โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 20,457,863.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ของต้นเงิน 8,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งห้าให้การในทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภค พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2550 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ธนาคารประเภทสัญญาการใช้วงเงินตั๋วเงิน ในวงเงิน 8,000,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 และนายยิ่งยง เป็นผู้ค้ำประกันได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคารยอมรับว่า ณ วันที่ 9 สิงหาคม 2550 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้วงเงินขายตั๋ว P/N ต่อ BOT เป็นต้นเงิน 4,400,000 บาท ดอกเบี้ยค้างชำระ 9,643.36 บาท และหนี้วงเงินขายตั๋ว P/N ต่อ BAY เป็นต้นเงิน 3,600,000 บาท ดอกเบี้ยค้างชำระ 30,760.29 บาท ต่อมาวันที่ 15 กรกฎาคม 2553 โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ดังกล่าวจากธนาคารและโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องและบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้ไปยังจำเลยทั้งห้า แต่จำเลยทั้งห้าเพิกเฉย ภายหลังจากนั้น วันที่ 30 กันยายน 2554 นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครขีดชื่อจำเลยที่ 1 ออกจากทะเบียน โจทก์จึงยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นายทะเบียนจดชื่อจำเลยที่ 1 กลับคืนสู่ทะเบียน ระหว่างไต่สวนคำร้อง โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้าเป็นคดีนี้ ครั้นวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครจดชื่อจำเลยที่ 1 กลับคืนสู่ทะเบียน และให้ถือว่าบริษัทจำเลยที่ 1 ยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกจากทะเบียน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1273/3 และมาตรา 1273/4 จะบัญญัติหลักเกณฑ์ไว้ว่า ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทย่อมสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกเสียจากทะเบียนและห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ถูกขีดชื่อจะกลับคืนสู่ทะเบียนมีฐานะนิติบุคคลอีกครั้งต่อเมื่อศาลสั่งให้จดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน โดยให้ถือว่าห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย แต่เมื่อในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 อันเป็นวันที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยที่ 1 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีฐานะนิติบุคคลที่โจทก์จะฟ้องคดีได้ การที่ต่อมาในระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครจดชื่อจำเลยที่ 1 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียน เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 อันเป็นผลให้ถือว่าจำเลยที่ 1 คงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกจากทะเบียนเลยก็ตามดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1273/4 แต่ผลของกฎหมายที่กำหนดให้ถือว่าบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย เป็นเพียงการรับรองสภาพนิติบุคคลภายหลังจากศาลมีคำสั่งเท่านั้น หามีผลทำให้โจทก์ซึ่งไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ต้นกลับกลายเป็นมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้โดยชอบแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภค เห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการสุดท้ายว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยทั้งห้ายกข้อต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความเพื่อปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์ ประเด็นข้อพิพาทว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ย่อมเป็นภาระการพิสูจน์ของโจทก์ที่ต้องพิสูจน์ให้ได้ความจริงว่า ฟ้องของตนไม่ขาดอายุความ หากโจทก์ไม่นำสืบหรือนำสืบไม่ได้ ย่อมต้องถือว่าคดีโจทก์ขาดอายุความและศาลไม่อาจพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ ในข้อนี้ แม้โจทก์จะนำสืบอ้างว่า ภายหลังจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคารซึ่งเป็นเจ้าหนี้เดิม จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่ธนาคารครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2550 เป็นเงิน 15,000 บาท และหากนับจากวันดังกล่าวถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้าในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 อันเป็นวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการ จึงไม่ทำให้คดีโจทก์ขาดอายุความ แต่เมื่อข้อเท็จจริงสำคัญเกี่ยวกับการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2550 ซึ่งมีผลต่อการนับอายุความใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามที่โจทก์กล่าวอ้างและนำสืบมานั้น โจทก์คงมีคำพยานของนางสาวนงนุช พนักงานติดตามเร่งรัดหนี้สินของโจทก์มาเบิกความ โดยไม่ปรากฏว่านางสาวนงนุชเป็นพยานผู้รู้เห็นหรือเกี่ยวข้องโดยตรงในการรับชำระหนี้รายนี้แต่อย่างใด แม้โจทก์จะอ้างอิงรายการคำนวณภาระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยค้างรับ เป็นพยานหลักฐานสนับสนุนถ้อยคำของนางสาวนงนุช และเอกสารดังกล่าวมีรายการนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากสอดคล้องกับเอกสารที่ธนาคารเจ้าหนี้เดิมส่งต่อศาลชั้นต้นตามคำสั่งเรียกพยานเอกสารฉบับลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2561 ที่ระบุรายการเคลื่อนไหวของบัญชีอันเป็นบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ว่า วันที่ 19 พฤศจิกายน 2550 มีการนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากจำนวน 15,000 บาท แต่เอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นเอกสารที่ฝ่ายเจ้าหนี้เป็นผู้จัดทำขึ้นเองฝ่ายเดียว ทั้งยังไม่มีข้อความตอนใดในเอกสารที่จะพิสูจน์หรือยืนยันได้ว่า รายการนำเงินเข้าบัญชี 15,000 บาท เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2550 เป็นการกระทำของฝ่ายจำเลยทั้งห้าผู้เป็นลูกหนี้หรือเกิดจากการชำระหนี้ของบุคคลใด ประกอบกับโจทก์ไม่มีหลักฐานการนำเงินเข้าฝากมาแสดงและมิได้ติดตามพยานที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการจัดทำเอกสารหรือการรับชำระหนี้มาเบิกความเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงกับให้โอกาสจำเลยทั้งห้าซึ่งปฏิเสธเรื่องการชำระหนี้ได้ซักค้านหาความจริงตามกระบวนความ ลำพังคำพยานบุคคลและพยานเอกสารของโจทก์เท่าที่นำสืบมาจึงนับว่ายังมีข้อควรตำหนิและไม่พึงเชื่อถือรับฟังเป็นแน่นอนตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์ได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า ภายหลังจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต่อธนาคารจำเลยที่ 1 หรือลูกหนี้คนใดได้ชำระหนี้ตามสัญญาให้แก่ธนาคารเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2550 การที่จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระดอกเบี้ยของงวดถัดจากวันทำสัญญา คือ วันที่ 31 ตุลาคม 2550 และตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ข้อ 5 ระบุว่า หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด เช่นนี้สิทธิเรียกร้องของธนาคารที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ย่อมเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 เมื่อโจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องของธนาคาร นำคดีมาฟ้องวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 ล่วงพ้นกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ดังที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษามาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ