โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 185,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 130,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 มีนาคม 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนด ค่าทนายความให้ 3,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เสียเกินมา 2,400 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ จากโจทก์ในราคา 604,059.84 บาท ตกลงผ่อนชำระค่าเช่าซื้อรวม 72 งวด มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ภายหลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เพียง 25 งวด และผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 26 ประจำวันที่ 15 กันยายน 2558 เป็นต้นมา อันเป็นการผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวด ติดต่อกัน โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสี่โดยมีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2559 จากนั้นโจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสี่ให้ร่วมกันรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 390,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2559 โจทก์ติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนได้ และเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 โจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกขายทอดตลาดได้ เป็นเงิน 224,299.07 บาท หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2559 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้ราคารถยนต์ที่ขาดอยู่ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าขาดราคา 130,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย เนื่องจากไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดในค่าขาดราคารถยนต์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า มูลหนี้ราคาเช่าซื้อส่วนที่ขาดหรือค่าขาดราคาเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นเมื่อมีการเลิกสัญญาและผู้ให้เช่าซื้อได้กลับเข้าครอบครองรถแล้วแจ้งให้จำเลยทั้งสี่มีโอกาสซื้อรถยนต์ก่อนขายแก่บุคคลอื่น หลังจากจำเลยทั้งสี่ไม่ซื้อ โจทก์จึงขายทอดตลาดให้แก่บุคคลอื่น หนี้ค่าขาดราคาตามสัญญาก็จะเกิดขึ้น โจทก์จึงทราบว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์มีเท่าใด อันมิใช่ค่าสินไหมทดแทนอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังพ้นกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ แต่เป็นหนี้ประธาน นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า ก่อนคดีนี้ โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อ และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ผู้ค้ำประกัน ให้ร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน และให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน 390,000 บาท ตามคดีหมายเลขแดงที่ ผบ.2925/2559 ผลแห่งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงผูกพันคู่ความ และทำให้จำเลยทั้งสี่มีสถานะเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้มีการบังคับคดีต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 และมาตรา 274 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 นอกจากนี้ หากการละเลยเสียไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ของจำเลยทั้งสี่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นประการใด โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสี่เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นได้อีกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 215 ดังนั้น หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ผบ.2925/2559 แล้ว จำเลยทั้งสี่มิได้ปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษาโดยไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี และมิได้ใช้ราคาแทนรถยนต์ให้แก่โจทก์ กระทั่งโจทก์ต้องขวนขวายติดตามรถยนต์คืนมาในสภาพชำรุดเสียหายกันชนด้านหน้าและด้านหลังครูด ประตูด้านหน้าขวาบุบ เบาะขาด และช่วงล่างหลวม ทำให้เมื่อนำรถยนต์ออกขายทอดตลาดได้เงินจากการขายเพียง 224,299.07 บาท ต่ำกว่าราคารถยนต์ที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในคำพิพากษาในคดีก่อน กรณีจึงต้องถือว่าการละเลยเสียไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยทั้งสี่ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เป็นราคารถยนต์ส่วนที่ขาดไป ซึ่งจำเลยทั้งสี่ในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาผู้ละเลยต่อหน้าที่ของตนต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นค่าสินไหมทดแทนอันสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อน มิใช่ค่าเสียหายที่มีหลักแหล่งแห่งข้อหาตามสัญญาเช่าซื้อหรือข้ออ้างที่อาศัยความผูกพันกันตามสัญญาค้ำประกันซึ่งเลิกกันไปแล้ว และศาลชั้นต้นในคดีก่อนได้วินิจฉัยชี้ขาดจนเสร็จสิ้น กรณีจึงไม่มีเหตุที่ต้องพิจารณาถึงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบอกกล่าวผู้ค้ำประกันให้ทราบการผิดนัดของผู้เป็นลูกหนี้ว่าได้มีการบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยไว้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เพราะเหตุที่โจทก์มิได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ผู้ค้ำประกันทราบถึงการผิดนัดของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ จำเลยที่ 1 ผิดนัด เป็นผลให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนซึ่งละเลยการชำระหนี้และควรต้องรับผิดไม่แตกต่างไปจากจำเลยที่ 1 ต้องหลุดพ้นไปเสียจากความรับผิดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 และมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิมและบัญญัติให้ใช้ความใหม่ว่า ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยกฎหมายโดยชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี... และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว ให้ยกเลิกความในมาตรา 224 เดิมแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความใหม่ว่า หนี้เงินให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี... และพระราชกำหนดดังกล่าว มาตรา 7 บัญญัติให้ใช้บทบัญญัติตามมาตรา 224 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตามกฎหมายเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีบริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดราคา 130,000 บาท ต่อโจทก์ จึงเป็นหนี้เงิน โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ แต่ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่ ส่วนดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 โจทก์ยังคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 เดิม
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 130,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 มีนาคม 2561) จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ สำหรับดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปนั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนไปบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมเฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีและค่าทนายความแทนโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ