โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินจำนวน 2,003,481 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 200,000 บาท และจำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องชำระให้แก่โจทก์ นับแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 6,000 บาท
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์รับประกันภัยสินค้าเนื้อไก่แช่แข็งในระหว่างการขนส่ง จำนวน 1,800 กล่อง (18 ตัน) ไว้จากบริษัทซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด จำนวนเงินประกันภัย 2,216,434 บาท โดยจำเลยที่ 1 ตัวแทนของบริษัทฮันจิ้น ชิปปิ้ง จำกัด ผู้ขนส่ง เป็นผู้จัดหาตู้สินค้าห้องเย็น หมายเลข HJCU 6966102 ซึ่งสามารถควบคุมอุณหภูมิตามที่กำหนดไว้ตามมาตรฐานสินค้าแช่แข็งส่งออกไปบรรจุสินค้าดังกล่าวจากโรงงานของผู้เอาประกันภัยในจังหวัดสระบุรีแล้วขนส่งไปยังท่าเรือกรุงเทพเพื่อส่งออกไปประเทศอังกฤษ ตู้สินค้าห้องเย็นดังกล่าวผ่านการตรวจสอบชั้นนอก เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2546 เวลา 15.05 นาฬิกา ในวันเดียวกันเวลาประมาณ 23 นาฬิกา นายบุญยืน พนักงานของจำเลยที่ 2 ขับรถยกตู้สินค้าตู้อื่นชนตู้สินค้าห้องเย็นหมายเลข HJCU 6966102 ที่บรรจุสินค้าเนื้อไก่แช่แข็งของผู้เอาประกันภัย ทำให้ตู้สินค้าห้องเย็นฉีกขาดเสียหาย มีการตรวจสอบสินค้าที่ห้องเย็นปิติในวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 โดยบริษัทแอสโซซิเอเต็ดมารีนเซอร์เวเยอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ตัวแทนของโจทก์ กับบริษัทคาร์โก้ เซอร์เวย์ แอนด์ เคลม คอนซัลแตนท์ จำกัด ตัวแทนของจำเลยที่ 1 ได้ข้อมูลใกล้เคียงกันว่าตู้สินค้าห้องเย็นนี้ตั้งอุณหภูมิไว้ที่ ลบ 24 องศาเซลเซียส แต่แผ่นบันทึกข้อมูลอุณหภูมิที่ติดอยู่กับตู้แสดงอุณหภูมิภายในตู้ที่ประมาณ ลบ 15 องศาเซลเซียส กับ ลบ 13 องศาเซลเซียส เท่านั้น และกล่องบรรจุสินค้าที่วางอยู่ใกล้ผนังตู้ที่เสียหายบุบ 30 กล่อง กับ 36 กล่อง การสุ่มตรวจอุณหภูมิสินค้าปรากฏว่า มีอุณหภูมิระหว่าง ลบ 8.8 องศาเซลเซียส ถึง ลบ 16.2 องศาเซลเซียส กับ ลบ 8 องศาเซลเซียส ถึง ลบ 16.2 องศาเซลเซียส ตามลำดับ และมีการระงับการส่งออกสินค้าดังกล่าว ต่อมาโจทก์ได้ประมูลขายสินค้าเป็นซากสินค้าได้เงิน 585,584.17 บาท แล้วชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยจำนวน 1,630,849.83 บาท
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 มีหน้าที่รักษาอุณหภูมิของสินค้าอันต้องรับผิดต่อโจทก์ และสินค้าได้รับความเสียหายมีสภาพไม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานการส่งออกหรือไม่ เห็นว่า จากรายงานของโรงงานปรากฏว่า อุณหภูมิสินค้าก่อนและระหว่างบรรจุเข้าตู้สินค้าห้องเย็นอยู่ที่ ลบ 18 องศาเซลเซียส การที่สินค้ามีอุณหภูมิสูงขึ้นเป็นระหว่าง ลบ 8.8 องศาเซลเซียส ถึง ลบ 16.2 องศาเซลเซียส บ่งชี้ว่าสินค้าได้รับผลกระทบจากการที่อุณหภูมิสูงกว่า ลบ 18 องศาเซลเซียส และไม่ตรงตามข้อกำหนดและมาตรฐานสินค้าของผู้เอาประกันภัย เมื่อพิจารณาจากอุณหภูมิที่สูงของสินค้าผู้เอาประกันภัยเชื่อมั่นว่าสินค้าคงจะได้รับผลกระทบ และเพื่อพิสูจน์สภาพสินค้า ผู้เอาประกันภัยได้สุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าเพื่อตรวจวิเคราะห์ในห้องทดลอง ผลการตรวจวิเคราะห์ปรากฏว่า โตเติ้ลเพลดเค้า ยีสต์และโมลด์ของตัวอย่างไม่เข้าตามมาตรฐานที่กำหนด และตามรายงานของผู้เอาประกันภัยแจ้งว่าในการนำสินค้าบรรจุในตู้สินค้าห้องเย็นกำหนดอุณหภูมิภายในตู้ ลบ 24 องศาเซลเซียส ซึ่งตรงกับค่าอุณหภูมิที่ตั้งตู้สินค้าห้องเย็นไว้ ดังนั้น เมื่อผู้เอาประกันภัยกับจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงกันว่าอุณหภูมิภายในตู้สินค้าห้องเย็นต้องอยู่ในระดับ ลบ 24 องศาเซลเซียส เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถดูแลรักษาอุณหภูมิสินค้าให้เป็นไปตามที่ตกลงไว้ จึงเป็นการปฏิบัติผิดสัญญา ทำให้สินค้าไม่ได้มาตรฐานสินค้าแช่แข็งส่งออกของผู้เอาประกันภัยซึ่งอาจมีมาตรฐานสูงกว่ามาตรฐานของกรมปศุสัตว์หรือเจ้าของสินค้ารายอื่น จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จะอ้างมาตรฐานของกรมปศุสัตว์มากล่าวอ้างให้ไม่ต้องรับผิดชอบตามสัญญาไม่ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ เพียงใด เห็นว่า คดีนี้เหตุเกิดวันที่ 18 กรกฎาคม 2546 เวลาประมาณ 23 นาฬิกา หลังจากนั้นวันที่ 21 กรกฎาคม 2546 นายจุลดิสถ์ ตัวแทนโจทก์จึงไปสำรวจสภาพตู้สินค้าห้องเย็น ณ ที่เกิดเหตุโดยตรวจสอบแผนภูมิแสดงอุณหภูมิภายในตู้สินค้าห้องเย็นแล้วพบว่า เครื่องทำความเย็นยังคงทำงาน แต่อุณหภูมิภายในตู้สินค้าห้องเย็นวัดได้ ลบ 15 องศาเซลเซียส ทั้งที่กำหนดความเย็นของอุณหภูมิภายในตู้สินค้าห้องเย็นไว้ที่ ลบ 24 องศาเซลเซียส จึงรายงานให้โจทก์และผู้เอาประกันภัยทราบ วันที่ 22 กรกฎาคม 2546 จึงมีการนำตู้สินค้าห้องเย็นออกจากท่าเรือกรุงเทพเพื่อนำไปตรวจสอบสินค้า โดยผู้เอาประกันภัยเป็นผู้ชำระค่ารับฝากตู้สินค้าห้องเย็นให้แก่จำเลยที่ 2 และได้ความว่า พนักงานของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับรถเฉี่ยวชนตู้สินค้าห้องเย็นที่บรรจุสินค้าจนชำรุดอันเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสินค้าในตู้โดยตรง ทั้งจำเลยที่ 2 ย่อมทราบดีว่าสินค้าที่บรรจุในตู้สินค้าห้องเย็นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่รักษาอุณหภูมิภายในตู้ให้ได้ตามที่กำหนดไว้เสมอ เมื่อจำเลยที่ 2 ได้ทำให้ตู้สินค้าห้องเย็นนี้เสียหายก็มีหน้าที่ต้องแก้ไขซ่อมแซมเพื่อป้องกันมิให้สินค้าเสียหาย โดยหากจำเลยที่ 2 รีบซ่อมแซมอย่างเหมาะสมด้วยวิธีเพียงใช้แผ่นโลหะปะเข้าแทนที่ในส่วนที่ผนังตู้ขาดด้านนอกแล้วยึดแผ่นโลหะด้วยวิธียิงด้วยเครื่องยิงหมุดแล้วฉีดโฟมเข้าไปในช่องว่างระหว่างโลหะด้านในและด้านนอกเฉพาะจุดที่ฉีกขาดนั้น อันเป็นวิธีการดังที่นายกัมปนาท เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 10 นักวิชาการโท (กฎหมาย) ของจำเลยที่ 2 ให้ความเห็นไว้ในบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า สามารถทำได้โดยง่าย ใช้เวลาเพียง 10 นาที เท่านั้น ก็น่าเชื่อว่าจะบรรเทาความเสียหายได้มาก แต่จำเลยที่ 2 กลับปล่อยให้ตู้สินค้าห้องเย็นมีส่วนที่ชำรุดถึงโลหะชั้นในและไม่มีฉนวนกันความร้อนเป็นเวลานานถึง 10 ชั่วโมง พนักงานของจำเลยที่ 2 จึงมาช่วยซ่อมแซมตู้สินค้าห้องเย็น แต่ก็ทำเพียงนำแผ่นฟอยล์ซึ่งมีแถบกาวมาปิดทับผนังตู้สินค้าห้องเย็นตรงที่ได้รับความเสียหายให้เท่านั้น ซึ่งเห็นได้ว่าไม่ใช่วิธีการแก้ไขที่ถูกต้อง ส่วนจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ตามสัญญาที่ทำไว้กับผู้เอาประกันภัยในอันที่จะต้องดูแลรักษาตู้สินค้าห้องเย็นให้สินค้าของผู้เอาประกันภัยอยู่ในสภาพที่ดีมีอุณหภูมิตามที่ตั้งค่าที่ตู้สินค้าห้องเย็นไว้ ลบ 24 องศาเซลเซียส ได้ทราบเหตุตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2546 ก็ดำเนินการเพียงแจ้งให้ผู้เอาประกันภัยทราบ และร่วมกับนายสมจิตรนำแผ่นฟอยล์ซึ่งมีแถบกาวไปปิดตู้สินค้าห้องเย็นตรงที่ได้รับความเสียหายเท่านั้น หลังจากนั้นได้แต่ตรวจสอบระบบการทำงานของเครื่องทำความเย็น โดยไม่ดำเนินการเยียวยาอย่างอื่น ถือได้ว่ายังไม่ได้กระทำการให้เพียงพอแก่หน้าที่ในอันที่จะรักษาอุณหภูมิสินค้าให้ได้ตามที่สัญญาไว้ อันถือได้ว่าเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าฝ่ายผู้เอาประกันภัยนั้นได้รับแจ้งเหตุจากนายวันดีตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2546 เวลา 9 นาฬิกา จนวันที่ 21 กรกฎาคม 2546 จึงส่งนายจุลดิสถ์ไปสำรวจความเสียหายของตู้สินค้าห้องเย็น และตัดสินใจนำตู้สินค้าห้องเย็นพิพาทออกจากท่าเรือกรุงเทพในวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 ทั้งยังจัดประมูลขายซากสินค้าในวันที่ 3 และ 9 กันยายน 2546 อันเป็นระยะเวลาที่ล่าช้าไปอีกประมาณ 40 ถึง 50 วัน และขายได้เพียง 585,584.17 บาท โดยสินค้านี้เป็นอาหารประเภทเนื้อไก่แช่แข็งอันควรรีบขายโดยเร็ว การปล่อยเวลาให้เนิ่นนานไปโดยไม่ปรากฏเหตุจำเป็นเช่นนี้ ย่อมมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจะทำให้ขายสินค้าในราคาต่ำกว่าที่ควรจะขายได้ จึงเห็นว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้นอกจากจะเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 2 รวมทั้งจำเลยที่ 1 แล้ว ผู้เอาประกันภัยก็มีส่วนปล่อยเวลาให้ล่วงเลยทำให้มูลค่าของสินค้าพิพาทลดลงจนเป็นความเสียหายสูงขึ้นด้วย
ดังนั้น ในการที่จะให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เอาประกันภัยรวมถึงโจทก์ผู้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยจะเป็นจำนวนมากน้อยเพียงใดนั้นย่อมต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 223 ทั้งการจะให้บุคคลหลายคนต้องรับผิดร่วมกันในหนี้จำนวนหนึ่งอย่างลูกหนี้ร่วมต้องเป็นไปโดยนิติกรรมหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีผลให้บุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดร่วมกันโดยสิ้นเชิงหรือลูกหนี้ร่วม แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจัดหาตู้สินค้าห้องเย็นและขนส่งไปยังท่าเรือโดยมีหน้าที่ดูแลรักษาอุณหภูมิในตู้สินค้าห้องเย็นให้เหมาะสมในการเก็บรักษาสินค้าในตู้ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ดูแลรักษาอุณหภูมิในตู้เพื่อให้สินค้าปลอดภัย จนเป็นเหตุให้สินค้าเสียหาย แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดด้วยก็ตาม แต่ตามข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องและที่รับฟังได้ดังกล่าวก็เห็นได้ว่า เหตุที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ก็เพราะการไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลรักษาอุณหภูมิตู้สินค้าห้องเย็นที่บรรจุสินค้าให้เหมาะสมตามหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามสัญญานั่นเอง จึงเป็นกรณีที่ต้องรับผิดตามสัญญาดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น และเป็นการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องภายหลังจากที่พนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดโดยกระทำโดยประมาททำให้สินค้าเสียหาย จึงไม่ใช่กรณีร่วมกันทำละเมิด หากแต่เป็นกรณีที่มูลแห่งความรับผิดของจำเลยที่ 1 กับที่ 2 แตกต่างกัน มีผลต่อความเสียหายคนละส่วนต่างกันย่อมไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องร่วมกันรับผิดในหนี้ค่าเสียหายต่อโจทก์และไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันจะถือให้ความรับผิดในลักษณะแตกต่างกันเช่นนี้ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน ทั้งนี้โดยเมื่อคำนึงถึงส่วนที่ผู้เอาประกันภัยมีส่วนผิดด้วยแล้ว สมควรกำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 1,000,000 บาท ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงส่วนแห่งการกระทำและมูลเหตุแห่งความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว เห็นควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ 300,000 บาท และให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ 700,000 บาท ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินให้แก่โจทก์ 200,000 บาท และให้จำเลยที่ 2 ชดใช้เงินให้แก่โจทก์ 100,000 บาท นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 300,000 บาท และให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 700,000 บาท แก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่แต่ละคนต้องรับผิดนับตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางแทนโจทก์ โดยในส่วนค่าขึ้นศาลให้แต่ละคนใช้แทนตามส่วนแห่งทุนทรัพย์ในจำนวนเท่าที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์นี้และค่าทนายความให้เป็นพับ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง