บรรดาคำฟ้อง คำให้การ รวมทั้งรายการต่างๆ ที่ปรากฏในคำพิพากษา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษานี้
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ขอให้ลงโทษปรับน้อยลงอีกนั้น เห็นว่า ตามฟ้องข้อ 1 (ก) โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ โดยจำหน่ายแผ่นดีวีดีเพลงคาราโอเกะจำนวน 126 แผ่น แผ่นดีวีดีภาพยนตร์จำนวน 140 แผ่น แผ่นซีดีเพลงเอ็มพีสามจำนวน 3 แผ่น และแผ่นวีซีดีเพลงเอ็มพีสามจำนวน 177 แผ่น รวมแผ่นภาพยนตร์และวีดิทัศน์จำนวน 446 แผ่น ซึ่งเป็นวัสดุที่มีการบันทึกภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เป็นภาพเคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง อันเป็นภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตามกฎหมาย โดยทำเป็นธุรกิจอยู่ที่แผงลอยขายสินค้าตั้งอยู่บริเวณตลาดเทศบาลท่าบุญมี อำเภอเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี โดยได้รับค่าตอบแทนจากการให้ลูกค้าเช่า แลกเปลี่ยนและจำหน่ายภาพยนตร์ วีดิทัศน์คาราโอเกะ โดยจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนและตามคำขอท้ายฟ้อง โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 38, 54, 79 และ 82 จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต การกระทำของจำเลยในการประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์ โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 79 ประกอบมาตรา 38 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาทและในการประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 82 ประกอบมาตรา 54 วรรคหนึ่ง มีระวางปรับโทษตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกันจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 บัญญัติว่า "เมื่อการกระทำใดอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด" การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 79 ประกอบมาตรา 38 วรรคหนึ่ง จึงเป็นการใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และโทษปรับ 200,000 บาท ถือเป็นระวางโทษปรับขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่อาจลดโทษให้ต่ำกว่านี้ได้อีก อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามีพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2558 (ฉบับที่ 2) ใช้บังคับ โดยมาตรา 12 พระราชบัญญัติดังกล่าวได้แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 จากเดิมที่บัญญัติให้บรรดาสิ่งที่ได้ทำขึ้นอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้กระทำความผิดตามมาตรา 69 หรือมาตรา 70 ให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ เป็นว่า บรรดาสิ่งที่ได้ทำขึ้นอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ให้ริบเสียทั้งสิ้น กรณีจึงเป็นเรื่องที่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 บัญญัติให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด เมื่อบทบัญญัติมาตรา 75 เดิม บัญญัติให้สิ่งที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า จึงต้องใช้มาตรา 75 เดิมบังคับแก่คดีนี้ หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับภายใน 30 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้ยึดทรัพย์หรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของจำเลยใช้ค่าปรับโดยไม่กักขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
พิพากษายืน หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 โดยให้ยึดทรัพย์หรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของจำเลยใช้ค่าปรับเท่านั้น