โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยให้หักจากกองทรัพย์สินของจำเลย เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาเช่าทรัพย์สิน 14 รายการ และค่าขนส่งทรัพย์สิน รวมเป็นเงิน 1,535,933.64 บาท นอกจากนี้จำเลยยังเป็นหนี้โจทก์ตามข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายในคดีอาญาของศาลอาญาพระโขนง คดีหมายเลขดำที่ อ.2530/2562 เป็นเงิน 346,573 บาท
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า หนี้ค่าซ่อมแซมความเสียหายจากการใช้สอยทรัพย์สินที่เช่า เป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่า ระหว่างที่จำเลยเช่าทรัพย์สินจากโจทก์ จำเลยทำให้ทรัพย์สินที่เช่าเสียหายหลายรายการ โจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเป็นเงิน 82,390 บาท เมื่อโจทก์มีสำเนาใบแจ้งหนี้มานำสืบซึ่งสามารถคิดคำนวณยอดหนี้จนถึงวันฟ้องได้ว่าจำเลยเป็นหนี้ค่าซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่าแก่โจทก์จำนวนเท่าใด และหนี้ดังกล่าวมิใช่หนี้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 หรือหนี้ละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 ที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจแก่ศาลเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินให้จำเลยชดใช้อันจะทำให้หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ประกอบกับจำเลยเองก็มิได้โต้แย้งคัดค้านว่า จำเลยมิได้เป็นหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ เพียงแต่กล่าวอ้างว่า หนี้บางรายการจำเลยได้ชำระหนี้แก่โจทก์แล้วบางส่วนแต่ไม่ทราบจำนวน แต่จำเลยก็มิได้มีหลักฐานการชำระหนี้มาแสดง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าหนี้ค่าซ่อมแซมความเสียหายจากการใช้สอยทรัพย์สินที่เช่า เป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน โดยหาจำต้องรอให้ศาลในคดีแพ่งพิพากษากำหนดจำนวนหนี้จนคดีถึงที่สุดแล้วนำมาฟ้องคดีล้มละลายไม่ โจทก์ย่อมมีสิทธินำหนี้ค่าซ่อมแซมความเสียหายจากการใช้สอยทรัพย์สินที่เช่าดังกล่าวคำนวณรวมกับหนี้อื่นที่รับฟังเป็นยุติแล้วว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์มาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายได้ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า หนี้ค่าซ่อมแซมความเสียหายจากการใช้สอยทรัพย์สินที่เช่าเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น คดีฟังได้ว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์รวมจำนวนทั้งสิ้น 2,066,236.86 บาท ส่วนปัญหาว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษยังไม่ได้วินิจฉัย แต่เมื่อมีการสืบพยานโจทก์และจำเลยเสร็จสิ้นแล้วเพื่อให้คดีเสร็จไปโดยเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยก่อน เห็นว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ต้นเงิน 1,964,896.64 บาท ดอกเบี้ย 101,340.22 บาท รวมเป็นเงิน 2,066,236.86 บาท ก่อนฟ้องโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้วสองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8 (9) ว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว ที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยมีเครื่องจักร 5 รายการ ราคาประมาณ 7,500,000 บาท นั้น ก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ทรัพย์สินดังกล่าวจำเลยประกอบขึ้นเองไม่มีเอกสารทางทะเบียนและไม่มีเอกสารรับรองราคา จึงฟังไม่ได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวมีราคาตามที่จำเลยกล่าวอ้างมาจริง ข้อนำสืบของจำเลยไม่อาจรับฟังหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่อย่างไรก็ดี สำหรับสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ค่าซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่าจำนวน 82,390 บาท นั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าในระหว่างที่จำเลยเช่าทรัพย์สินไปจากโจทก์ จำเลยทำให้ทรัพย์สินที่เช่าเสียหาย โจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่าเป็นเงิน 82,390 บาท หนี้ค่าซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่าดังกล่าว จึงเกิดขึ้นก่อนสัญญาเช่าเลิกกันและเป็นข้อเรียกร้องเกี่ยวแก่สัญญาเช่า ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 บัญญัติ ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 6 เดือนนับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า เมื่อโจทก์นำทรัพย์สินที่เช่าไปซ่อมแซมด้วยตนเองและตามสำเนาใบแจ้งหนี้ ระบุลงวันที่ 17 เมษายน 2562 วันที่ 9 พฤษภาคม 2562 และวันที่ 26 มิถุนายน 2562 ตามลำดับ จึงแสดงให้เห็นว่าจำเลยส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าแก่โจทก์อย่างช้าคือวันที่ 17 เมษายน 2562 วันที่ 9 พฤษภาคม 2562 และวันที่ 26 มิถุนายน 2562 ตามลำดับ การที่โจทก์นำมูลหนี้ค่าซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่ามาเป็นมูลหนี้ฟ้องจำเลยในคดีนี้วันที่ 27 มีนาคม 2563 จึงพ้นกำหนดเวลา 6 เดือน นับแต่วันส่งทรัพย์สินที่เช่าคืน หนี้ค่าซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่าจำนวน 82,390 บาท จึงขาดอายุความ แม้จำเลยจะไม่ได้ให้การในประเด็นนี้ไว้ แต่การพิจารณาคดีล้มละลายตามกฎหมายล้มละลาย ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน มีผลในทางตัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ศาลจึงต้องพิจารณาเอาความจริงตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 ว่าคดีมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า หนี้ของโจทก์บางส่วนขาดอายุความแล้วจำนวน 82,390 บาท อันเป็นหนี้ที่ไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ตามมาตรา 94 (1) ทำให้หนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ของโจทก์มีจำนวนไม่ถึงสองล้านบาท กรณีจึงถือได้ว่ามีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายตามมาตรา 14 ตอนท้าย ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 28/2 ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ