คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2559 และพิพากษาให้จำเลยทั้งสองล้มละลายเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2560
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดและประกาศขายทอดตลาดใหม่
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตจากศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษากลับ ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 84984 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มล้มละลายวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ว่า การขายทอดตลาดของผู้คัดค้านที่ 1 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี พ.ศ. 2522 ข้อ 79 กำหนดว่า "ผู้ซื้อที่ดินซึ่งจะขอหักส่วนได้ใช้แทนราคาซื้อได้ คือ (1) ผู้มีชื่อในโฉนดร่วมกับลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือผู้มีส่วนได้จากกองมรดกตามคำพิพากษาในคดีนั้นด้วย (2) เจ้าหนี้บุริมสิทธิ์เหนือที่ดินที่ขายตามคำชี้ขาดของศาล" ซึ่งเมื่อพิจารณาถ้อยคำดังกล่าวประกอบกับถ้อยคำในระเบียบข้ออื่นๆ ในหมวดที่ 8 การขายทรัพย์ แล้ว คำว่า "ผู้ซื้อ" หมายความถึงผู้ซื้อทรัพย์สินได้จากการขายทอดตลาด ระเบียบข้อ 79 ดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่ผู้ซื้อที่ดินได้จากการขายทอดตลาดขอหักส่วนได้ใช้แทนราคาที่ดินที่ซื้อได้เพื่อให้ตนไม่ต้องนำเงินค่าที่ดินที่ต้องชำระมาวางโดยให้หักจากจำนวนเงินที่ตนมีสิทธิจะได้รับจากการขายทอดตลาด ผู้ซื้อที่ดินซึ่งจะขอหักส่วนได้ใช้แทนได้นั้นจึงต้องเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิเหนือที่ดินที่ขายตามคำชี้ขาดของศาลเพื่อให้แน่ชัดว่าตนจะได้รับชำระหนี้เพียงใด เพียงพอต่อค่าซื้อที่ดินหรือไม่ และจะต้องชำระค่าซื้อที่ดินเพิ่มหรือไม่ เท่าใด ต่างจากกรณีการวางหลักประกันการเข้าเสนอราคาในการขายทอดตลาดซึ่งประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี เรื่อง ขายทอดตลาดที่ดิน ระบุเงื่อนไขการเข้าเสนอราคาไว้ว่า "ผู้ประสงค์จะเข้าเสนอราคาต้องวางหลักประกันการเข้าเสนอราคาต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นจำนวน 25,000 บาท เว้นแต่ผู้เข้าเสนอราคานั้นเป็นผู้มีสิทธิขอหักส่วนได้ใช้แทนหรือคู่สมรสที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้กันส่วนแล้ว" โดยมิได้ระบุให้ชัดแจ้งว่า ผู้มีสิทธิขอหักส่วนได้ใช้แทนนั้นต้องเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิเหนือที่ดินที่ขายตามคำชี้ขาดของศาลดังเช่นที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี พ.ศ. 2522 ข้อ 79 อีกทั้งในประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวก็มีข้อความระบุไว้ในหน้าแรก ย่อหน้าสุดท้ายว่า "ที่ดินที่จะขายติดจำนองบริษัทบริหารสินทรัพย์ อ. เจ้าหนี้ ตามมาตรา 95" เป็นการแสดงให้เห็นแล้วว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองและเป็นผู้มีสิทธิขอหักส่วนได้ใช้แทนตามประกาศขายทอดตลาดดังกล่าว การที่ผู้ร้องมิได้วางหลักประกันก่อนเข้าเสนอราคาเนื่องจากเห็นว่าตนเป็นผู้มีสิทธิขอหักส่วนได้ใช้แทนจึงชอบแล้ว มิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อหรือความบกพร่องของผู้ร้องแต่อย่างใด เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 331 วรรคสาม บัญญัติว่า "เพื่อให้การขายทอดตลาดเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรม บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีมีสิทธิเต็มที่ในการเข้าสู้ราคาเองหรือหาบุคคลอื่นเข้าสู้ราคาเพื่อให้ได้ราคาตามที่ตนต้องการ และเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดแล้ว ห้ามมิให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีทั้งหลายหยิบยกเรื่องราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดมีจำนวนต่ำเกินสมควรมาเป็นเหตุขอให้มีการเพิกถอนการขายทอดตลาดนั้นอีก" การที่ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ให้ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองเข้าสู้ราคาโดยอ้างว่าผู้ร้องมิใช่ผู้มีสิทธิหักส่วนได้ใช้แทนทั้งที่ประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี เรื่อง ขายทอดตลาดที่ดิน มิได้ระบุว่าผู้เข้าเสนอราคาที่เป็นผู้มีสิทธิขอหักส่วนได้ใช้แทนนั้นต้องเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิเหนือที่ดินที่ขายตามคำชี้ขาดของศาล ย่อมทำให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีไม่มีสิทธิเต็มที่ในการเข้าสู้ราคา จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 331 วรรคสาม การขายทอดตลาดของผู้คัดค้านที่ 1 จึงฝ่าฝืนกฎหมายและศาลย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 295 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14 ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษากลับให้เพิกถอนการขายทอดตลาดมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ