ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ผลของมติคณะรัฐมนตรีต่อสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจหลังเปลี่ยนสถานะ - เงินช่วยเหลือพิเศษและค่าจ้าง
++ เรื่อง คดีแรงงาน ++
++ คดีแดงที่ 5489-5494/2543
++ ทดสอบการทำงานในระบบ CW เพื่อค้นหาข้อมูลทาง online ++
++ ย่อข้อกฎหมายอย่างไม่เป็นทางการ
++ ขอชุดตรวจได้ที่งานย่อข้อกฎหมายระบบ CW โถงกลางชั้น 3 ++
++
++
++ ข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งหกต่างเป็นลูกจ้างจำเลย ทำงานติดต่อกันมาคนละครบ 10 ปีขึ้นไป มีอายุครบเกณฑ์เกษียณอายุตามระเบียบของจำเลยในปี 2541 เดิมจำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด
++ มีข้อบังคับการทำงานเกี่ยวกับการพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานเพราะเกษียณอายุ การจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานที่เกษียณอายุและการจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษให้แก่พนักงานที่ทำงานจนถึงเดือนธันวาคมว่า พนักงานที่มีอายุครบเกณฑ์เกษียณอายุในปีใดให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ในวันที่ 31 ธันวาคมของปีนั้น โดยจำเลยจะจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานที่เกษียณอายุตามกฎหมายแรงงานและจะจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษให้แก่พนักงานที่ทำงานจนถึงเดือนธันวาคมตามที่คณะกรรมการบริหารกำหนดเป็นคราว ๆ
++ ซึ่งปรากฏว่า ในปี 2541 จำเลยจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษให้แก่พนักงานที่ทำงานจนถึงเดือนธันวาคม 2541 เท่ากับเงินเดือนคนละ 1 เดือน
++ ประมาณกลางปี 2541 ธนาคารแห่งประเทศไทยโดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้เข้าถือหุ้นของจำเลยเกินร้อยละห้าสิบ มีผลทำให้จำเลยเปลี่ยนสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจและโจทก์ทั้งหกเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 และระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534
++ ซึ่งสรุปได้ว่า พนักงานที่เกษียณอายุในปีใดให้พ้นจากตำแหน่งในวันที่ 30 กันยายน ของปีนั้น และถ้าพนักงานนั้นได้ปฏิบัติงานในช่วงก่อนเกษียณอายุติดต่อกันครบ 5 ปีขึ้นไป ให้ได้รับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้าย180 วัน ถ้ารัฐวิสาหกิจใดมีระเบียบในการจ่ายเงินค่าชดเชยกรณีพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุ ให้ถือว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดที่จ่ายให้เพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานแล้ว
++ ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม 2541 จำเลยออกคำสั่งให้โจทก์ทั้งหกพ้นจากการเป็นพนักงานเนื่องจากเกษียณอายุในวันที่ 1ตุลาคม 2541 ครั้นเดือนกันยายน 2541 กระทรวงการคลังทำเรื่องหารือคณะรัฐมนตรีขอยกเว้นให้สถาบันการเงินที่ถูกกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าถือหุ้นเกินกว่าร้อยละห้าสิบไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง กฎ ระเบียบและมติคณะรัฐมนตรีที่ใช้บังคับแก่รัฐวิสาหกิจทั่วไป ตามเอกสารหมาย จ.ล.2 คณะรัฐมนตรีมีมติให้สถาบันการเงินดังกล่าวได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการในเรื่องเงินเดือน สวัสดิการ และผลประโยชน์ค่าตอบแทนของพนักงาน โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และหรือเงื่อนไขการจ้างเดิมของสถาบันการเงินนั้น ตามเอกสารหมายจ.ล.3
++
++ มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหกและจำเลยว่า มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวมีผลทำให้สิทธิเกี่ยวกับการพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานเนื่องจากการเกษียณอายุ และสิทธิได้รับค่าชดเชยของโจทก์ทั้งหกยังคงมีอยู่ตามข้อบังคับการทำงานของจำเลยเดิมหรือไม่
++
++ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้มติคณะรัฐมนตรีจะไม่ใช่กฎหมาย ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกฎหมายได้ แต่จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ และโจทก์ทั้งหกเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของมติคณะรัฐมนตรี เว้นเสียแต่ว่ามติคณะรัฐมนตรีนั้นจะฝ่าฝืนต่อกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรีตามเอกสารหมาย จ.ล.3 เป็นมติที่เกิดขึ้นและอนุวัตตามการขอยกเว้นให้สถาบันการเงินที่ถูกกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าถือหุ้นเกินกว่าร้อยละห้าสิบไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง กฎ ระเบียบและมติคณะรัฐมนตรีที่ใช้บังคับแก่รัฐวิสาหกิจทั่วไปของกระทรวงการคลัง ตามเอกสารหมาย จ.ล.2 ซึ่งมีเจตนาให้ลูกจ้างที่เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจโดยผลของการเปลี่ยนแปลงสถานะของจำเลยไม่ต้องเสียสิทธิประโยชน์ที่เคยได้รับอยู่ก่อน ทั้งมติคณะรัฐมนตรีที่กล่าวมานี้มิได้ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย จึงมีผลใช้บังคับ
++ แต่มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับคดีนี้ให้จำเลยได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และหรือเงื่อนไขในการจ้างเดิมของจำเลยเฉพาะแต่ในเรื่องเงินเดือน สวัสดิการ และผลประโยชน์ค่าตอบแทนของพนักงานตามที่ปรากฏอยู่ในเอกสารหมาย จ.ล.2 ข้อ 2.3.2 เท่านั้น หาได้ยกเว้นให้ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ใช้บังคับแก่โจทก์ทั้งหกและจำเลยด้วยไม่
++ ดังจะเห็นได้จากข้อความในเอกสารหมาย จ.ล.2 ข้อ 2.4 ที่มติคณะรัฐมนตรี ตามเอกสารหมาย จ.ล.3ระบุถึง
++ ดังนั้น สิทธิเกี่ยวกับการพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานเนื่องจากการเกษียณอายุและสิทธิที่จะได้รับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานของโจทก์ทั้งหก จึงต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 และระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องมาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534
++ กล่าวคือ โจทก์ทั้งหกต้องพ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยเนื่องจากเกษียณอายุในวันที่ 30 กันยายน2541 และมีสิทธิได้รับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
++ จำเลยจึงมีสิทธิให้โจทก์ทั้งหกพ้นจากการเป็นพนักงานในวันที่ 1ตุลาคม 2541 ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2541 ถึงวันที่31 ธันวาคม 2541 ให้โจทก์ทั้งหก
++ เมื่อโจทก์ทั้งหกไม่มีสิทธิทำงานจนถึงเดือนธันวาคม2541 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษให้แก่โจทก์ทั้งหก
++ และการที่จำเลยจ่ายค่าชดเชยกรณีพ้นจากตำแหน่งหน้าที่เพราะเหตุเกษียณอายุให้โจทก์ทั้งหกเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน ถือได้ว่าเป็นการจ่ายเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานถูกต้องแล้ว
++ เมื่อจำเลยไม่ต้องจ่ายเงินใด ๆ ให้โจทก์ทั้งหกอีก จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าภาษีเงินได้สำหรับเงินนั้นให้โจทก์ทั้งหก