โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 3,424,714 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 2,978,013 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์แถลงว่าบริษัท ค. ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถบรรทุกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ 160,000 บาท ครบถ้วนเต็มจำนวนที่มีหน้าที่ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนจำนวน 300,011.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์แต่ไม่เกิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 200,000 บาท นับแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท สำหรับค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ยกเว้นนั้น ให้จำเลยทั้งสามนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสามฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถบรรทุก รถพ่วง จำเลยที่ 2 มีชื่อเป็นผู้ประกอบการขนส่งรถบรรทุกดังกล่าว และจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ค. เป็นผู้ใช้หรือจ้างวานให้จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกและรถพ่วงคันดังกล่าวในขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถบรรทุกคันดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกและรถพ่วงคันดังกล่าวบรรทุกอุปกรณ์ลิฟต์ใช้ในการก่อสร้างกลับมาเพื่อไปเก็บรักษาที่สำนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัด ค. ซึ่งอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ แต่รถพ่วงมีโครงเหล็กยื่นออกมาจากท้ายรถโดยไม่ติดสัญญาณไฟที่ปลายสุดของโครงเหล็กดังกล่าวไปตามถนนรังสิต - นครนายก ฝั่งขาออก ถึงที่เกิดเหตุบริเวณคลอง 11 หน้าหมู่บ้านเทพธารินทร์ เยื้องหมู่บ้านแพรมาพร จำเลยที่ 1 เลี้ยวกลับรถข้ามมายังถนนรังสิต - นครนายก ฝั่งขาเข้า ขณะนั้นโจทก์ขับรถจักรยานยนต์มาตามถนนรังสิต - นครนายก ฝั่งขาเข้า มองไม่เห็นโครงเหล็กที่ยื่นออกมาจากท้ายรถพ่วง ทำให้ใบหน้าโจทก์ปะทะเข้ากับโครงเหล็กที่ยื่นออกมาดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัสและรถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหาย ซึ่งโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญา และศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.4677/2560 ของศาลชั้นต้น คดีนี้จำเลยทั้งสามให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความละเมิดเพราะฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่วันเกิดเหตุละเมิด แต่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง จำเลยทั้งสามหาจำต้องอุทธรณ์ประเด็นนี้ไม่ แต่เมื่อโจทก์อุทธรณ์ในประเด็นอื่น จำเลยทั้งสามได้กล่าวคำแก้อุทธรณ์ว่าคำให้การของจำเลยทั้งสามชัดแจ้งและฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว คดีจึงมีประเด็นตามคำแก้อุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่วินิจฉัยให้ เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยก่อน เห็นว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะผู้กระทำละเมิด ให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะนายจ้างซึ่งต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง และให้จำเลยที่ 3 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัย จำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การชัดแจ้งว่า โจทก์รู้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เมื่อไร จำเลยที่ 3 ก็ไม่ได้ให้การชัดแจ้งเรื่องอายุความตามสัญญาประกันภัย ดังนี้ ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่า ตามคำให้การจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้น ชอบแล้ว สำหรับจำเลยที่ 1 ที่เป็นผู้กระทำละเมิด ตามคำให้การย่อมเป็นการแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้เป็นที่เข้าใจแล้วว่า นับแต่วันเกิดเหตุละเมิดถึงวันฟ้องคดีโจทก์ขาดอายุความ 1 ปีแล้ว เฉพาะคำให้การของจำเลยที่ 1 จึงชัดแจ้งชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง แล้ว ปัญหาเรื่องอายุความจึงเป็นประเด็นในคดี โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญา ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.4677/2560 ของศาลชั้นต้น กรณีจึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อปรากฏตามคำฟ้องว่า คดีอาญาถึงที่สุดก่อนโจทก์ฟ้องคดีแพ่ง การฟ้องคดีแพ่งย่อมมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายภายในกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสอง เมื่อโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าเป็นจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2559 อันเป็นวันเกิดเหตุละเมิด โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยทั้งสามที่ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมาว่า โจทก์เป็นฝ่ายประมาทมากกว่าจำเลยที่ 1 หรือไม่ และจำเลยทั้งสามต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพียงใด โดยจำเลยทั้งสามฎีกาว่า แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ติดสัญญาณไฟหรือเครื่องหมายอื่นใดที่โครงเหล็กที่ยื่นออกมา แต่โครงเหล็กดังกล่าวมิได้บดบังแสงไฟจากท้ายรถพ่วงที่ส่องออกมาให้รถอื่นเห็น นอกจากนี้ยังมีแสงไฟจากเสาไฟของถนนที่เกิดเหตุส่องอยู่และเสาไฟแต่ละต้นสามารถส่องสว่างให้เห็นได้ในระยะ 20 ถึง 30 เมตร โจทก์จึงเป็นฝ่ายประมาทมากกว่าจำเลยที่ 1 เห็นว่า เมื่อพิจารณาภาพถ่ายที่เกิดเหตุ ประกอบคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกประพันธ์ พยานจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้ตรวจสถานที่เกิดเหตุในคืนเกิดเหตุและเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่ไม่มีส่วนได้เสียกับคู่กรณีฝ่ายใด นับได้ว่าเป็นพยานคนกลาง ถ้อยคำจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ เมื่อพยานเบิกความยืนยันว่า บริเวณที่เกิดเหตุมีแสงไฟตามเสาไฟสาธารณะตลอดเส้นทาง แต่เป็นแสงไฟที่ค่อนข้างสลัว สามารถมองเห็นได้ในระยะ 20 ถึง 30 เมตร จึงเชื่อว่าถนนบริเวณที่เกิดเหตุมืดและมองเห็นได้ไม่ชัดเจน การที่จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกและรถพ่วงบรรทุกอุปกรณ์ลิฟต์มีโครงเหล็กยื่นออกมาจากท้ายรถพ่วงถึง 52 เซนติเมตร โดยไม่ติดไฟสัญญาณแสงแดงที่ปลายสุดของโครงเหล็กที่ยื่นออกมาให้ผู้ที่ขับรถตามหลังมาสามารถมองเห็นในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, มาตรา 152 แม้โจทก์จะมีส่วนประมาทด้วย แต่พฤติการณ์การขับรถของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำที่ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยสาธารณะ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาทมากกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์กึ่งหนึ่งของค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับ จึงชอบแล้ว ส่วนจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพียงใดนั้น เห็นว่า ค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดจะพึงใช้โดยสถานใด เพียงใดนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด แม้โจทก์ไม่นำสืบให้ศาลเห็นว่าขณะเกิดเหตุโจทก์มีสภาพเช่นใดและปัจจุบันโจทก์มีสภาพเช่นใดตามที่จำเลยทั้งสามฎีกา ศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ได้โดยวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด สำหรับค่าซ่อมรถจักรยานยนต์และค่ายกรถจักรยานยนต์นั้น แม้โจทก์มีพยานหลักฐานเพียงใบเสนอราคา ซึ่งมิใช่พยานหลักฐานการจ่ายเงินค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ แต่เมื่อพิจารณารายการซ่อม ตรงกับสภาพความเสียหายรถจักรยานยนต์ของโจทก์ จึงเชื่อว่าโจทก์ได้ซ่อมรถจักรยานยนต์และเสียค่าใช้จ่ายไปจริง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน 5,870 บาท จึงเหมาะสมแล้ว ส่วนค่ายกรถจักรยานยนต์ 1,600 บาท ที่โจทก์ขอมานั้น จำเลยทั้งสามฎีกาว่า รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวถูกยกขึ้นรถของพนักงานสอบสวนไปเก็บรักษาไว้สถานที่เก็บของพนักงานสอบสวน โจทก์จึงไม่เสียหายในส่วนนี้ เห็นว่า ตามฎีกาดังกล่าว แสดงว่า ภายหลังเกิดเหตุรถจักรยานยนต์ถูกยกไปจริง แม้โจทก์จะไม่มีใบเสร็จค่ายกรถมาแสดงก็มิใช่ว่าโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดค่าเสียหายเป็นค่ายกรถจักรยานยนต์จำนวน 1,600 บาท เหมาะสมแล้ว สำหรับค่ารักษาพยาบาลนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้นำเงินที่โจทก์ได้รับจากบริษัทประกันภัยมาหักออกจากค่ารักษาพยาบาลแล้ว คงเหลือจำนวนเงินที่โจทก์ได้ชำระไปจริง 232,553 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่ารักษาพยาบาลตามจำนวนที่โจทก์จ่ายไปจริง จึงชอบแล้ว ส่วนค่าเสียหายเป็นค่ารักษาพยาบาลในภายหน้าเป็นค่าผ่าตัดปลูกถ่ายกระดูกใบหน้าและศัลยกรรมใบหน้า 200,000 บาท ค่าผ่าตัดต่อเส้นเอ็นขาข้างซ้ายซึ่งฉีกขาด 80,000 บาท ค่าผ่าตัดขาข้างขวาเพื่อนำเหล็กที่ดามอยู่ภายในขาออก 80,000 บาท ค่าขาดรายได้ที่โจทก์ต้องออกจากงาน 60,000 บาท ค่าทนทุกข์ทรมาน 100,000 บาท และค่าจ้างผู้ดูแล 40,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดมานั้น เหมาะสมแล้ว เมื่อรวมค่าเสียหายทั้งหมดแล้ว เป็นเงินทั้งสิ้น 800,023 บาท จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดกึ่งหนึ่งของค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับดังวินิจฉัยไว้ข้างต้น เป็นเงิน 400,011.50 บาท เมื่อนำเงินที่โจทก์ได้รับจากจำเลยที่ 3 จำนวน 100,000 บาท มาหักออกจากค่าเสียหายดังกล่าวแล้ว คงเหลือค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ 300,011.50 บาท จำเลยที่ 2 มีชื่อเป็นผู้ประกอบการขนส่งรถบรรทุกคันเกิดเหตุ และจำเลยที่ 2 เป็นผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันเกิดเหตุไว้กับจำเลยที่ 3 แม้โจทก์จะไม่มีหลักฐานการเป็นนายจ้างลูกจ้างในเรื่องการจ่ายเงินเดือนหรือเรื่องการนำส่งเงินประกันสังคมระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาแสดงต่อศาล แต่จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีพยานหลักฐานใดมาแสดงหักล้างว่าเอกสารไม่ถูกต้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ประกอบการขนส่งรถบรรทุกคันเกิดเหตุเป็นผู้ใช้หรือจ้างวานให้จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกและรถพ่วงในขณะเกิดเหตุ จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ด้วยนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุน ไม่ใช่ผู้ทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดกับผู้ทำละเมิด จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่ทำละเมิด ประกอบกับหนี้หรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและโจทก์ไม่ได้ทวงถามจำเลยที่ 3 ให้ชำระหนี้ก่อน ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ตกเป็นผู้ผิดนัดมาก่อนที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้อง จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2559 ซึ่งเป็นวันทำละเมิด จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง และระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ซึ่งปัญหาการกำหนดดอกเบี้ยตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและกำหนดดอกเบี้ยเพื่อให้เป็นไปตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 300,011.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์แต่ไม่เกิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 200,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้นบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ