำเลยที่ 2 บังคับคดีได้ทันที่ พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามกฎหมาย ต่อมาจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า โจทก์ไม่ชำระเงินแก่จำเลยที่ 2 ตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาประนีประนอมยอมความ ที่ศาลพิพากษาตามยอมนั้น โจทก์จึงเป็นผู้ผิดนัด จำเลยที่ 2 ขอใช้สิทธิเลิกสัญญาตามเดิม โจทก์ไม่มีสิทธินำเงินจำนวนดังกล่าวมาวางศาลหรือวางต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายหลังกำหนดวันนัดในสัญญาประนีประนอมยอมความ เพราะสิทธิการชำระเงินดังกล่าวหมดสิ้นไปก่อนแล้ว การวางเงินของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลยกเลิกคำสั่งการรับเงินที่โจทก์วางไว้จำนวน 2,400,000 บาท ต่อศาล แล้วสั่งคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้โจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล และศาลได้พิพากษาตามยอมให้แล้วหากคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญายอม ก็ถือว่าฝ่ายนั้นตกเป็นผู้ผิดนัดสัญญา อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลงในกรณีที่ฝ่ายแรกผิดนัดเท่านั้น กรณีหาอาจที่จะเลิกใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่นสัญญาทั่วไปได้ไม่ ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า เมื่อโจทก์ผิดนัดตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำไว้ต่อ จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 มีสิทธิเลิกสัญญา และให้ศาลชั้นต้นส่งคืนเงินที่โจทก์จะต้องชำระตามสัญญาที่โจทก์นำมาวางต่อศาลชั้นต้นแล้วแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์และจำเลยที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อกันเป็นกรณีที่ต่างฝ่ายต่างยอมผ่อนผันข้อเรียกร้องแก่กัน ย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นว่าเป็นของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 2 มีสิทธิเลิกสัญญาประนีประนอมยอมความต่อโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวเพราะเหตุโจทก์ผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 388 ขอให้ศาลชั้นต้นยกเลิกคำสั่งที่ให้รับเงินซึ่งโจทก์นำมาวางต่อศาลนั้น เมื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความมิได้ระบุว่า กรณีที่โจทก์ผิดนัดให้จำเลยที่ 2 เลิกสัญญาได้ ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อหน้าศาลชั้นต้น โดยศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมแล้ว คำพิพากษาตามยอมย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 2 ให้ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่งจำเลยที่ 2 จึงไม่อาจเลิกสัญญาประนีประนอมยอมความต่อโจทก์เพราะเป็นกรณีนอกเหนือไปจากที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ อันเป็นสาระสำคัญแห่งคำพิพากษาตามยอม เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมและมิได้มีการอุทธรณ์คำพิพากษา คดีถึงที่สุดซึ่งหลังจากนั้นเป็นเรื่องของการบังคับคดีตามคำพิพากษา จำเลยที่ 2 มีเฉพาะสิทธิขอให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาตามยอมที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความอย่างชัดแจ้งว่า หากโจทก์ผิดนัดยินยอมให้บังคับคดีได้ทันทีโดยการยึดทรัพย์ของโจทก์มาชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็ได้มีคำขอให้ศาลชั้นต้นบังคับคดีแก่โจทก์และศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีไปแล้ว ส่วนกรณีที่โจทก์นำเงินที่จะต้องชำระตามสัญญาประนีประนอมยอมความมาวางศาลนั้น เห็นว่า โจทก์ในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิในการวางเงินเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมให้ตนหลุดพ้นจากหนี้ตามคำพิพากษาได้ แต่การที่โจทก์นำเงินตามจำนวนที่คำพิพากษาตามยอมระบุไว้มาวางต่อศาลภายหลังโจทก์ผิดนัดแล้วเป็นผลเพียงทำให้โจทก์ต้องชำระดอกเบี้ยในต้นเงินที่นำมาวางศาลนับแต่วันผิดนัดจนถึงวันทีนำเงินตามคำพิพากษาตามยอมมาวางศาลในอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วยเท่านั้น
พิพากษายืน