โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ขายรถยนต์ให้โจทก์ทั้งสองในราคา224,000 บาท จำเลยได้รับเงินไปแล้ว ในวันที่ 13 มิถุนายน 2539โจทก์ที่ 2 นำรถดังกล่าวไปขายให้นายศิวา สระตันติ์ ในราคา240,000 บาท และนายศิวานำไปขายต่อให้นายสว่าง วงศ์เทียนชัยในราคา 265,000 บาท แต่ไม่สามารถจดทะเบียนโอนลงชื่อนายสว่างเป็นเจ้าของรถได้เนื่องจากผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่า รถยนต์ที่ซื้อเป็นรถยนต์ที่ถูกยักยอกมาและได้ติดตามเอารถยนต์คืนไปแล้ว นายศิวาจึงได้ติดต่อกับโจทก์ทั้งสองเพื่อขอเงินคืน ในการนี้นายศิวาและห้างหุ้นส่วนจำกัดเอส.เอส.พี.ซัพพลายแอนด์คอนสตรัคชั่น ในฐานะผู้เสียหายได้ฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 8579/2532ของศาลชั้นต้น และโจทก์ที่ 2 ได้ชำระเงินจำนวน 240,000 บาทให้แก่ผู้เสียหายไปแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย ขอให้บังคับจำเลยคืนเงิน 251,250 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 240,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่า 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ยอมคืนรถยนต์พิพาทแก่บุคคลภายนอก คดีโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 224,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้องโจทก์
โจทก์ ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2529 จำเลยนำรถยนต์ซีตรอง รุ่น ปี 1980 หมายเลขทะเบียน9 ค-7825 กรุงเทพมหานคร มาขายให้โจทก์ในราคา 224,000 บาทได้มอบรถยนต์คันดังกล่าวและสมุดจดทะเบียนพร้อมหลักฐานการโอนให้แก่โจทก์ไว้และจำเลยได้รับเงินค่ารถยนต์จากโจทก์ไปเรียบร้อยแล้วจากนั้นโจทก์ขายรถยนต์ดังกล่าวต่อให้นายศิวา สระตันติ์หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส.เอส.พี.ซัพพลายส์แอนด์คอนสตรัคชั่น และนายศิวานำไปขายต่อให้นายสว่าง วงศ์เทียนชัย โดยมอบรถยนต์กับสมุดจดทะเบียนพร้อมหลักฐานการโอนไปให้และรับเงินค่ารถมาเรียบร้อยแล้วแต่ปรากฏว่านายสว่างไม่สามารถนำรถยนต์ไปจดทะเบียนใส่ชื่อตนเจ้าของได้เนื่องจากนายสมบูรณ์ พรหมเมศร์ เจ้าของรถคนเดิมแจ้งความดำเนินคดีแก่นายชัยยงค์ กังวาลชัย เรื่องที่ถูกนายชัยยงค์หลอกลวงเอารถยนต์ดังกล่าวไปขายโดยเจ้าพนักงานตำรวจได้แจ้งอายัดรถยนต์คันพิพาทไว้แล้ว นายศิวาคืนค่าซื้อรถยนต์ให้นายสว่างแล้ว นายศิวาและห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส.เอส.พี.ซัพพลายส์แอนด์ คอนสตรัคชั่นฟ้องโจทก์ทั้งสองเรียกเงินค่าซื้อรถยนต์รถคืน โจทก์ทั้งสองจ่ายเงินคืนให้นายศิวารับไปแล้วและโจทก์ทั้งสองได้ขอให้จำเลยชำระค่าซื้อรถยนต์คืน จำเลยไม่ชำระ
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสองว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามมาตรา 481แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่ โจทก์ทั้งสองฎีกาว่าคดีนี้โจทก์ทั้งสองไม่ได้ถูกรอนสิทธิ แต่ผู้ที่ซื้อรถยนต์ต่อไปจากโจทก์ทั้งสองถูกรอนสิทธิ โดยผู้ซื้อคนสุดท้ายคือนายสว่างวงศ์เทียนชัย ถูกบุคคลภายนอกรอนสิทธิซึ่งนายสว่างได้นำรถยนต์ไปคืนและขอรับเงินคืนจากนายศิวา สระตันติ์ ผู้ที่ซื้อรถยนต์ต่อไปจากโจทก์ทั้งสอง เมื่อโจทก์ทั้งสองตกลงกับนายศิวาตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว การตกลงดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายที่ผูกพันกันเท่านั้น กรณีจึงไม่อาจบังคับตามอายุความการรอนสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 481เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 481 บัญญัติว่า"ถ้าผู้ขายไม่ได้เป็นคู่ความในคดีเดิมหรือถ้าผู้ซื้อได้ประนีประนอมยอมความกับบุคคลภายนอกหรือยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องไซร้ ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีในข้อรับผิดเพื่อการรอนสิทธิเพื่อพ้นกำหนดสามเดือนนับแต่วันคำพิพากษาในคดีเดิมถึงที่สุดหรือนับแต่วันประนีประนอมยอมความ หรือวันที่ยอมตามบุคคลภายนอกเรียกร้องนั้น" ตามคำฟ้องของโจทก์ได้ความว่า นายสว่างผู้ซื้อคนสุดท้ายถูกเจ้าพนักงานตำรวจดำเนินการอายัดรถยนต์คันดังกล่าวไว้เพราะมีผู้เสียหายมาร้องทุกข์ว่ารถยนต์คันดังกล่าวถูกยักยอกและเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงก็ได้ติดตามเอารถยนต์คันดังกล่าวคืนไปแล้ว ต่อมานายศิวาผู้ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวไปจากโจทก์และห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส.เอส.พี. ซัพพลายส์แอนด์คอนสตรัคชั่นในฐานะผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 8579/2532 ของศาลชั้นต้น และโจทก์ทั้งสองได้ชำระเงินจำนวน 240,000 บาท ให้แก่นายศิวากับพวกเรียบร้อยแล้วดังนี้ การที่จำเลยนำรถยนต์คันดังกล่าวมาขายให้แก่โจทก์ทั้งสองเท่ากับว่าจำเลยผู้ขายได้รับรองโดยปริยายแก่โจทก์ทั้งสองว่าจำเลยมีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่นำมาขาย เมื่อปรากฏว่าจำเลยไม่มีและไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันนั้นให้แก่โจทก์ทั้งสองได้จึงเป็นการผิดสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์ทั้งสอง เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายเนื่องจากโจทก์ทั้งสองต้องชำระเงินจำนวน240,000 บาท คืนให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวไปจากโจทก์ทั้งสองโจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยได้ หาใช่การฟ้องคดีในข้อรับผิดเพื่อการรอนสิทธิอันมีอายุความ 3 เดือน ตามมาตรา 481 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ การฟ้องคดีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 เดิม เมื่อปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 8579/2532 หมายเลขแดงที่ 22436/2532ของศาลชั้นต้น ยอมชำระเงินจำนวน 240,000 บาท ภายใน 15 วันให้แก่นายศิวาและห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส.เอส.พี. ซัพพลายส์แอนด์คอนสตรัคชั่นเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2532 และฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2533 ยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์ทั้งสองจึงยังไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น