คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 เรียกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 10 ถึงที่ 12 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องทั้งสองสำนวนความว่า ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 83, 91, 334, 335 กับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันคืนเงิน 18,390,285 บาท ให้จำเลยที่ 4 ร่วมกันคืนเงิน 7,539,381 บาท ให้จำเลยที่ 5 ร่วมกันคืนเงิน 2,655,514 บาท ให้จำเลยที่ 6 ร่วมกันคืนเงิน 2,524,134 บาท ให้จำเลยที่ 7 ร่วมกันคืนเงิน 288,861 บาท ให้จำเลยที่ 8 ร่วมกันคืนเงิน 192,185 บาท ให้จำเลยที่ 9 ร่วมกันคืนเงิน 1,370,285 บาท ให้จำเลยที่ 10 ร่วมกันคืนเงิน 999,467 บาท ให้จำเลยที่ 11 ร่วมกันคืนเงิน 1,316,000 บาท และให้จำเลยที่ 12 ร่วมกันคืนเงิน 249,252 บาท กับบวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 9134/2559 ของศาลแขวงสมุทรปราการ เข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้
จำเลยทั้งสิบสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ระหว่างพิจารณา บริษัท อ. ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต และโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้จำเลยทั้งสิบสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามฟ้องโจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 18,396,829 บาท นับแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยทั้งสิบสองให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) (11) วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสาม (ที่ถูก จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3) เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 34 กระทง เป็นจำคุกคนละ 102 ปี แต่ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) บวกโทษจำคุก 1 เดือน ของจำเลยที่ 1 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 9154/2559 (ที่ถูก หมายเลขคดีแดงที่ 9134/2559) ของศาลแขวงสมุทรปราการ เข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี 1 เดือน และให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันใช้เงิน 18,390,285 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 5 ตุลาคม 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม ยกฟ้องจำเลยที่ 4 ถึงที่ 12 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 เป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) และคำขอให้คืนเงินในส่วนของจำเลยที่ 2 ย่อมตกไปด้วย จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ร่วม และจำเลยที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งคัดค้านในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์ร่วมเป็นนิติบุคคลที่จำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อ อ. สาขาศรีนครินทร์ซึ่งเป็นที่เกิดเหตุในคดีนี้เป็นสาขาหนึ่งของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานของโจทก์ร่วมสาขาที่เกิดเหตุ ตำแหน่งธุรการดูแลสต็อกรถ มีหน้าที่ในการดูแลยอดจำนวนรถ เมื่อมีลูกค้าจองรถจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ขอหมายเลขเครื่องยนต์รถจากเจ้าหน้าที่สต็อกกลางซึ่งอยู่ที่สำนักงานใหญ่ และประสานให้นำรถจากสต็อกกลางมาที่สต็อกสาขาที่เกิดเหตุ และมีหน้าที่ติดตั้งอุปกรณ์และประดับตกแต่งรถให้แก่ลูกค้า จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการฝ่ายขายของโจทก์ร่วมสาขาที่เกิดเหตุ เมื่อลูกค้ามาจองรถพนักงานขายจะทำใบจองเพื่อให้จำเลยที่ 2 อนุมัติราคา ส่วนลด และแคมเปญต่าง ๆ ด้วยการลงลายมือชื่ออนุมัติในใบจอง จำเลยที่ 3 เป็นหัวหน้าฝ่ายการเงินของโจทก์ร่วมสาขาที่เกิดเหตุ มีหน้าที่รับเงินซึ่งลูกค้าชำระเงินจองหรือเงินค่ารถจากพนักงานขายเพื่อออกใบเสร็จการจองหรือค่าซื้อรถให้แก่ลูกค้า ตามวันเวลาเกิดเหตุในฟ้อง มีพนักงานของโจทก์ร่วมได้ร่วมกันขายรถให้แก่ลูกค้ารวม 34 คัน โดยไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการทำงานที่โจทก์ร่วมกำหนด และลักเงินสดที่ลูกค้าชำระให้แก่โจทก์ร่วม รวมเป็นเงิน 18,390,285 บาท ในส่วนของจำเลยที่ 1 โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยที่ 1 ไม่ฎีกา คดีสำหรับจำเลยที่ 1 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกระทำผิดตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ โดยจำเลยที่ 3 ฎีกาว่า พยานโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ได้เบิกความยืนยันถึงการรับเงินจากลูกค้าว่าจำเลยที่ 3 เกี่ยวข้องประการใดบ้าง พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมมีแต่พยานแวดล้อม แม้จำเลยที่ 3 นั่งทำงานในห้องเดียวกับจำเลยที่ 1 ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะต้องคอยสังเกตถึงพฤติการณ์ที่ผิดปกติของจำเลยที่ 1 อันเป็นการวินิจฉัยขัดต่อสภาพการทำงานจริง มีเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 3 เพียงเล็กน้อย หากจำเลยที่ 3 ทุจริตจริงต้องมีเงินเข้ามากกว่านี้ และที่นางสาวกานฐ์วรี ผู้จัดการฝ่ายการเงินกลาง เบิกความเกี่ยวกับกุญแจรถคันใหม่ทุกคันอยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายการเงินและมีหน้าที่มอบกุญแจให้แก่ฝ่ายธุรการสต็อกเพื่อดูแลและเคลื่อนย้ายรถไม่ถูกต้อง เนื่องจากหากจำเลยที่ 1 ไม่รายงานและไม่แจ้งจำเลยที่ 3 ก็จะไม่ทราบเรื่อง พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า แม้คดีในส่วนของจำเลยที่ 3 พยานโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ได้เบิกความยืนยันถึงการกระทำความผิดที่ชัดเจนอันถือได้ว่าเป็นพยานแวดล้อมอย่างที่จำเลยที่ 3 ฎีกาก็ตาม แต่ก็หาใช่ว่าพยานแวดล้อมดังกล่าวจะไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเสียทั้งหมด หากแต่พยานแวดล้อมดังกล่าวอาจนำมารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์และโจทก์ร่วมจนมีน้ำหนักมั่นคงและรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดตามฟ้องได้ โดยเฉพาะคดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า เมื่อมีลูกค้ามาดูรถที่สาขาที่เกิดเหตุและสนใจที่จะซื้อรถ จำเลยที่ 4 ถึงที่ 12 ซึ่งเป็นพนักงานขายจะเสนอราคาพร้อมส่วนลดและแคมเปญ หากตกลงกันได้ก็จะทำใบจองนำเสนอจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายขายเพื่ออนุมัติ เมื่อจำเลยที่ 2 อนุมัติแล้ว พนักงานขายจะรับเงินจองหรือค่าซื้อรถจากลูกค้านำไปให้แก่ฝ่ายการเงินซึ่งมีจำเลยที่ 3 เป็นหัวหน้าฝ่ายการเงินหรือนางสาวจิราวรรณ ที่เป็นลูกน้องเพียงคนเดียว หลังจากนั้นจำเลยที่ 3 จะออกใบเสร็จรับเงินให้พนักงานขายเอาไปให้แก่ลูกค้า แล้วพนักงานขายจะแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบเพื่อตรวจสต็อกว่ามีรถตามที่ลูกค้าต้องการหรือไม่ หลังจากนั้นเมื่อลูกค้าพร้อมชำระเงินตามที่ตกลงกัน ในวันรับรถลูกค้าจะต้องเตรียมบัตรประชาชนมาติดต่อกับสาขาที่เกิดเหตุพร้อมกับชำระเงินส่วนที่ต้องชำระเพิ่มให้แก่ฝ่ายการเงิน ฝ่ายการเงินก็จะลงข้อมูลในระบบซึ่งมีการเชื่อมโยงข้อมูลไปยังสำนักงานใหญ่ของโจทก์ร่วม ทั้งก่อนทำการส่งมอบรถให้แก่ลูกค้า จำเลยที่ 2 หรือที่ 3 จะต้องลงลายมือชื่อในใบส่งมอบรถเพื่อให้ลูกค้านำไปแสดงต่อพนักงานรักษาความปลอดภัย เมื่อพนักงานรักษาความปลอดภัยตรวจสอบแล้วเห็นว่าถูกต้องก็จะทำการปล่อยรถให้แก่ลูกค้าไปพร้อมนำใบส่งมอบรถคืนให้แก่ฝ่ายการเงิน ดังนี้ เมื่อคดีได้ความว่าจำเลยที่ 3 เป็นหัวหน้าฝ่ายการเงิน มีลูกน้องเพียง 1 คน คือ นางสาวจิราวรรณ นอกจากจำเลยที่ 3 จะต้องรู้เรื่องการปฏิบัติตามหน้าที่ดังกล่าวของตนเป็นอย่างดีแล้วจำเลยที่ 3 จำเป็นต้องเคร่งครัดในปฏิบัติตามหน้าที่ดังกล่าวโดยปราศจากข้อบกพร่อง ทั้งมีหน้าที่ต้องดูแลตรวจสอบด้านการเงินมิให้ขาดตกบกพร่องตามความไว้ใจที่โจทก์ร่วมได้มอบหมายให้ทำหน้าที่อันเป็นเรื่องสำคัญ การที่จำเลยที่ 3 พยายามให้การปฏิเสธโดยบ่ายเบี่ยงทำนองว่า แม้มีการปฏิบัติผิดขั้นตอนการทำงานอันเกี่ยวกับด้านการเงินตามที่ได้ความตนก็ไม่ได้มีส่วนร่วมรู้เห็นทำนองไม่รับผิดชอบต่อสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นทั้ง ๆ ที่อยู่ในหน้าที่ความรับผิดชอบของตน นับว่าเป็นข้ออ้างที่แสดงให้เห็นถึงการขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่อันเป็นพิรุธอย่างยิ่ง ประกอบกับคดีได้ความว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดโดยก้าวล่วงมาทำงานด้านการเงินไม่ว่าจะรับเงินจากพนักงานขายคนใดอันเป็นหน้าที่โดยตรงของจำเลยที่ 3 เช่นนี้ จำเลยที่ 3 ย่อมไม่อาจปัดความรับผิดชอบโดยกล่าวอ้างว่าเป็นการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ตามลำพังได้ เมื่อเป็นดังนี้ แม้พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบมาในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 จะเป็นเพียงพยานแวดล้อมกรณีก็ตาม แต่เมื่อนำมารับฟังประกอบหน้าที่ความรับผิดชอบที่จำเลยที่ 3 ต้องทำตามอำนาจหน้าที่และความไว้วางใจของโจทก์ร่วมที่ให้จำเลยที่ 3 เป็นหัวหน้าการเงินซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญและง่ายต่อการทุจริตแล้ว พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบมาจึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับฟังว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดและพิพากษาลงโทษมานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมในประการแรกว่า พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมรับฟังได้หรือไม่ว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 12 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ด้วย เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น" และวรรคสองบัญญัติว่า "เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย" ดังนั้น พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำมาสืบเพื่อให้ฟังลงโทษจำเลยที่ 4 ถึงที่ 12 จะต้องมีน้ำหนักมั่นคงและรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 4 ถึงที่ 12 ร่วมกระทำความผิด ซึ่งในส่วนนี้แม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะมีนางสาวกานฐ์รวี ผู้จัดการฝ่ายการเงินกลาง นางนิตยา เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์ร่วม นายสุชาติ ผู้จัดการฝ่ายขายของโจทก์ร่วม สาขาศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นที่เกิดเหตุ และลูกค้าผู้ซื้อรถที่เกี่ยวกับการซื้อรถจากจำเลยที่ 4 ถึงที่ 12 ที่เป็นพนักงานขาย มาเบิกความเป็นพยานยืนยันถึงการติดต่อขอซื้อรถจากจำเลยที่ 4 ถึงที่ 12 ทั้งได้จ่ายเงินค่ารถไม่ว่าจะเป็นค่ามัดจำหรือเงินค่าผ่อนรถให้แก่จำเลยที่ 4 ถึงที่ 12 ก็ตาม แต่คดีกลับไม่ได้ความชัดเจนว่าหลังจากจำเลยที่ 4 ถึงที่ 12 รับเงินแล้วไม่ได้นำส่งให้ครบถ้วนหรือไม่และมีส่วนในการลักเงินดังกล่าวประการใด ซึ่งในประเด็นนี้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 12 ต่างยืนยันให้การปฏิเสธมาตลอดโดยอ้างว่าได้จัดส่งให้จนครบถ้วนแล้ว ดังนั้น พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบมาเพียงเท่านี้ถือว่าเป็นพยานแวดล้อมกรณีที่มิได้ใกล้ชิดกับพฤติการณ์ที่กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 4 ถึงที่ 12 สมคบกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำความผิดตามฟ้อง เมื่อจำเลยที่ 4 ถึงที่ 12 ได้ให้การปฏิเสธมาตลอด ย่อมทำให้พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 12 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยที่ 4 ถึงที่ 12 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 12 จึงชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมต่อไปว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ทั้งคดีส่วนแพ่งเป็นการชอบหรือไม่ โดยโจทก์ร่วมฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องพิพากษาให้ทายาทจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 รับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์ร่วมนั้น เห็นว่า ในส่วนคดีอาญา เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายระหว่างพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 1 สิทธิในการนำคดีอาญาของจำเลยที่ 2 มาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งจึงให้จำหน่ายคดีในส่วนอาญาของจำเลยที่ 2 ออกเสียจากสารบบความชอบแล้ว แต่สำหรับคดีส่วนแพ่งนั้น การดำเนินกระบวนพิจารณาศาลจำต้องใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 47 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า "คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่" ดังนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 เสียก่อน กล่าวคือ หากครบกำหนดหนึ่งปีนับแต่จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายแล้ว ไม่มีบุคคลใดร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนหรือเข้ามาตามหมายเรียกของศาล จึงให้จำหน่ายคดีส่วนแพ่งออกเสียจากสารบบความ กรณีดังกล่าวนี้ศาลไม่อาจพิพากษาให้ทายาทของจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ชำระเงินให้แก่โจทก์ร่วมตามที่โจทก์ร่วมฎีกาโดยยังไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าวได้ ฉะนั้นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ด่วนมีคำสั่งจำหน่ายคดีส่วนแพ่งในส่วนของจำเลยที่ 2 ออกเสียจากสารบบความย่อมเป็นการไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ร่วมส่วนนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ในคดีส่วนแพ่ง และให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดำเนินกระบวนพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 แล้วพิพากษาคดีส่วนแพ่งใหม่ตามรูปคดี ในส่วนของจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ