โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 10-5208 กรุงเทพมหานคร โดยเช่ามาจากบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกหกล้อหมายเลขทะเบียน 80-1020 สุโขทัยมีนายพิชัยฤกษ์ ประสบวงศ์หรือประสมวงศ์ เป็นผู้ขับและมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยนายบุญธรรม แก้วกำเนิด พนักงานขับรถของโจทก์ได้ขับรถยนต์โดยสารของโจทก์คันดังกล่าวรับผู้โดยสารจากจังหวัดอุตรดิตถ์ มุ่งหน้าไปกรุงเทพมหานคร นายพิชัยฤกษ์ขับรถยนต์บรรทุกแล่นตามหลังมาด้วยความประมาทเลินเล่อชนท้ายรถยนต์ โดยสารของโจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า นายพิชัยฤกษ์มิใช่ลูกจ้างกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า นายพิชัยฤกษ์มิใช่ลูกจ้างที่ทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 นายพิชัยฤกษ์ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ตามกฎหมาย ผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามสัญญาประกันภัย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติจากทางนำสืบของโจทก์จำเลยในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 10-5208 กรุงเทพมหานคร ระหว่างเกิดเหตุโจทก์เช่ามาจากบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด ตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 มีนายบุญธรรม แก้วกำเนิด เป็นพนักงานขับรถนายพิชัยฤกษ์ ประสบวงศ์หรือประสมวงศ์ ผู้ตายเป็นสามีจำเลยที่ 1ขณะเกิดเหตุนายพิชัยฤกษ์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกหกล้อหมายเลขทะเบียน 80-1020 สุโขทัย จำเลยที่ 2 รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวไว้จากนายพิชัยฤกษ์ซึ่งเอาประกันภัยในนามผู้ให้เช่าซื้อ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2524 เวลาประมาณ 10 นาฬิกาขณะที่นายบุญธรรมขับรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวของโจทก์ไปตามถนนสายศรีสัชนาลัย-สวรรคโลก จากทางอำเภอศรีสัชนาลัยมุ่งหน้าไปทางอำเภอสวรรคโลก มาถึงที่เกิดเหตุระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 14-15 ตำบลท่าชัย ซึ่งเป็นทางโค้งได้ถูกรถยนต์บรรทุกที่นายพิชัยฤกษ์ขับมาทิศทางเดียวกันชนที่ด้านขวา เป็นเหตุให้รถยนต์โดยสารของโจทก์ได้รับความเสียหาย และนายพิชัยฤกษ์ถึงแก่ความตายทันทีในที่เกิดเหตุ เหตุเกิดขึ้นเป็นเพราะความประมาทของนายพิชัยฤกษ์ นายพิชัยฤกษ์ไม่มีใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถของกรมการขนส่งทางบก คงมีแต่ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของกรมตำรวจเท่านั้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่านายพิชัยฤกษ์กับจำเลยที่ 1 ร่วมประกอบกิจการอันถือได้ว่าเป็นหุ้นส่วนกัน นายพิชัยฤกษ์ก่อเหตุละเมิดขณะกระทำภายในขอบวัตถุประสงค์แห่งกิจการของหุ้นส่วน จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์นั้น เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิด เนื่องจากนายพิชัยฤกษ์เป็นผู้ขับรถของจำเลยที่ 1 และขณะเกิดเหตุปฏิบัติงานในกิจการของจำเลยที่ 1 ซึ่งตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวพอถือได้ว่าโจทก์มุ่งหมายให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดในฐานะที่นายพิชัยฤกษ์เป็นตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่อาจแปลว่ามุ่งหมายให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดในฐานะหุ้นส่วนของนายพิชัยฤกษ์ด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดีว่านายพิชัยฤกษ์ ไม่ใช่ลูกจ้างปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 และศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นพิพาทในชั้นชี้สองสถานเพียงว่า นายพิชัยฤกษ์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และกระทำในทางการที่จ้างหรือไม่โจทก์ก็มิได้โต้แย้งคัดค้าน คดีจึงมีประเด็นพิพาทในส่วนที่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 เพียงเท่าที่ศาลชั้นต้นกำหนด การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์เนื่องจากเป็นหุ้นส่วนกับนายพิชัยฤกษ์และนายพิชัยฤกษ์ก่อเหตุละเมิดขณะกระทำภายในขอบวัตถุประสงค์ของหุ้นส่วน จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 มิใช่นายจ้างของนายพิชัยฤกษ์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิด ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกหกล้อคันหมายเลขทะเบียน 80-1020สุโขทัย ที่นายพิชัยฤกษ์ผู้ตายขับไปเกิดเหตุ จะต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วยหรือไม่ ปัญหาข้อนี้โจทก์ฎีกาว่า แม้นายพิชัยฤกษ์จะได้ขับรถคันที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันวินาศภัยไว้โดยมิได้มีใบอนุญาตให้เป็นผู้ขับรถจากนายทะเบียน ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 93 แต่นายพิชัยฤกษ์มีใบอนุญาตขับขี่ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 (ที่ถูกพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522) จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันค้ำจุนไว้ก็จะต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย เห็นว่า แม้ในกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 2.11.7 มีเงื่อนไขยกเว้นไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจากการขับขี่โดยบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ขับรถยนต์ตามกฎหมายหรือเคยได้รับแต่ถูกตัดสิทธิตามกฎหมาย การมีเงื่อนไขดังกล่าวก็เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่มีความสามารถทำการขับรถยนต์ที่เอาประกันภัยเพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย อันจะทำให้จำเลยที่ 2 ต้องเสี่ยงภัยมากขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายพิชัยฤกษ์ได้รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของกรมตำรวจ ย่อมมีความรู้ความสามารถในการขับรถยนต์ได้ แม้ไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถของกรมการขนส่งทางบก ก็จะถือว่าเป็นการผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยมิได้ จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 2ไม่ต้องร่วมรับผิด ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย"
พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2ชำระเงินจำนวน 22,320 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์