โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 288
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) ประกอบมาตรา 69 ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี คำให้การของจำเลยในชั้นจับกุมชั้นสอบสวน และชั้นศาลเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลย 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) และให้คืนมีดพร้าของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงยุติในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยไปทวงเงินค่าหมูจำนวน 125 บาท จากนางทองนุ้ยเป็นไฝ ผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายไม่ให้จึงเกิดโต้เถียงกัน ผู้เสียหายหยิบมีดพร้าของกลาง จำเลยเข้าแย่งมีดพร้าจากผู้เสียหาย ต่อมาปรากฏว่าผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลที่บริเวณหน้าอก แขน และขา รายละเอียดบาดแผลตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหาย นายบุญมีหรือศรี และนางฉลวยพรือพิน เป็นพยานเบิกความในทำนองเดียวกันว่าหลังจากผู้เสียหายกับจำเลยโต้เถียงกันแล้ว ผู้เสียหายหยิบมีดพร้าของกลางขึ้นมาจำเลยเข้าไปชกผู้เสียหายและแย่งมีดพร้าดังกล่าวไปจากผู้เสียหาย หลังจากนั้นได้ใช้มีดพร้าฟันไปที่ผู้เสียหายถูกที่บริเวณหน้าอก แขน และขา เห็นว่า พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกันและพยานโจทก์ดังกล่าวเป็นญาติของจำเลย จึงไม่มีเหตุให้ระแวงว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลย นอกจากนี้ยังได้ความจากร้อยตำรวจเอกณรงค์ พนักงานสอบสวน พยานโจทก์ว่า ในชั้นสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยว่าพยายามฆ่าผู้เสียหาย จำเลยให้การรับสารภาพว่า จำเลยใช้มีดพร้าของกลางฟันผู้เสียหายหลายครั้ง ตามบันทึกคำให้การ ประกอบกับเมื่อพิจารณาตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ปรากฏว่าผู้เสียหายมีบาดแผลหลายแห่ง โดยเฉพาะบาดแผลฉีกขาดรุ่งริ่งที่แขนซ้ายลึกถึงกล้ามเนื้อยาว 25 เซนติเมตร ซึ่งก็สอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจทก์ ที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยขว้างมีดพร้าของกลางใส่ผู้เสียหายเพียงครั้งเดียวนั้น ขัดต่อร่องรอยบาดแผลตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์จึงมีน้ำหนักน้อย พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยใช้มีดพร้าของกลางฟันผู้เสียหาย และได้ความว่าเมื่อจำเลยแย่งมีดพร้าของกลางจากผู้เสียหายแล้ว ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายจะทำร้ายจำเลยจึงไม่มีภัยอันจะเป็นการละเมิดต่อกฎหมายการที่จำเลยใช้มีดพร้าของกลางฟันผู้เสียหาย จึงไม่เป็นการป้องกัน ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ลงโทษจำเลยเหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยแล้ว และตามพฤติการณ์แห่งคดียังไม่มีเหตุอันควรรอการลงโทษจำคุก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 โดยมิได้บรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายได้รับอันตรวยสาหัสอย่างไร อีกทั้งตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ซึ่งแนบมาท้ายคำฟ้องและถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องก็ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บถึงทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงในทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาทำร้าย ศาลจึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) ได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินกว่าที่กล่าวในคำฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง คงลงโทษได้เพียงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 เท่านั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเห็นสมควรกำหนดโทษจำเลยเสียใหม่ให้เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดี"
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ลงโทษจำคุก 8 เดือน เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9