โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 352
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 (ที่ถูก มาตรา 352 วรรคหนึ่ง) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 3 เดือน รวม 5 กระทง จำคุก 15 เดือน ยกฟ้องโจทก์ตามฟ้องข้อ 2.1, 2.2, 2.3, 2.4, 2.5, 2.8, 2.10, 2.11 และข้อ 2.12
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อ 2.6, 2.7, 2.9, 2.13 และ 2.14 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามฟ้อง ข้อ 2.1 ถึงข้อ 2.5, ข้อ 2.8 และข้อ 2.10 ถึงข้อ 2.12
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจขายเครื่องใช้ไฟฟ้า มีนายบัณฑิต เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งพนักงานบัญชีและการเงิน มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลเอกสาร การรับจ่ายเงินของโจทก์ รวมทั้งเป็นตัวแทนในการเบิกถอนเงินสดจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ด้วย ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยนำเช็คของโจทก์ตามฟ้องข้อ ข้อ 2.1 ถึงข้อ 2.14 รวม 14 ฉบับ ซึ่งมีนายบัณฑิตเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายไปเบิกเงินแล้วนำเงินเข้าบัญชีของจำเลย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า คดีที่โจทก์เคยฟ้องจำเลย 2 คดีดังกล่าวมีการเจรจากัน โดยให้โจทก์ตรวจสอบว่าจำเลยยักยอกเงินของโจทก์ไปจำนวนเท่าใด หากเป็นความจริงจำเลยจะคืนเงินให้ แล้วโจทก์จะถอนฟ้อง ซึ่งจำเลยยักยอกเงินของโจทก์โดยนำเช็คที่โจทก์ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายไว้ไปกรอกจำนวนเงินแล้วเบิกเงินนำเงินเข้าบัญชีของจำเลย หรือนำเช็คเข้าบัญชีของจำเลย การตรวจสอบว่ามีเช็คฉบับใดบ้างจะต้องตรวจสอบจากต้นขั้วเช็ค รายการบัญชีของโจทก์ และรายการบัญชีของจำเลย นายบัณฑิตตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า โจทก์สงสัยว่าจำเลยจะนำเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายไว้ไปเบิกเงินหรือนำเช็คไปเข้าบัญชีของจำเลย วันที่ 26 มกราคม 2559 โจทก์ขอรายการบัญชีของโจทก์ย้อนหลังไปตั้งแต่กลางปี 2556 ถึงเดือนมกราคม 2559 เพื่อตรวจสอบว่าจำเลยนำเช็คของโจทก์ไปเบิกเงินหรือนำเช็คเข้าบัญชีของจำเลยจริงหรือไม่ และได้รับใบแจ้งรายการบัญชีมาเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2559 เมื่อโจทก์ได้รับรายการบัญชีของโจทก์และรายการบัญชีของจำเลยมาแล้ว โจทก์สามารถตรวจสอบจากต้นขั้วเช็คของโจทก์ได้ว่าเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายเลขที่เท่าใดที่จำเลยนำไปเข้าบัญชีของจำเลย หรือนำไปเบิกเงินแล้วนำเงินเข้าบัญชีของจำเลย ซึ่งต้นขั้วเช็คอยู่ที่สำนักงานโจทก์ และการขอสำเนาเช็คของโจทก์จากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาถนนพระรามที่ 2 (เคหะธนบุรี) โจทก์ได้ระบุหมายเลขเช็คทุกฉบับ น่าเชื่อว่าโจทก์ทราบหมายเลขเช็คจากต้นขั้วเช็คที่อยู่ที่สำนักงานของโจทก์ ที่โจทก์อ้างว่าหาต้นขั้วเช็คไม่พบ แต่เพิ่งหาพบในภายหลัง หลังจากฟ้องคดีนี้แล้ว เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ขาดความน่าเชื่อถือ ซึ่งเช็คที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ หมายเลขเช็คกับรายการบัญชีของโจทก์และรายการบัญชีของจำเลยตรงกัน เชื่อว่าโจทก์ทราบจำนวนเงินที่จำเลยยักยอกไปไม่เกินวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 การที่โจทก์ไปขอสำเนาเช็คจากธนาคารเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 และธนาคารส่งสำเนาเช็คตามฟ้องข้อ 2.4, 2.5, 2.7 ถึงข้อ 2.13 มาให้เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2560 เป็นเรื่องการหาพยานหลักฐานมาสนับสนุนเท่านั้น ไม่ได้ทำให้สิทธิในการร้องทุกข์ของโจทก์ขยายออกไปจนถึงวันที่ธนาคารส่งสำเนาเช็คมาให้โจทก์ในวันที่ 2 มีนาคม 2560 แต่อย่างใด เมื่อโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดไม่เกินวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 แล้ว แต่โจทก์ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 เป็นการล่วงเลยระยะเวลา 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ส่วนเช็คตามฟ้องข้อ 2.1, 2.2, 2.3 และข้อ 2.14 โจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนร่วมกับเช็คตามฟ้องข้อ 2.6 ให้ดำเนินคดีกับจำเลยในข้อหาปลอมเอกสาร (ตั๋วเงิน) โดยไม่ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีข้อหายักยอก ซึ่งความผิดข้อหาปลอมเอกสารและความผิดข้อหายักยอกมีองค์ประกอบความผิดที่แตกต่างกัน อีกทั้งความผิดข้อหายักยอกเป็นความผิดอันยอมความได้ หากผู้เสียหายไม่มีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตามระเบียบแล้ว พนักงานสอบสวนไม่อาจรับคดีไว้ดำเนินการได้ การที่โจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีข้อหาปลอมเอกสาร (ตั๋วเงิน) แสดงว่าโจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีข้อหายักยอก เมื่อโจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2561 จึงเกินกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 เช่นกัน คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่น เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนไป
พิพากษายืน