โจทก์ทั้งสี่ร้อยสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ 29/2561 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2561 และบังคับจำเลยที่ 2 จ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี พร้อมดอกเบี้ย ตามคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์แต่ละคน
จำเลยที่ 1 ทุกสำนวนให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ทุกสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 1 พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ 29/2561 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2561 และให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมดอกเบี้ย ตามคำพิพากษาของศาลแรงงานภาค 1
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงาน พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสี่ร้อย
โจทก์ทั้งสี่ร้อยฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ร้อยข้อแรกว่า จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ร้อยหรือไม่ เห็นว่า การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 เด็ดขาด มีผลเพียงทำให้จำเลยที่ 2 ไม่อาจดำเนินกิจการได้ด้วยตนเอง ต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ดำเนินการแทนตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 หามีผลทำให้ความเป็นนิติบุคคลของจำเลยที่ 2 และความสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างกับโจทก์ทั้งสี่ร้อยซึ่งเป็นลูกจ้างสิ้นสุดหรือระงับลงในทันทีเพราะเหตุที่จำเลยที่ 2 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดไม่ ดังนั้น ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 ซึ่งเป็นวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 2 ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ร้อยในวันดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดี เมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า ภายหลังจากวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 เด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่เคยเข้าไปในสถานที่ทำงานของจำเลยที่ 2 หรือจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และไม่ได้กระทำการใดที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของจำเลยที่ 2 ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป จนกระทั่งเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างในวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งสี่ร้อย พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ประสงค์ให้โจทก์ทั้งสี่ร้อยซึ่งเป็นลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ อันเป็นการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ร้อย โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ตามมาตรา 118 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ร้อยในข้อนี้ฟังขึ้น ข้ออ้างอื่นของโจทก์ทั้งสี่ร้อยไม่จำต้องวินิจฉัยอีก เพราะไม่ทำให้ผลคดีในส่วนนี้เปลี่ยนแปลง
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ร้อยข้อต่อไปว่า มีเหตุเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจำเลยที่ 1 หรือไม่ และโจทก์ทั้งสี่ร้อยมีสิทธิได้รับค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือไม่ เพียงใด สำหรับค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติได้ความว่า จำเลยที่ 2 ตกลงจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งสี่ร้อยเดือนละครั้งในวันที่ 30 ของทุกเดือน การที่จำเลยที่ 2 โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ร้อยในวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 อันเป็นวันครบกำหนดจ่ายค่าจ้าง จึงเป็นการเลิกจ้างโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าและโจทก์ทั้งสี่ร้อยไม่ได้กระทำความผิด จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งสี่ร้อยเท่ากับค่าจ้างที่โจทก์แต่ละคนควรได้รับนับแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2560 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ซึ่งจะเท่ากับค่าจ้างจำนวนหนึ่งงวดการจ่ายค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างที่ปรากฏในคำฟ้องของโจทก์แต่ละคนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง และวรรคสาม ที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งว่า โจทก์ทั้งสี่ร้อยไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น จึงไม่ถูกต้อง ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนี้เงิน โจทก์ทั้งสี่ร้อยจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกรณีดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดของค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในขณะเกิดเหตุคดีนี้ และเมื่อโจทก์ทั้งสี่ร้อยขอคิดดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ศาลฎีกาจึงกำหนดให้ตามขอ อย่างไรก็ตาม เมื่อในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นมา โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ตามที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความผ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) มาตรา 246 และมาตรา 252 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 57/1 วรรคสอง โจทก์ทั้งสี่ร้อยจึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยของค่าจ้างแทน การบอกกล่าวล่วงหน้าในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละคน ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 (ที่แก้ไขใหม่) และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละคน นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่ร้อย ส่วนค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น เห็นว่า เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วว่า ภายหลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ร้อยโดยโจทก์ทั้งสี่ร้อยไม่ได้กระทำความผิด ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่มีสิทธิได้รับแก่โจทก์ทั้งสี่ร้อยตามที่โจทก์ทั้งสี่ร้อยมีสิทธิได้รับเงินในแต่ละประเภท คำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ว่า โจทก์ทั้งสี่ร้อยไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จึงไม่ถูกต้อง สำหรับจำนวนค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่จำเลยที่ 2 จะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสี่ร้อย ตามที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับเงินในแต่ละประเภทนั้น ในส่วนของการคำนวณค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (เดิม) อายุงานของโจทก์ที่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยต้องเริ่มนับตั้งแต่วันเข้าทำงานตามคำฟ้องของโจทก์แต่ละคนที่มีสิทธิได้รับจนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ส่วนค่าจ้างอัตราสุดท้ายให้ถือตามคำฟ้องของโจทก์แต่ละคนที่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ส่วนการคำนวณค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง จำนวนวันหยุดพักผ่อนประจำปีคงเหลือในปี 2560 ของโจทก์ที่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวให้นับถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 และอัตราค่าจ้างให้ถือตามคำฟ้องของโจทก์แต่ละคน ที่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว และเมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วว่า วันที่ 30 พฤษภาคม 2560 เป็นวันเลิกจ้าง ซึ่งอาจทำให้โจทก์บางคนมีสิทธิได้รับค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นจำนวนตามที่กฎหมายกำหนดเกินไปกว่าที่โจทก์แต่ละคนที่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวขอมาในคำฟ้องได้ ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรม อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 ประกอบมาตรา 57/1 วรรคสอง เห็นควรพิพากษาให้โจทก์ที่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว ซึ่งเมื่อคำนวณค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนตามที่กฎหมายกำหนดแล้วจะได้รับเงินเป็นจำนวนที่เกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง ก็ให้โจทก์ดังกล่าวนั้นมีสิทธิได้รับค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นจำนวนเงินตามที่กฎหมายกำหนด และแม้โจทก์ที่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จะมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากต้นเงินค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (เดิม) โดยค่าชดเชยมีสิทธิได้รับนับแต่วันเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (เดิม) ส่วนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีมีสิทธิได้รับเมื่อพ้นกำหนดสามวันนับแต่วันเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 70 วรรคสอง (เดิม) ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ที่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว มีคำขอดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวมานับแต่วันฟ้อง จึงเห็นควรกำหนดให้ตามที่ขอ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสี่ร้อยไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และคำสั่งของจำเลยที่ 1 ชอบแล้วนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ร้อยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ 29/2561 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2561 ของจำเลยที่ 1 ในส่วนของโจทก์ทั้งสี่ร้อย และให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงินเท่ากับค่าจ้างจำนวนหนึ่งงวดการจ่ายค่าจ้าง โดยคำนวณจากอัตราค่าจ้างที่ปรากฏในคำฟ้องของโจทก์แต่ละคน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านับแต่วันฟ้อง (วันที่ 27 เมษายน 2561) เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่ร้อย ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้นบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละคน ให้จ่ายค่าชดเชยเป็นเงินจำนวนเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายตามจำนวนวันที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) (เดิม) โดยการคำนวณค่าชดเชย อายุงานให้คิดจากระยะเวลาการทำงานของโจทก์แต่ละคนที่มีสิทธิได้รับนับถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 สำหรับค่าจ้างอัตราสุดท้ายให้เป็นไปตามที่ปรากฏในคำฟ้องของโจทก์แต่ละคนที่มีสิทธิได้รับ กับจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนเป็นจำนวนเงินเท่ากับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่พึงมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง โดยการคำนวณวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนให้นับถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ส่วนอัตราค่าจ้างสุดท้ายที่นำมาคำนวณ จำนวนเงินที่พึงได้รับให้เป็นไปตามที่ปรากฏในคำฟ้องของโจทก์แต่ละคนที่มีสิทธิได้รับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งสี่ร้อยตามที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับเงินในแต่ละประเภท โดยให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการจ่ายจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2