โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ตำแหน่งนายไปรษณีย์โทรเลข ระดับ 4 ประจำที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขพระโขนง มีหน้าที่รับเงินค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศและค่าบริการโทรคมนาคม รวมทั้งงานบริการตู้ไปรษณีย์เช่า จำเลยที่ 2เป็นลูกจ้างโจทก์ ตำแหน่งนายไปรษณีย์โทรเลข ระดับ 7หัวหน้าที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขพระโขนง มีหน้าที่บริหารงานและควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขพระโขนงทั้งหมด ระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2531 ถึงวันที่27 กุมภาพันธ์ 2533 จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต กล่าวคือจำเลยที่ 1 รับเงินค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศและค่าบริการโทรคมนาคมจากผู้ใช้บริการหลายราย หลายรายการจำนวน1,628,669.90 บาท และรับเงินค่ามัดจำกุญแจค่าเช่าตู้ไปรษณีย์และค่าต่ออายุการเช่าตู้ไปรษณีย์เช่าจากผู้ใช้บริการจำนวน 1,200 บาทแล้วเบียดบังเอาเงินดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ของตน การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานแก่โจทก์จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ระมัดระวัง ดูแล ควบคุมมิให้จำเลยที่ 1ทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการประมาทเลินเล่อบกพร่องต่อหน้าที่ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของโจทก์เป็นการละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานแก่โจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,485,551.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 1,629,869.90 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำหน้าที่ด้วยความระมัดระวังรอบคอบ โดยแบ่งงานในหน้าที่รับผิดชอบให้หัวหน้าแผนกต่าง ๆ คอยควบคุมดูแลให้การทำงานเป็นไปตามระเบียบงานในหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มีหัวหน้าแผนกควบคุมดูแลคือนายชูศักดิ์ เทพสำราญ และมีนางลัดดาวัลย์ เทพบุตร เป็นผู้ควบคุมจำเลยที่ 1 อีกคนหนึ่ง ในการสอบสวนคณะกรรมการลงความเห็นว่านางลัดดาวัลย์ไม่มีความผิดในการทำงาน เมื่อนางลัดดาวัลย์ไม่มีความผิด จำเลยที่ 2 เป็นผู้บังคับบัญชีนางลัดดาวัลย์อีกชั้นหนึ่งย่อมไม่ต้องรับผิดในการกระทำของจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 มิได้ประมาทเลินเล่อ ทำละเมิดต่อโจทก์ แต่เป็นหน้าที่ของนางลัดดาวัลย์ต้องคอยควบคุมจำเลยที่ 1 ให้ส่งเงินทุกเย็นแก่ผู้รักษาเงิน จำเลยที่ 2 เคยตักเตือนจำเลยที่ 1กับนางลัดดาวัลย์ ให้ทำงานให้เป็นไปตามระเบียบ แต่ก็มีเรื่องที่จำเลยที่ 1 ทุจริต ซึ่งจำเลยที่ 2 ใช้ความระมัดระวังอย่างดีที่สุดแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิด โจทก์ไม่สามารถเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 2 ได้เนื่องจากเมื่อเกษียณอายุ จำเลยที่ 2 เคยขอรับบำเหน็จและเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานรวมเป็นเงิน 1,156,954.17 บาท แต่โจทก์ไม่จ่ายให้อ้างว่าได้หักเงินจำนวนนี้ใช้หนี้ดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน1,629,869.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดด้วยจำนวน 543,489.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 2 จะชำระต้นเงินจำนวน 543,489.96 บาท แก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลาง คือคำสั่งงดสืบพยานและไม่อนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ฉบับลงวันที่ 2 กันยายน 2539และวันที่ 10 ตุลาคม 2539 ว่าโจทก์ได้โต้แย้งคัดค้านไว้แล้วและแม้ว่าเป็นพยานเกี่ยวกับความเห็นในการให้ผู้ใดรับผิดในทางแพ่งหรือไม่ แต่เหตุผลต่าง ๆ ล้วนสำคัญใช้ในการวินิจฉัยคดีได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาจะต้องรับผิดเต็มวงเงินอย่างไรและนางลัดดาวัลย์ไม่ต้องรับผิดอย่างไร การงดสืบพยานทำให้โจทก์เสียเปรียบ ขอให้เพิกถอนคำสั่งงดสืบพยานแล้วอนุญาตให้โจทก์นำพยานดังกล่าวเข้าสืบต่อไป เห็นว่า คำสั่งงดสืบพยานโจทก์ของศาลแรงงานกลางในรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 2 กันยายน2539 และคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม(ครั้งที่ 3) ลงวันที่ 2 กันยายน 2539 ต่างเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาแต่โจทก์ไม่ได้คัดค้านคำสั่งของศาลแรงงานกลางไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 226 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 อนึ่ง สำหรับพยานตามบัญชีระบุเพิ่มเติม (ครั้งที่ 3) ลงวันที่ 2 กันยายน 2539 นั้นปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางลงวันที่3 กันยายน 2539 ศาลแรงงานกลางได้นำเอกสารทั้งชุดที่โจทก์อ้างมาให้จำเลยที่ 2 ตรวจดูและจำเลยที่ 2 รับว่าเอกสารจำนวน 31 แผ่นเป็นระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งของโจทก์จริง ศาลแรงงานกลางจึงรับเอกสารดังกล่าวไว้หมาย จ.4 เช่นนี้ จึงไม่มีเหตุที่จะอุทธรณ์ในส่วนนี้ ดังนั้นในปัญหาที่โจทก์อุทธรณ์เรื่องงดสืบพยานและไม่อนุญาตให้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของศาลแรงงานกลางดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
สำหรับปัญหาเรื่องศาลแรงงานกลางสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ตามคำร้องลงวันที่ 10 ตุลาคม 2539ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า เอกสารที่จะอ้างเพิ่มเติมเป็นเพียงหนังสือของผู้ว่าการการสื่อสารแห่งประเทศไทยมีไปถึงอัยการสูงสุดเพื่อให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง มิได้เป็นพยานพิสูจน์ประเด็นโดยตรงจึงไม่อนุญาตให้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมนั้น เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ที่ระบุเพิ่มเติมเข้าลักษณะเป็นพยานที่ไม่จำเป็นจะต้องสืบศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจไม่อนุญาตให้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคท้าย ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 อุทธรณ์โจทก์โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวจึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจของศาลแรงงานกลางในการสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมเพราะเป็นพยานที่ไม่จำเป็นต้องสืบ เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนปัญหาเรื่องที่ศาลแรงงานกลางสั่งงดสืบพยานโจทก์ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 10 ตุลาคม 2539 โดยศาลแรงงานกลางสั่งงดสืบพยานโจทก์ 3 ปาก คือนายจิรายุสม์ กาญจนนินธุ นายชัชวาลย์ มุขมา และนายชนะ บุษบงค์ ซึ่งจะเบิกความทำนองเดียวกับนายจีรศักดิ์ เรืองเวช พยานโจทก์ซึ่งเบิกความไปก่อนแล้ว เห็นว่า เข้าลักษณะพยานฟุ่มเฟือยเกินสมควรศาลแรงงานจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจงดสืบพยานดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 การที่โจทก์อุทธรณ์คัดค้านจึงเป็นอุทธรณ์คัดค้านดุลพินิจของศาลแรงงานกลางในการสั่งงดสืบพยาน เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยอีกเช่นกัน
ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อต่อมาที่ว่า จำเลยที 2 ในฐานะผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วมเต็มตามฟ้องกับจำเลยที่ 1 เห็นว่า ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งนายไปรษณีย์โทรเลข ระดับ 4ประจำที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขพระโขนง มีหน้าที่รับเงินค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศและค่าบริการโทรคมนาคมรวมทั้งค่าบริการตู้ไปรษณีย์เช่า จำเลยที่ 1 รับเงินค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศและค่าบริการโทรคมนาคมจำนวน 1,628,669.90 บาท และรับเงินค่าเช่าตู้ไปรษณีย์ไว้ 1,200 บาท แล้วจำเลยที่ 1 ยักยอกเงินดังกล่าวไป ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งนายไปรษณีย์โทรเลข ระดับ 7 เป็นหัวหน้าที่ทำการไปรษณีย์พระโขนง มีหน้าที่บริหารงานและควบคุมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขพระโขนงทั้งหมดรวมทั้งจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อหรือบกพร่องต่อหน้าที่ในการบริหารและควบคุมการปฏิบัติงานทำให้จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินดังกล่าวของโจทก์ไป แสดงว่าจำเลยที่ 2 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1ยักยอกเงินของโจทก์แต่อย่างใด การกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสองของโจทก์ จึงต่างคนต่างทำละเมิด รวมทั้งเป็นการทำผิดสัญญาจ้างต่อโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยทั้งสอง ผลแห่งความรับผิดในความเสียหายต่อโจทก์จึงแบ่งแยกกันได้ จำเลยที่ 2 ไม่ใช่ลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที 1 ที่จะต้องร่วมรับผิดในค่าเสียหายต่อโจทก์เต็มตามที่จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินของโจทก์ไปตามฟ้อง ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 2 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยการประมาทเลินเล่อหรือบกพร่องต่อหน้าที่ดังกล่าวมาแล้ว การที่ศาลแรงงานกลางกำหนดให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายเพียงหนึ่งในสามของค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศและค่าบริการโทรคมนาคมที่จำเลยที่ 1ยักยอกไปก็ดี รับผิดชำระค่าเสียหายเพียงกึ่งหนึ่งของค่าเช่าตู้ไปรษณีย์ที่จำเลยที่ 1 ยักยอกไปก็ดี ล้วนเป็นอำนาจของศาลแรงงานกลางที่กำหนดเช่นนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 438 และเมื่อจำเลยที่ 2 มิได้เป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1ก็มีอำนาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291, 296, 297 และ 301 มาบังคับแก่กรณีของจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 2 เป็นแต่เพียงผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 เท่านั้น จึงไม่อาจอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425, 427, 430มาบังคับแก่จำเลยที่ 2 เพื่อให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ได้แต่อย่างใด
พิพากษายืน