โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 295, 339, 340 ตรี และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 13,750 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม, 340 ตรี ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 15 ปี ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสี่ คงจำคุกคนละ 11 ปี 3 เดือน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 13,750 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อ้างในฎีกาว่า สิบตำรวจโทวิโรจน์เบิกความว่า เมื่อคนร้ายเห็นพยานกับพวกก็เลี้ยวรถจักรยานยนต์กลับไปทางสี่แยกอนามัย พยานขับรถจักรยานยนต์ติดตามรถจักรยานยนต์ของคนร้ายไปติดๆ โดยรถจักรยานยนต์ของคนร้ายไปจอดที่หน้าบ้านนายสรพงษ์และเห็นผู้ชายสองคนเข้าไปในบ้านดังกล่าว พยานเรียกให้ออกมาแต่ไม่ยอมออกมา อันเป็นพิรุธแสดงว่าเป็นคนร้ายนั้น เห็นว่า พยานโจทก์ปากนี้ไม่ใช่ประจักษ์พยานที่รู้เห็นในขณะเกิดเหตุ ดังนั้นรถจักรยานยนต์คันที่พยานขับตามไปนั้น จะใช่รถจักรยานยนต์คันเดียวกันกับที่คนร้ายในคดีนี้ใช้เป็นพาหนะขับหลบหนีไปหรือไม่ ก็ไม่อาจยืนยันได้ และที่คนในบ้านนายสรพงษ์ไม่ยอมออกมาจากบ้านเมื่อพยานเรียกนั้นก็ยังไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าคนในบ้านนั้นเป็นคนร้ายในคดีนี้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่นๆ ไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง โจทก์บรรยายฟ้องว่า เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน สุราษฎร์ธานี 649 (ที่ถูก ขคร สุราษฎร์ธานี 649) ของกลาง แม้โจทก์จะมิได้มีคำขอเกี่ยวกับของกลางมาด้วยก็ตาม ศาลจะสั่งคืนของกลางแก่เจ้าของก็ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (9) ประกอบมาตรา 49 เมื่อยังฟังไม่ได้ว่ารถจักรยานยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งคืนให้แก่เจ้าของ
พิพากษายืน และให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่เจ้าของ.