ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ทรัพย์สินของโจทก์ถูกไฟไหม้เสียหายเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 โดยโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงครึ่งหนึ่ง 346,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "คดีฟังได้ว่าเหตุที่เกิดไฟไหม้อาคารโรงสีของโจทก์เนื่องมาจากกระแสไฟฟ้าแรงสูงลัดวงจร
เกี่ยวกับปัญหาความรับผิดของจำเลยทั้งสี่ โดยที่กระแสไฟฟ้าเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ ซึ่งผู้มีไว้ในครอบครองจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายที่เกิดขึ้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหาย ดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 จำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการผลิต จัดให้ได้มาจัดส่งและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า และเป็นนิติบุคคล ดังที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 มาตรา 6(1), 9 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งกระแสไฟฟ้า การที่กระแสไฟฟ้าลัดวงจรไหม้ทรัพย์สินของโจทก์เพราะเหตุที่ต้นมะพร้าวอยู่ใกล้ชิดกับแนวสายไฟฟ้าเป็นเหตุให้ทางมะพร้าวพาดไปถูกสายไฟฟ้าเมื่อมีลมพัด เห็นได้ว่ามิใช่เหตุสุดวิสัย เพราะจำเลยอาจป้องกันได้ถ้าตัดต้นมะพร้าวหรือแจ้งให้โจทก์ตัดเสียก่อนอันเป็นหน้าที่ของจำเลยจะต้องปฏิบัติดังที่จำเลยนำสืบ และก็เห็นว่ามิใช่ความผิดของโจทก์โดยตรงเช่นกัน แต่การที่ต้นมะพร้าวขึ้นอยู่ในที่เช่าของโจทก์ โจทก์เบิกความว่าทราบดีว่าไฟฟ้าแรงสูงเป็นอันตรายต้องตัดต้นไม้ออกให้หมดพ้นรัศมีสายไฟแรงสูง แต่โจทก์กลับไม่สนใจตัดต้นมะพร้าวหรือแจ้งให้จำเลยตัดเสีย ถือได้ว่าโจทก์มีส่วนทำความผิดก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไม่ยิ่งหย่อนกว่าจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ควรรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นครึ่งหนึ่งดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 นั้น ข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าได้กระทำการโดยประมาทเลินเล่อตามฟ้อง จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามศาลชั้นต้น