โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 ชื่อย่อว่า "กฟผ." จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 3 ถึงที่ 36 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 37 เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 2 มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 38 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 39 ถึง 41 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ได้กระทำการละเว้นการสืบสวนสอบสวนในประเด็นการรอนสิทธิในที่ดินของโจทก์ จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 38 ร่วมกันใช้อำนาจโดยมิชอบเข้าทำการรอนสิทธิในที่ดินของโจทก์และที่ดินส่วนที่ติดกับที่ดินของโจทก์ โจทก์กับพวกมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดิน 16 แปลง ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา โจทก์กับพวกซื้อที่ดินดังกล่าวเพื่อขายให้แก่พลเอกชาติชายแต่ภายหลังไม่มีการซื้อขาย โจทก์กับพวกจึงก่อตั้งเป็นโครงการโรงแรมที่พักตากอากาศ เพื่อเสนอขายแก่ชาวต่างประเทศในวงเงิน 3,0000,000,000 บาท จะมีกำไรถึง 2,000,000,000 บาท โครงการดังกล่าวมีการวางแผนและรูปแบบไว้ตั้งแต่ปี 2531 ในการซื้อที่ดิน โจทก์กับพวกตกลงกันว่าเมื่อซื้อที่ดินแปลงใดได้ ก็ให้ใส่ชื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นเจ้าของไว้ก่อน เพื่อไม่ให้บุคคลที่โจทก์กับพวกประสงค์จะขายที่ดินให้ไปกว้านซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าวไป โครงการนี้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 41 ต่างทราบดี ต่อมาเมื่อปี 2542 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 38 บุกรุกเข้าไปในที่ดินดังกล่าวเพื่อปักเสาพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูง โดยอ้างอำนาจตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 แต่ตามกฎหมายดังกล่าว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 38 ต้องเริ่มต้นจากการสำรวจเพื่อเลือกแนวปักเสาพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูงโดยประกาศกำหนดเขตสำรวจไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอหรือสำนักงานเขตและที่ทำการตำบลหรือแขวงที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ แล้วยังต้องลงประกาศในราชกิจจานุเบิกษาก่อนวันสำรวจไม่น้อยกว่า 30 วัน ตามมาตรา 28 (ข) (ค) แห่งพระราชบัญญัติข้างต้น แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิบัติให้ครบถ้วน กลับบุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์กับพวกแล้วรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ขุดดิน ปักเสา ในที่ดินจนได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์แจ้งความต่อจำเลยที่ 39 ถึงที่ 41 ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 กับพวก แต่จำเลยที่ 39 ถึงที่ 41 ไม่ดำเนินการสอบสวนถึงอำนาจหน้าที่ตามที่จำเลยที่ 1 กับพวกอ้างเป็นเหตุให้พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องเพราะหลงเข้าใจว่าจำเลยที่ 1 กับพวกมีอำนาจกระทำการได้ ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยความประมาท การกระทำของจำเลยทั้งสี่สิบเอ็ดเป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้รับค่าทดแทนเนื่องจากการรอนสิทธิ และขาดประโยชน์เป็นเงิน 2,000,000,000 บาท จำเลยทั้งสี่สิบเอ็ดต้องร่วมกันจ่ายค่ารอนสิทธิดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี หรือให้รับซื้อที่ดินทั้งหมดไปในราคา 2,000,000,000 บาท หากไม่ยินยอมขอให้จำเลยที่ 1 ทำการย้ายแนวปักเสาพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูงออกจากที่ดินทั้งหมด ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ทำการย้ายแนวเขตการปักเสาพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูงออกจากที่ดินของโจทก์กับพวก หากจำเลยที่ 1 ไม่ยินยอมย้าย ให้จำเลยทั้งสี่สิบเอ็ดร่วมกันและแทนกันจ่ายค่ารอนสิทธิแก่โจทก์ จำนวน 2,000,000,000 บาท ก่อนดำเนินการก่อสร้างต่อไปหรือให้จำเลยทั้งสี่สิบเอ็ดร่วมกันและแทนกันซื้อที่ดินของโจทก์กับพวกในราคา 2,000,000,000 บาท และร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์เสร็จสิ้น
ในชั้นพิจารณารับคำคู่ความ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องจำเลยที่ 39 ถึงที่ 41
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 451/2542 ของศาลชั้นต้น ที่ดินแต่ละแปลงตามฟ้องมีเจ้าของแต่ละคนแยกต่างหากจากกันมิใช่กรณีเจ้าของรวม โจทก์ไม่มีสิทธิคัดค้านหรือห้ามจำเลยที่ 1 เข้าดำเนินการก่อสร้างบนที่ดินที่มีชื่อบุคคลอื่นเป็นเจ้าของ การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์และโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 41 จ่ายค่ารอนสิทธิแก่โจทก์จำนวน 2,000,000,000 บาท แทนบุคคลอื่นเพราะโจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินเพียง 2 แปลง เท่านั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง คำฟ้องที่ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินเป็นสภาพแห่งหนี้ที่ไม่เปิดช่องให้บังคับได้ จำเลยที่ 1 เป็นรัฐวิสาหกิจ มีจำเลยที่ 18 เป็นผู้ว่าการมีอำนาจบริหารและจัดการแทนจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 14 ที่ 18 ที่ 22 ที่ 24 ถึงที่ 36 เป็นพนักงาน มีหน้าที่ดำเนินกิจการตามที่จำเลยที่ 1 มอบหมาย ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 38 บุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมายอันรับฟังได้ว่าเป็นการละเมิดโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องพนักงานของจำเลยที่ 1 ข้างต้นให้ร่วมรับผิด ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ในวันที่ 5 เมษายน 2544 ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 266/2544 ระหว่าง พันเอกกวี โจทก์ การรถไฟแห่งประเทศไทย จำเลย โดยมีสาระสำคัญว่า ที่ดินตามฟ้องทั้งสิบหกแปลงในคดีนี้อยู่ในแผนที่แนบท้ายพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์... พุทธศักราช 2488 อันตกเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้งสิบหกแปลงไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท โจทก์รับโอนที่ดินพิพาทมาจากเจ้าของเดิม จึงไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง การเข้าไปดำเนินการในที่ดินตามฟ้องเพื่อปักเสาพาดสายส่งไฟฟ้า จำเลยที่ 1 กระทำตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 28, 29 และ 30 ทุกประการ ในส่วนของโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้แจ้งเป็นหนังสือให้ทราบเพื่อขอเข้าดำเนินการเปลี่ยนแปลงสายส่งไฟฟ้าแรงสูงในเขตเดินสายส่งไฟฟ้าเดิม โจทก์ทราบและคัดค้านไม่ประสงค์ให้จำเลยที่ 1 ปักเสาพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูงผ่านที่ดินของโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 1 แจ้งยืนยันการดำเนินการไปยังโจทก์พร้อมนำเงินค่าทดแทนที่ดินสำหรับที่ตั้งเสาไฟฟ้าฝากไว้ที่ธนาคารในนามโจทก์แล้ว ส่วนเงินค่าทดแทนที่ดินที่สายส่งไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านไม่กำหนดให้ เนื่องจากเป็นการก่อสร้างในเขตพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเดิมที่ก่อสร้างไว้ตั้งแต่ปี 2507 ที่ได้มีการเวนคืนและจ่ายเงินค่าทดแทนไปแล้วในภาระหน้าที่ของการลิกไนท์ ซึ่งปัจจุบันกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและสิทธิต่างๆ ของการลิกไนท์ได้โอนมาเป็นของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 เข้าไปปักเสาไฟฟ้าและพาดสายส่งไฟฟ้าในที่ดินของโจทก์จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์ที่โจทก์เรียกร้องจำนวนถึง 2,000,000,000 บาท นั้น โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องมูลคดีของโจทก์เป็นการฟ้องในมูลละเมิด โจทก์ฟ้องเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ที่ 37 และที่ 38 ให้การว่า มูลคดีที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้ โจทก์ได้ฟ้องพวกจำเลยต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 451/2542 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา จึงเป็นการฟ้องซ้อนที่ดินแต่ละแปลงตามฟ้องมีเจ้าของแต่ละคนแยกต่างหากจากกัน โจทก์ไม่ใช่เจ้าของรวมจึงไม่มีสิทธิห้ามจำเลยเข้าไปดำเนินการก่อสร้างบนที่ดินของบุคคลอื่น หรือขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่สิบเอ็ดจ่ายค่ารอนสิทธิจำนวน 2,000,000,000 บาท หรือบังคับให้ซื้อที่ดินทั้งหมดในราคา 2,000,000,000 บาท เนื่องจากโจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินเพียง 2 แปลง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องในประเด็นนี้ การฟ้องในมูลละเมิดเนื่องจากการรอนสิทธิตามฟ้องขาดอายุความเพราะโจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการกระทำละเมิดและผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จำเลยที่ 2 ทำสัญญากับจำเลยที่ 1 เพื่อพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูงโดยให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบพื้นที่ให้ ดังนั้น จำเลยที่ 2 เข้าไปในที่ดินของโจทก์ก็เพื่อปฏิบัติตามสัญญา จำเลยที่ 2 เข้าใจโดยสุจริตว่าหากเกิดความเสียหายใดๆ ในที่ดินของโจทก์จำเลยที่ 2 ก็ไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย โจทก์ชอบที่จะเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 จำเลยที่ 37 เป็นกรรมการผู้จัดการกระทำไปในขอบอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 38 เป็นเพียงลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 37 และที่ 38 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 36 ให้การทำนองเดียวกันว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 451/2542 ที่ดินตามฟ้องจำนวน 16 แปลง มีชื่อเจ้าของแต่ละคนแยกต่างหากจากกันมิใช่กรณีเจ้าของรวม การที่จำเลยที่ 1 กับพวกเข้าดำเนินการก่อสร้างบนที่ดินที่มีชื่อบุคคลอื่นเป็นเจ้าของไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ ทั้งการที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่สิบเอ็ดจ่ายค่ารอนสิทธิแก่โจทก์จำนวน 2,000,000,000 บาท หรือรับซื้อที่ดินทั้งหมดในราคา 2,000,000,000 บาท บาท โจทก์ไม่มีสิทธิตามกฎหมายเพราะโจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินเพียง 2 แปลง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 เป็นรัฐวิสาหกิจ จำเลยที่ 3 ถึงที่ 36 มีฐานะเป็นพนักงานหรือคณะกรรมการมีหน้าที่ดำเนินการในกิจการของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 38 บุกรุกที่ดินของโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมายอันรับฟังได้ว่าเป็นการละเมิด โจทก์คงมีเพียงสิทธิฟ้องเพียงจำเลยที่ 1 ในฐานะหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่อาจฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 36 ได้ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 4 และ 5 นอกจากนี้ที่ดินตามฟ้องทั้งสิบหกแปลงได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 266/2544 ระหว่าง พันเอกกวี โจทก์ การรถไฟแห่งประเทศไทย จำเลย วินิจฉัยว่าที่ดินทุกแปลงอยู่ในแผนที่แนบท้ายพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์... พุทธศักราช 2488 อันตกแก่การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้งสิบหกแปลง หามีสิทธิในที่ดินแต่อย่างใด และให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2303 ซึ่งเป็นที่ดินแปลงหนึ่งตามคำฟ้อง จำเลยที่ 3 ที่ 18 ถึงที่ 20 ที่ 22 ถึงที่ 25 ที่ 29 ที่ 30 ที่ 32 ถึงที่ 36 ไม่เคยเข้าไปในที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 1 เข้าไปในที่ดินตามฟ้องเพื่อดำเนินการปรับปรุงสายส่งไฟฟ้าเดิมจากระบบ 115 กิโลโวลต์ พังงา - ภูเก็ต 1 เป็นขนาด 230 กิโลโวลต์ พังงาจุดเชื่อมภูเก็ตในแนวเขตสายส่งไฟฟ้าเดิมของการลิกไนท์ซึ่งก่อสร้างไว้ตั้งแต่ปี 2507 ที่ได้มีการเวนคืนและจ่ายเงินค่าทดแทนไปแล้วในภาระหน้าที่ของการลิกไนท์ ซึ่งปัจจุบันทรัพย์สินและสิทธิต่างๆ โอนมาเป็นของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 จำเลยที่ 1 ดำเนินการตามขั้นตอนแห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511มาตรา 28, 29 และ 30 ทุกประการ กล่าวคือได้มีหนังสือแจ้งการดำเนินการตามโครงการแก่เจ้าของผู้ครอบครองที่ดินที่สายส่งไฟฟ้าพาดผ่าน และแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ในท้องที่ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ในส่วนของโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ได้แจ้งเป็นหนังสือให้ทราบเพื่อขอเข้าดำเนินการ แต่โจทก์คัดค้าน จำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือยืนยันการดำเนินงานไปยังโจทก์ พร้อมนำเงินค่าทดแทนที่ดินสำหรับที่ตั้งเสาไฟฟ้าไปฝากไว้แก่ธนาคารในนามของโจทก์แล้ว ดังนั้น การดำเนินการเพื่อปักเสาไฟฟ้าและเดินสายส่งไฟฟ้าแรงสูงในที่ดินของโจทก์ จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ค่ารอนสิทธิและค่าขาดประโยชน์ที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินจริงเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ที่โจทก์ไม่มีสิทธิจะได้รับ จำเลยที่ 3 ที่ 12 ที่ 13 และที่ 15 ถึงที่ 17 เกษียณอายุแล้วโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง การฟ้องคดีในมูลละเมิดของโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการกระทำละเมิดและผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นเห็นสมควรวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 38 แล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 38 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 37 และที่ 38 และยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 37 และที่ 38 ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานหลักฐานเฉพาะของโจทก์และจำเลยดังกล่าวต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 38 ในชั้นฎีกาให้เป็นพับ
ระหว่างการพิจารณา จำเลยที่ 2 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอให้ศาลจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ ศาลชั้นต้นอนุญาต ส่วนจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องลงวันที่ 15 มีนาคม 2547 ขอให้ศาลมีคำวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 37 และที่ 38 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 37 และที่ 38 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า "ที่โจทก์อุทธรณ์ในประเด็นแรกว่า คดีนี้ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 37 และที่ 38 และยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทุกคนดังกล่าว กับให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสืบพยานหลักฐานเฉพาะของโจทก์และจำเลยทุกคนดังกล่าวต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ศาลชั้นต้นย่อมอยู่ในบังคับต้องให้โจทก์นำพยานเข้าสืบให้สมตามฟ้องเสียก่อนแล้วจึงจะมีคำพิพากษาได้ คำสั่งงดสืบพยานแล้วพิพากษาเป็นคุณแก่จำเลยโดยให้ยกฟ้องโจทก์จึงขัดต่อคำพิพากษาของศาลฎีกาเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า มูลเหตุที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นเห็นสมควรวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 38 แล้วพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในประเด็นโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งหมดในฐานเจ้าของสิทธิที่ถูกโต้แย้งหรือไม่นั้น คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องทำนองว่า โจทก์กับพวกได้ร่วมกันรวบรวมที่ดินจำนวน 16 แปลง ก่อตั้งเป็นโครงการโรงแรมที่พักตากอากาศเพื่อเสนอขายแก่ชาวต่างประเทศ อันมีลักษณะเป็นการเข้าหุ้นส่วนกันประกอบกิจการโดยนำที่ดินมาร่วมทุนกัน ดังนั้น การที่ที่ดิน 2 แปลงมีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองจึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการร่วมทุน กรณียังไม่เพียงพอที่จะบ่งชี้โดยแน่ชัดว่า โจทก์กับผู้มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินอีก 14 แปลง ไม่มีนิติสัมพันธ์ในลักษณะหุ้นส่วนกัน จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะให้คู่ความสืบพยานหลักฐานให้เสร็จสิ้นเสียก่อนแล้วจึงจะพิพากษาคดี แต่ตามคำฟ้องโจทก์ระบุว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 36 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐโดยตรงแต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 36 ได้ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาจึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 36 แต่พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 37 และที่ 38 และยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ให้ยกฟ้องจำเลยทุกคนดังกล่าวกับให้ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนการพิจารณาสืบพยานหลักฐานเฉพาะของโจทก์และจำเลยทุกคนดังกล่าวแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี แต่เมื่อปรากฏว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นได้ชี้สองสถานโดยกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ 451/2542 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ด้วย ดังนั้น ในการดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาใหม่ตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีมีเหตุสมควรที่จะวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายเรื่องฟ้องซ้อนอันเป็นประเด็นพิพาทแห่งคดีที่ได้ชี้สองสถานกำหนดเป็นประเด็นพิพาทไว้ดังกล่าว ซึ่งถ้าหากวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่ฝ่ายจำเลยแล้ว จะไม่ต้องมีการพิจารณาคดีต่อไปอีก ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะสั่งงดสืบพยานและวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายเช่นว่านี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 คำสั่งงดสืบพยานและวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว หาเป็นการขัดต่อคำพิพากษาศาลฎีกาและเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ในประเด็นต่อมาว่า คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 451/2542 หมายเลขแดงที่ 203/2545 ของศาลชั้นต้น เป็นเรื่องละเมิด แต่คดีนี้เป็นเรื่องเรียกค่ารอนสิทธิหรือบังคับให้ซื้อที่ดินหรือให้ย้ายแนวก่อสร้างปักเสาพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูงออกไปจากที่ดินเพราะจำเลยได้กระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมายจึงมิใช่เป็นคดีเรียกค่าเสียหายเพราะการกระทำละเมิด แต่เป็นการเรียกค่าเสียโอกาสหรือค่าเสียประโยชน์จากการใช้ที่ดิน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ (ที่ถูกฟ้องซ้อน) นั้น เห็นว่า คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 โดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยที่ 1 โดยนายสฤษดิ์ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 คนหนึ่งและลูกจ้างของจำเลยที่ 1 อีกหลายคน ซึ่งกระทำในทางการที่จ้างได้ร่วมกันเข้าไปในที่ดินของโจทก์ตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 2301 ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 7 ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา และร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ขุดดินปักเสาไฟฟ้าโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายกับรื้อถอนขนย้ายเสาไฟฟ้า สายส่งไฟฟ้าออกไปจากที่ดินของโจทก์ ส่วนคดีนี้โจทก์ยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า โจทก์กับพวกมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดิน 16 แปลง ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 7 ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ท้ายฟ้อง ซึ่งมี น.ส.3 ก. เลขที่ 2301 ของโจทก์รวมอยู่ด้วย จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันใช้อำนาจโดยมิชอบเข้าทำการรอนสิทธิในที่ดินของโจทก์กับพวกดังกล่าวด้วยการบุกรุกเข้าไปปักเสาพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูง โดยอ้างอำนาจตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 แต่จำเลยกับพวกมิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนที่มาตรา 28 (2) (ข) (ค) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดไว้ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้รับค่าทดแทนเนื่องจากการรอนสิทธิ ขอให้จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันจ่ายค่ารอนสิทธิและขาดประโยชน์หรือรับซื้อที่ดินทั้งหมด หากไม่ยินยอมก็ขอให้จำเลยที่ 1 ย้ายแนวปักเสาพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูงออกจากที่ดินทั้งหมด ดังนี้ เห็นว่า แม้คดีนี้คำขอของโจทก์เป็นเรื่องเรียกค่ารอนสิทธิหรือบังคับให้จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินหรือย้ายแนวก่อสร้างปักเสาพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูงออกไปจากที่ดิน 16 แปลง ซึ่งแตกต่างจากคดีก่อนที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดที่ทำให้ที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่2301 ได้รับความเสียหายก็ตามแต่คดีก่อนโจทก์ก็มีคำขอให้จำเลยที่ 1 ขนย้ายเสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้าออกไปจากที่ดินของโจทก์ด้วยเช่นกัน และในประกาศสำคัญคือคดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่า จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันใช้อำนาจโดยมิชอบเข้าทำการรอนสิทธิในที่ดินของโจทก์ด้วยการบุกรุกเข้าไปปักเสาพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูง โดยอ้างอำนาจตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 แต่จำเลยกับพวกมิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 28 (2) (ข) (ค) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งเท่ากับโจทก์ยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 1 กับพวกเข้าไปปักเสาพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูงในที่ดินของโจทก์โดยไม่ชอบดวยกฎหมายนั่นเอง ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกับคดีก่อนที่โจทก์ยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ขุดดินปักเสาไฟฟ้าในที่ดินของโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน แม้ที่ดินอีก 15 แปลง ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กระทำไม่ชอบด้วยกฎหมายในคดีนี้ โจทก์ไม่ได้ฟ้องในคดีก่อนก็ตาม แต่ที่ดินเหล่านี้อยู่ในโครงการปรับปรุงสายส่งไฟฟ้าเดิมจากระบบ 115 กิโลโวลต์ พังงา - ภูเก็ต 1 เป็นขนาด 230 กิโลโวลต์ พังงาจุดเชื่อมภูเก็ตในแนวเขตสายส่งไฟฟ้าเดิมของการลิกไนต์โครงการเดียวกับที่ผ่านที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 2301 ที่โจทก์ฟ้องคดีก่อน การปักเสาพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูงตามที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กระทำในคดีนี้จึงเป็นการกระทำเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีก่อน คดีของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ทั้งในคดีนี้และคดีก่อนเป็นเรื่องเดียวกัน เมื่อปรากฏว่าขณะคดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณา โจทก์นำคดีนี้มายื่นฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกอีก ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีก่อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยต่อไปด้วยว่า ฟ้องโจทก์ในคดีนี้นส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีก่อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 เพราะคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ซึ่งมีผลทำให้คดีนี้ของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 37 และที่ 38 ตกเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำไปด้วย เพราะโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 37 และที่ 38 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำต่อโจทก์ จำเลยที่ 37 และที่ 38 กระทำโดยอาศัยสิทธิหรือการมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 การวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยที่ 37 และที่ 38 จึงต้องเกี่ยวเนื่องกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ด้วย นั้น เห็นว่า หากฟ้องของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นฟ้องต้องห้ามเพราะเข้าเกณฑ์เป็นเพียงการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีก่อน ศาลชั้นต้นย่อมไม่ชอบที่จะนำผลของฟ้องโจทก์ในคดีนี้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีก่อนไปวินิจฉัยว่ามีผลพลอยทำให้คดีนี้ของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 37 และที่ 38 เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำไปด้วยได้เพราะจำเลยที่ 37 และที่ 38 มิได้อยู่ในฐานะเป็นคู่ความในคดีก่อนย่อมไม่ผูกพันในผลแห่งคดีก่อน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่วินิจฉัยข้างต้นว่า ประเด็นข้อพิพาทโดยตรงในคดีก่อนกับคดีนี้เป็นอย่างเดียวกันเมื่อโจทก์ต้องถูกผูกพันตามคำพิพากษาในคดีก่อนซึ่งถึงที่สุดแล้ว โดยผลของกฎหมายว่าการปักเสาพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเป็นการทำภายในขอบอำนาจของพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 29 ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 37 และที่ 38 เป็นคดีนี้ซึ่งเป็นการกระทำเดียวกันกับคดีก่อนอีก จึงไม่เป็นสาระแก่คดีเพราะไม่ทำให้การกระทำดังกล่าวกลายเป็นการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมายไปได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 37 และที่ 38 มาด้วยกันนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล"
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ