โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่า พินัยกรรมของนางสาวหนูหลั่ง ฉบับลงวันที่ 30 มกราคม 2552 เป็นโมฆะ ให้จำเลยจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมรับโอนที่ดินทรัพย์มรดกทั้งสี่แปลงของนางสาวหนูหลั่ง ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินทรัพย์มรดกทั้งสี่แปลง พร้อมส่งมอบการครอบครองให้แก่โจทก์ กับให้จำเลยชดใช้ค่าขาดประโยชน์ 500,000 บาท และในอัตราปีละ 100,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบการครอบครองที่ดินมรดกให้แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งบังคับให้โจทก์ออกไปจากที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย และห้ามไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวอีกต่อไป
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยฟ้องแย้งว่าโจทก์รบกวนการครอบครองที่ดินของจำเลย ห้ามโจทก์เข้าเกี่ยวข้องและรบกวนการครอบครอง โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่าที่ดินส่วนดังกล่าวไม่ใช่ของจำเลยเนื่องจากไม่ใช่พินัยกรรมที่แท้จริง จึงเป็นทรัพย์มรดกที่ต้องตกแก่ทายาท คดีส่วนฟ้องแย้งจึงกลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์ซึ่งมีราคาประเมินที่ดินไม่เกิน 300,000 บาท ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลชั้นต้น ไม่รับฟ้องแย้งของจำเลย จำหน่ายคดีในส่วนฟ้องแย้งออกจากสารบบความ คืนค่าขึ้นศาลให้ตามระเบียบ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า พินัยกรรมของนางสาวหนูหลั่ง ฉบับลงวันที่ 30 มกราคม 2552 เป็นโมฆะ ให้จำเลยเพิกถอนการจดทะเบียนทำนิติกรรมของจำเลยซึ่งได้กระทำในฐานะผู้รับพินัยกรรมในที่ดินโฉนดเลขที่ 92423, 92424, 92425 และ 91759 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย กับให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าว พร้อมส่งมอบการครอบครองให้แก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในส่วนฟ้องแย้ง 2,000 บาท ให้แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์และนางสาวหนูหลั่ง เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน โดยเป็นบุตรของนายทา และนางแตงอ่อน ซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว นางสาวหนูหลั่งไม่มีสามีและบุตร เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2553 นางสาวหนูหลั่งถึงแก่ความตาย มีทรัพย์มรดกคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 92423, 92424, 92425 และ 91759 วันที่ 30 มกราคม 2552 นางสาวหนูหลั่งทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกที่ดินสี่แปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยเพียงผู้เดียว โดยมีนายสมอรุณ และนายบุญมี เป็นพยานในพินัยกรรม ต่อมาจำเลยจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวเป็นของจำเลยตามพินัยกรรมดังกล่าว
มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ในประเด็นนี้ไว้ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยอีกข้อว่า พินัยกรรมฉบับวันที่ 30 มกราคม 2552 เป็นโมฆะหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาทำนองว่า นายสมอรุณและนายบุญมี พยานโจทก์ซึ่งเป็นพยานในพินัยกรรมเบิกความแตกต่างจากคำสนทนาเกี่ยวกับพินัยกรรมพิพาท ระหว่างพยานโจทก์ทั้งสองกับฝ่ายโจทก์ ซึ่งโจทก์ได้บันทึกการสนทนาไว้ นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยว่า แม้จะมีความแตกต่างตามที่จำเลยอ้างมาในอุทธรณ์ก็เป็นเพียงรายละเอียดเล็กน้อยไม่ถึงกับทำให้คำเบิกความของนายสมอรุณและนายบุญมีเป็นพิรุธถึงกับไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เพราะคดีนี้ประเด็นสำคัญอยู่ที่คำเบิกความพยานทั้งสองปากดังกล่าวเกี่ยวกับนางสาวหนูหลั่งไม่ได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมต่อหน้านายสมอรุณและนายบุญมีมีน้ำหนักให้รับฟังหรือไม่ ซึ่งนายสมอรุณและนายบุญมีเบิกความสอดคล้องกันว่า วันที่ 30 มกราคม 2552 เวลา 19.30 นาฬิกา ขณะพยานทั้งสองกำลังรับประทานอาหารอยู่ที่บ้าน จำเลยมาตามให้ไปเป็นพยานที่นางสาวหนูหลั่งทำพินัยกรรม พยานทั้งสองไปถึงบ้านของนางสาวหนูหลั่งในเวลาใกล้เคียงกัน ขณะนั้นมีนางสาวหนูหลั่ง จำเลย พยานโจทก์ทั้งสอง และทนายความ รวมเป็น 5 คน นายสมอรุณถามนางสาวหนูหลั่งว่ามีผู้ใดบังคับขู่เข็ญหรือไม่ และคิดดีแล้วหรือไม่ นางสาวหนูหลั่งตอบว่า ไม่มีผู้ใดบังคับขู่เข็ญและคิดดีแล้ว จากนั้นทนายความนำพินัยกรรม ที่นางสาวหนูหลั่งลงลายมือชื่อไว้แล้วมาให้พยานทั้งสองลงลายมือชื่อเป็นพยาน โดยนางสาวหนูหลั่งไม่ได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานโจทก์ทั้งสอง จะเห็นได้ว่านายสมอรุณและนายบุญมีเบิกความถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ตั้งแต่ก่อนนายสมอรุณและนายบุญมีจะไปบ้านของนางสาวหนูหลั่ง ข้อความที่นายสมอรุณถามเกี่ยวกับสติสัมปชัญญะและเจตนาของการทำพินัยกรรมของนางสาวหนูหลั่ง บุคคลที่อยู่รู้เห็นขณะนายสมอรุณและนายบุญมีลงลายมือชื่อในพินัยกรรม ทั้งนายสมอรุณและนายบุญมีเป็นผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านตามลำดับที่ปกครองท้องที่ และไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย จึงไม่มีข้อระแวงว่าจะปรุงแต่งเรื่องราวนำความเท็จมาเบิกความ ดังจะเห็นได้จากนายสมอรุณและนายบุญมีตอบทนายจำเลยถามค้านว่า นายสมอรุณถามนางสาวหนูหลั่งว่า เหตุใดจึงทำพินัยกรรมยกมรดกให้แก่จำเลย นางสาวหนูหลั่งตอบว่าจำเลยเป็นคนดูแลและพานางสาวหนูหลั่งไปพบแพทย์ อันเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นปรปักษ์แก่โจทก์ จึงเชื่อว่านายสมอรุณและนายบุญมีเบิกความตามความเป็นจริง ส่วนจำเลยมีเพียงตัวจำเลยเบิกความว่า นางสาวหนูหลั่งลงลายมือชื่อในพินัยกรรมต่อหน้านายสมอรุณและนายบุญมี โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟังมากกว่าของจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่านางสาวหนูหลั่งไม่ได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมต่อหน้านายสมอรุณและนายบุญมีซึ่งเป็นพยานในพินัยกรรมดังกล่าว เมื่อนายสมอรุณและนายบุญมีไม่ได้ลงลายมือชื่อรับรองในขณะนางสาวหนูหลั่งลงลายมือชื่อในพินัยกรรม แต่นายสมอรุณและนายบุญมีมาลงลายมือชื่อในภายหลัง ย่อมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 วรรคแรก และทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1705 อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน เห็นว่า ตามคำฟ้องฎีกาของจำเลย จำเลยบรรยายข้อเท็จจริงและเหตุผลทำนองเดียวกับที่จำเลยบรรยายในคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลย ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยตอบอุทธรณ์ของจำเลยละเอียดแล้ว โดยที่จำเลยไม่ได้ฎีกาโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่าไม่ชอบอย่างใดและจำเลยไม่เห็นพ้องด้วยเพราะเหตุใด ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ทั้งไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของจำเลย ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดในชั้นฎีกาให้แก่จำเลย ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ