โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ไล่โจทก์ออกจากงาน และให้จำเลยปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ด้วยการรับโจทก์ทั้งสองกลับเจ้าทำงานตามเดิมโดยลงโทษเพียงลดขั้นเงินเดือน และนับอายุการทำงานต่อเนื่องกัน
จำเลยให้การว่า โจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จึงได้ไล่โจทก์ออกจากงานคณะกรรมการอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงขัดต่อพยานหลักฐานและกำหนดโทษขัดต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลย จำเลยจึงมีคำสั่งยืนยันลงโทษโจทก์ทั้งสองตามคำสั่งเดิม การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งสองสำนวนเป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ทำหน้าที่เห็นพนักงานขับรถ โจทก์ทั้งสองสำนวนกับพวกฝ่าฝืนระเบียบของจำเลยโดยละทิ้งหน้าที่และยินยอมให้บุคคลภายนอกปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานขับรถแทน ทำให้รถเกิดอุบัติเหตุให้บุคคลอื่นได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตาย จำเลยจึงแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดของโจทก์ทั้งสองสำนวน ในที่สุดจำเลยลงโทษไล่โจทก์ทั้งสองออกจากงานตามคำสั่งที่ 994/2527 ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2527 โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลยตามระเบียบพนักงานขนส่ง จำกัดพุทธศักราช 2522 คณะกรรมการอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยให้รับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงานตามเดม โดยให้ลงโทษเพียงลดขึ้นเงินเดือน 1 ขั้นแต่ผู้จัดการของจำเลยไม่เห็นชอบด้วย จึงมีคำสั่งยืนยันลงโทษโจทก์ตามคำสั่งเดิม และแจ้งมติคำวินิจฉัยไปยังโจทก์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม2528 ปัญหาว่ากรณีที่คณะกรรมการอุทธรณ์วินิจฉัยเปลี่ยนแปลงคำสั่งลงโทษของจำเลย จำเลยผูกพันต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า ระเบียบพนักงานบริษัทขนส่ง จำกัด พุทธศักราช2522 เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จึงมีผลใช้บังคับแก่นายจ้างและลูกจ้าง ตามระเบียบดังกล่าวซึ่งกำหนดไว้ในหมวด 9 การอุทธรณ์ข้อ95 ที่ระบุว่า "ผู้ถูกลงโทษอาจอุทธรณ์คำสั่งลงโทษโดยทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของวผู้อุทธรณ์แสดงพยานหลักฐานและเหตุผลที่ยื่นต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ภายในหกสิบวันจากวันทราบคำสั่งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด คณะกรรมการอุทธรณ์ให้แต่งตั้งโดยประธานกรรมการหรือผู้จัดการแล้วแต่กรณี" นั้น เป็นบทกำหนดคุ้มครองลุกจ้างผู้ถูกลงโทษให้ได้รับความเป็นธรรมยิ่งขึ้น โดยให้ลูกจ้างผู้ถูกลงโทษมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งลงโทษไปยังคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ในกรณีที่เห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม แม้ตามระเบียบจะมิได้กำหนดไว้ชัดแจ้งว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ให้มีผลผูกมัดจำเลยหรือจำเลยต้องปฏิบัติตามก็ตามแ ต่การที่จำเลยกำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งลงโทษไปยังคณะกรรมการอุทธรณ์ซึ่งแต่งตั้งขึ้นโดยประธานกรรมการหรือผู้จัดการของจำเลยนั้น เห็นได้ในตัวว่าถ้าคณะกรรมการอุทธรณ์วินิจฉัยเปลี่ยนแปลงคำสั่งลงโทษของจำเลยเป็นประการใดแล้ว จำเลยยอมรับที่จะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์มิฉะนั้น ข้อกำหนดดังกล่าวก็ไม่มีประโยชน์แต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดไว้ จริงอยู่อำนาจการลงโทษพนักงานหรือลูกจ้างนั้นเป็นอำนาจโดยเด็ดขาดของผู้จัดการแต่ผู้เดียวดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย ไม่ใช่อำนาจของคณะกรรมการอุทธรณ์ แต่การปฏิบัติงานหรือการสั่งลงโทษของผู้จัดการก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับของระเบียบฉบับนี้เช่นเดียวกัน ผู้จัดการหามีอำนาจลงโทษพนักงานหรือลูกจ้างตามความพอใจของตนได้ไม่ เมื่อระเบียบของจำเลยกำหนดวิธีการลงโทษและวิธีการอุทธรณ์เป็นขั้นตอนไว้และลูกจ้างได้ปฏิบัติตามขั้นตอนแล้ว จำเลยผูกพันต้องปฏิบัติไปตามระเบียบที่กำหนดไว้ ศาลฎีกาจึงเห็นว่า จำเลยผูกพันต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ เมื่อคณะกรรมการอุทธรณ์วินิจฉัยให้รับโจทก์ทั้งสองสำนวนกลับเข้าทำงานตามเดิม โดยให้ลงโทษเพียงลดขั้นเงินเดือนคนละ 1 ขั้น การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามเป็นการไม่ชอบด้วยระเบียบ คำสั่งของจำเลยที่ 994/2527 ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2527และหนังสือแจ้งมติหรือคำวินิจฉัยของจำเลย ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2528เป็นคำสั่งและหนังสือไม่ชอบไม่มีผลใช้บังคับ ศาลฎีกาต้องเพิกถอนอุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 994/2527 ลงวันที่ 6ธันวาคม 2527 และหนังสือแจ้งมติหรือคำวินิจฉัยของจำเลยฉบับลงวันที่5 ตุลาคม 2528 โดยให้จำเลยมีสิทธิลงโทษโจทก์ทั้งสองสำนวนด้วยการลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น ให้จำเลยรับโจทก์ทั้งสองสำนวนกลับเข้าทำงานตามเดิม และนับอายุการทำงานต่อจากอายุการทำงานเดิม.