โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 291, 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2) (4) , 157, 160 ตรี เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย และบวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1749/2559 ของศาลจังหวัดนครราชสีมา เข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2) (4), 157, 160 ตรี วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก มาตรา 43 (2), 160 ตรี วรรคสี่ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี บวกโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1749/2559 ของศาลจังหวัดนครราชสีมา เข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้ เป็นจำคุก 2 ปี 6 เดือน ให้เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน บวกโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1749/2559 ของศาลจังหวัดนครราชสีมา เข้ากับโทษในคดีนี้ เป็นจำคุก 1 ปี 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า พฤติการณ์ที่จำเลยขับรถยนต์โดยประมาทในขณะเมาสุราด้วยความเร็วสูงเกินสมควรแล่นล้ำช่องเดินรถฝั่งตรงข้ามจนเกิดเหตุเฉี่ยวชนกับรถยนต์ที่นายนิกร ผู้ตายขับสวนทางมา ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายและบุคคลในรถที่โดยสารรถของผู้ตายมาได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจและได้รับอันตรายสาหัส นับเป็นเรื่องร้ายแรง ทั้งข้อเท็จจริงยังปรากฏจากรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยว่า จำเลยเคยกระทำความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราและฐานเสพเมทแอมเฟตามีนขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถมาแล้ว ซึ่งศาลในคดีก่อนทั้งสองคดีให้โอกาสจำเลยโดยรอการลงโทษจำคุกไว้ แต่จำเลยไม่เข็ดหลาบกลับมากระทำความผิดในลักษณะเดียวกันอีก แม้จำเลยและบริษัทประกันภัยได้นำเงินค่าสินไหมทดแทนบางส่วนมาวางศาลเพื่อชำระให้แก่ผู้เสียหายแล้วเป็นเงินรวม 1,086,061 บาท และทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับมารดา ภริยาและบุตรของผู้ตายในคดีแพ่งยินยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอีก 300,000 บาท หรือบริษัทประกันภัยได้นำเงินค่าสินไหมทดแทนมาวางศาลเพื่อชดใช้ให้แก่มารดา ภริยาและบุตรของผู้ตายในคดีแพ่งอีกจำนวน 400,000 บาท ก็ล้วนเป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายในทางแพ่งอยู่แล้ว ส่วนการที่ก่อนเกิดเหตุจำเลยเป็นผู้ประพฤติดี ช่วยเหลือสังคมตามกำลังความสามารถตลอดมา ปรากฏตามหนังสือรับรองความประพฤติของผู้ปกครองท้องที่ของจำเลย ก็ยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า ศาลล่างทั้งสอง นำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้ชอบหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 บัญญัติหลักเกณฑ์เรื่องการบวกโทษว่า ศาลที่พิพากษาคดีหลังจะนำโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนบวกเข้ากับโทษคดีหลังได้ ก็ต่อเมื่อผู้กระทำความผิดคดีหลังถูกศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกในความผิดที่มิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ซึ่งเมื่อแปลความในทางกลับกันก็คือศาลที่พิพากษาคดีหลังจะนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษจำคุกคดีหลังได้ ก็ต่อเมื่อผู้กระทำความผิดคดีหลังกระทำความผิดที่มิใช่ความผิดลหุโทษและความผิดนั้นเป็นการกระทำโดยเจตนา มิใช่เป็นความผิดที่เกิดจากการกระทำโดยประมาทนั่นเอง สำหรับคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถโดยประมาทขณะเมาสุราเป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยขับมาพุ่งชนกับรถยนต์ที่ผู้ตายขับทำให้รถยนต์ทั้งสองคันได้รับความเสียหาย จำเลย เด็กหญิงอภิญญา นางสาวยุพิน เด็กชายปุญญพัฒน์ นางอำพร และนางสาวณิชาภัทร บาดเจ็บได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ส่วนนางสาวมณี ได้รับอันตรายสาหัส และผู้ตายได้รับบาดเจ็บ และถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 291, 300, 390 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2) (4), 157, 160 ตรี จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลล่างทั้งสองปรับบทพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์ขอให้ลงโทษ เท่ากับจำเลยมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายสาหัสและได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300, 390 ด้วย เพียงแต่การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ศาลจึงต้องลงโทษจำเลยฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2), 160 ตรี วรรคสี่ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่การที่ศาลจะปรับบทตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2), 160 ตรี วรรคสี่ เป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดเช่นคดีนี้ได้ก็ต่อเมื่อเป็นการกระทำความผิดโดยประมาทเท่านั้น เพราะหากเป็นการกระทำโดยเจตนาแล้ว เท่ากับผู้กระทำความผิดมีเจตนาฆ่า ซึ่งศาลต้องปรับบทลงโทษฐานเจตนาฆ่าผู้อื่น ไม่อาจที่จะนำบทกฎหมายฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2), 160 ตรี วรรคสี่ มาปรับใช้เป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดเช่นคดีนี้ ดังนั้น แม้คดีนี้ศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลย แต่เมื่อกฎหมายที่ศาลปรับบทพิพากษาลงโทษแก่จำเลยล้วนเป็นบทความผิดที่เกิดจากการกระทำโดยประมาททั้งสิ้น กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 ศาลจึงไม่อาจนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษจำคุกคดีนี้ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองนำโทษจำคุก 6 เดือน ของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1749/2559 ของศาลจังหวัดนครราชสีมา มาบวกเข้ากับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ จึงเป็นการไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่บวกโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1749/2559 ของศาลจังหวัดนครราชสีมา เข้ากับโทษของจำเลยคดีนี้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3