โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 5, 6, 7, 47, 48, 73, 74, 74 จัตวา พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243, 244, 255 พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 5, 7, 20 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 6, 7, 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 80, 83, 91 ริบไม้ประดู่แปรรูปของกลาง และขอให้จ่ายสินบนนำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 47, 48 (ที่ถูก 48 วรรคหนึ่ง), 73 วรรคสอง (2), 74, 74 จัตวา (ที่ถูก ไม่ต้องปรับบทมาตรา 74, 74 จัตวา) พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243, 244 พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 มาตรา 5 (2), 7 วรรคหนึ่ง, 20 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 6, 7, 8, 9 (ที่ถูก ไม่ต้องปรับบทตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิดฯ) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีไม้ประดู่แปรรูปอันเป็นไม้หวงห้ามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 1 ปรับ 800,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 8 ปี และฐานร่วมกันพยายามส่งไม้ประดู่อันเป็นไม้หวงห้ามออกไปนอกราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากรโดยเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้น และโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น (ที่ถูก กับฐานร่วมกันพยายามส่งออกซึ่งสินค้าต้องห้าม) เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันพยายามส่งไม้ประดู่ออกไปนอกราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากรโดยเจตนาจะฉ้ออากรที่จะต้องเสียสำหรับของนั้น ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยที่ 1 ปรับ 1,200,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 4 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานร่วมกันมีไม้ประดู่แปรรูปอันเป็นไม้หวงห้ามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 1 คงปรับ 400,000 บาท จำเลยที่ 2 คงจำคุก 4 ปี ฐานร่วมกันพยายามส่งไม้ประดู่ออกไปนอกราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากร โดยเจตนาจะฉ้ออากรที่จะต้องเสียสำหรับของนั้น จำเลยที่ 1 คงปรับ 600,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 2 ปี จำเลยที่ 1 ปรับรวม 1,000,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุกรวม 6 ปี หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ริบไม้ประดู่แปรรูปของกลาง และจ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับร้อยละสามสิบของจำนวนเงินสุทธิค่าขายของกลางที่ศาลสั่งให้ริบ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายก่อนว่า ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243 และ 244 ที่บัญญัติในภายหลัง เป็นการถูกต้องหรือไม่ เห็นว่า ขณะจำเลยทั้งสองกระทำความผิด เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2560 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 บัญญัติให้การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองตามฟ้องเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติดังกล่าวบังคับใช้แก่จำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคแรก แต่อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิดแล้วได้มีพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 และให้ใช้พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 แทน โดยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติให้การนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรหรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากร โดยเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ เป็นความผิดตามมาตรา 243 และบัญญัติให้การนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งของดังกล่าวออกนอกราชอาณาจักร หรือนำของเข้าเพื่อการผ่านแดน หรือการถ่ายลำโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้นเป็นความผิดตามมาตรา 244 การที่พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 บัญญัติโดยแยกการกระทำซึ่งเดิมเป็นความผิดตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ออกเป็นมาตรา 243 และมาตรา 244 แสดงให้เห็นว่ากฎหมายประสงค์จะแยกการกระทำความผิดตามมาตรา 244 ออกต่างหากจากความผิดตามมาตรา 243 ดังนั้นเมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไม้ประดู่แปรรูปของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ และจะต้องริบไม้ประดู่แปรรูปของกลางดังกล่าวเสียทั้งสิ้นตามมาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ไม้ประดู่แปรรูปของกลางจึงไม่ใช่ของที่เสียภาษีได้อันจะเป็นผลให้การหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243 แต่ถือเป็นของที่ต้องจำกัดหรือต้องห้ามตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งไม้ประดู่แปรรูปของกลางซึ่งเป็นของต้องจำกัดหรือต้องห้ามออกไปนอกราชอาณาจักรโดยซุกซ่อนในตู้สินค้าหมายเลข HALA 561XXXX แล้วร่วมกันยื่นใบขนส่งสินค้าขาออกเลขที่ A 0081-6004-0 XXXX ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยสำแดงชนิดของสินค้าว่าเป็นเก้าอี้สนามทำด้วยไม้ประดู่เพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักรนั้นเป็นการหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามเกี่ยวกับของนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 เพียงบทเดียว มิใช่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243 ด้วยตามที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษมา ซึ่งตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 บัญญัติให้การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองตามฟ้องฐานร่วมกันพยายามส่งไม้ประดู่แปรรูปออกนอกราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างกับโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ซึ่งบัญญัติให้ลงโทษสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ โดยความผิดฐานนี้ไม่ว่าจะเป็นพยายามกระทำความผิดหรือกระทำความผิดสำเร็จ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 กำหนดโทษไว้เท่ากันเช่นเดียวกัน เมื่อโทษจำคุกตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 และพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี เท่ากัน แต่คดีนี้เมื่อคำนวณโทษปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งรวมอากรเข้าด้วยแล้วเป็นเงิน 4,371,199 บาท โทษปรับตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ซึ่งปรับไม่เกิน 500,000 บาท ย่อมเป็นคุณแก่ฝ่ายจำเลยมากกว่าโทษปรับตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด แต่การกำหนดความรับผิดในค่าปรับตามบทบัญญัติมาตรา 244 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 จะต้องกำหนดให้จำเลยทั้งสองรับผิดในลักษณะรวมกันตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 อันเป็นการใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า มีเหตุสมควรลงโทษจำเลยทั้งสองในสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า ไม้ประดู่แปรรูปของกลางที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไว้ในครอบครองมีจำนวนถึง 124 แผ่น มีปริมาตรมากถึง 15.250 ลูกบาศก์เมตร และจำเลยทั้งสองยังร่วมกันพยายามส่งออกไม้ประดู่แปรรูปดังกล่าวออกนอกราชอาณาจักรโดยสำแดงเท็จ พฤติการณ์แห่งความผิดเป็นการตัดไม้ทำลายป่าซึ่งเป็นเหตุให้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติถูกทำลายและสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของชาติโดยรวมนับว่าเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยที่ 2 ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อนหรือมีภาระเลี้ยงดูครอบครัวก็ยังไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ศาลล่างทั้งสองวางโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันมีไม้ประดู่แปรรูปอันเป็นไม้หวงห้ามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 800,000 บาท และวางโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ มีกำหนด 4 ปี นั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ส่วนที่ศาลล่างทั้งสองวางโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันมีไม้ประดู่แปรรูปอันเป็นไม้หวงห้ามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต 8 ปี ก่อนลดโทษให้นั้น นับว่าเป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษที่หนักเกินไป เห็นสมควรกำหนดโทษจำเลยที่ 2 สำหรับความผิดฐานดังกล่าวเสียใหม่ให้เหมาะสม ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ฐานร่วมกันพยายามส่งไม้ประดู่แปรรูปออกนอกราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 500,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี ส่วนฐานร่วมกันมีไม้ประดู่แปรรูปอันเป็นไม้หวงห้ามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 800,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 5 ปี ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานร่วมกันพยายามส่งไม้ประดู่แปรรูปออกนอกราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 250,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี ฐานร่วมกันมีไม้ประดู่แปรรูปอันเป็นไม้หวงห้ามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 400,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 6 เดือน รวมปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 650,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2