โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องโดยขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 137, 273, 274 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 107, 108, 109 และมีคำสั่งให้จำเลยระงับหรือละเว้นการปลอม เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 116
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 274 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109, 116 การกระทำเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหมายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ปรับ 90,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 8 เดือน ปรับ 60,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกรอการลงโทษไว้ 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนเป็นระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยระงับหรือละเว้นการปลอม เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสอง คำขออื่นให้ยก
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 274 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 107, 109 การกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองเป็นเครื่องหมายการค้ารูปตา 1 ตา และเครื่องหมายการค้ารูปนกอินทรี 1 ตัว และจำเลยได้ทำเครื่องหมายการค้ารูปตา 3 ตา ประกอบกับนกอินทรี 3 ตัว แต่ลักษณะดวงตามีรัศมี 19 เส้น เหมือนรูปตาตามเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสอง และรูปนกอินทรีก็ถือกิ่งไม้ 1 กิ่ง กับลูกศร 3 ดอก เหมือนรูปนกอินทรีตามเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองเช่นกันคงต่างกันแต่จำนวนดวงตาและจำนวนนกอินทรีเท่านั้น หากนำมาใช้กับสินค้าประเภทเดียวกันย่อมอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ จึงนับได้ว่าการที่จำเลยทำเครื่องหมายการค้ารูปตา 3 ตา ประกอบกับนกอินทรี 3 ตัว ซึ่งจำเลยจัดทำโดยเรียงรูปออกเป็น 2 ลักษณะ จำนวน 2 เครื่องหมาย ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองนี้เป็นการเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองที่ได้จดทะเบียนไว้ในประเทศไทยดังกล่าวข้างต้นแล้ว แต่การกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดข้อหาเลียนเครื่องหมายการค้าตามฟ้องก็ต่อเมื่อเป็นการเลียนโดยมีเจตนาพิเศษที่จะทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสอง ซึ่งในส่วนความผิดข้อหาเลียนเครื่องหมายการค้าตามคำฟ้อง ข้อ 3 (ก) นั้น ปรากฏข้อเท็จจริงตามที่ศาลล่างทั้งสองฟังมาว่า จำเลยได้ทำเครื่องหมายการค้ารูป 3 ตา ประกอบกับนกอินทรี 3 ตัว ซึ่งแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองเพียงจำนวนตาและนกอินทรีเท่านั้น จึงคล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองถึงขนาดที่จะทำให้ประชาชนหลงผิดได้ชัดเจน และยังปรากฏว่าจำเลยได้นำไปใช้กับสินค้าของจำเลยนำออกจำหน่าย อันเป็นข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นได้ถึงเจตนาของจำเลยที่จะทำให้ประชาชนสับสน หลงผิด หลงเชื่อว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยทำเลียนขึ้นและนำไปใช้กับสินค้านั้นเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองได้อย่างชัดเจนอยู่ในตัวแล้วย่อมเป็นความผิดตามคำฟ้องข้อ 3 (ก) นี้ได้ ทั้งนี้โดยไม่จำต้องคำนึงถึงกรณีที่จำเลยทำเลียนเครื่องหมายการค้านั้นแล้วจำเลยจะนำไปขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้หรือไม่ หรือนายทะเบียนจะรับจดทะเบียนให้หรือไม่ และเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดข้อหาเลียนเครื่องหมายการค้าตามคำฟ้องข้อ 3 (ก) นี้โดยอาศัยข้อเท็จจริงที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้านำออกจำหน่ายดังกล่าว และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ลงโทษจำเลยในความผิดกรรมนี้ กับให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก ที่จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้องในความผิดตามคำฟ้องข้อ 3 (ก) โดยอ้างว่า จำเลยไม่ได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงของศาลอุทธรณ์ อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนในความผิดข้อหาเลียนเครื่องหมายการค้าตามคำฟ้องข้อ 3 (ข) ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง เท่ากับพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และที่โจทก์ทั้งสองฎีกาเกี่ยวกับความผิดข้อหานี้ว่า เมื่อจำเลยทำเครื่องหมายการค้ารูปตา 3 ตา ประกอบกับรูปนกอินทรี 3 ตัว อีกเครื่องหมายหนึ่งตามคำฟ้องข้อ 3 (ข) ก็ถือว่าจำเลยมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองอันเป็นความผิดข้อหาเลียนเครื่องหมายการค้าสำเร็จแล้ว ไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องนำเครื่องหมายการค้านี้ไปใช้กับสินค้าแต่อย่างใด นั้น เห็นว่า ในความผิดข้อหานี้โจทก์ทั้งสองจะต้องนำสืบพยานหลักฐานให้ฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า การที่จำเลยทำเครื่องหมายการค้าโดยเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองนี้ จำเลยกระทำโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองอันเป็นองค์ประกอบของความผิดข้อหาเลียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแล้ว เมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองเพียงว่า จำเลยทำเครื่องหมายการค้า เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองขึ้น แต่ไม่ได้นำไปใช้กับสินค้าเพื่อนำออกจำหน่ายแก่ประชาชนเลย โดยจำเลยเพียงแต่นำไปยื่นขอจดทะเบียนเท่านั้น ครั้นเมื่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่รับจดทะเบียนให้จำเลยก็ไม่ได้นำไปใช้กับสินค้านำออกจำหน่าย ซึ่งพฤติการณ์ตามข้อเท็จจริงเช่นนี้ยังไม่เป็นการบ่งชี้ว่า ในการที่จำเลยทำรูปเครื่องหมายการค้าดังกล่าวขึ้นมานั้น จำเลยมีเจตนาให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองหรือจำเลยเพียงแต่จะลองนำไปยื่นขอจดทะเบียนแล้วรอดูผลว่านายทะเบียนจะยอมรับจดทะเบียนให้หรือไม่เสียก่อน ซึ่งไม่แน่ว่าจำเลยจะนำเครื่องหมายการค้านั้นไปใช้จริงหรือไม่ ทั้งตามพฤติการณ์ดังกล่าวก็ไม่อาจอนุมานว่าจำเลยมีเจตนาจะนำเครื่องหมายการค้าที่จำเลยทำขึ้นนี้ไปใช้กับสินค้านำออกจำหน่ายมาแต่แรกให้เป็นผลร้ายแก่จำเลย นอกจากนี้โจทก์ก็ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมานำสืบแสดงให้เห็นได้ชัดว่าจำเลยมีเจตนาทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยทำขึ้นเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ กรณีจึงมีเหตุสงสัยตามสมควร ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษดังกล่าว จำเลยย่อมไม่มีความผิดตามคำฟ้องข้อ 3 (ข)
สำหรับความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน ในการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามคำฟ้องข้อ 3 (ค) และ (ง) นั้น โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิด โดยจำเลยแจ้งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าว่าจำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จำเลยยื่นขอจดทะเบียน 2 ครั้ง ในวันที่ 22 เมษายน 2536 และวันที่ 18 เมษายน 2538 ซึ่งแยกเป็น 2 เครื่องหมาย ทั้งที่จำเลยทราบอยู่แล้วว่าเครื่องหมายการค้า 2 เครื่องหมายนี้เป็นของโจทก์ แต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายที่จำเลยยื่นขอจดทะเบียนดังกล่าวนั้น เป็นเพียงเครื่องหมายการค้าที่จำเลยทำเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสอง โดยเครื่องหมายการค้าที่จำเลยทำเลียนขึ้นนั้น ในภาพรวมของแต่ละเครื่องหมายมีลักษณะเพียงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์เท่านั้น ไม่ได้เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองทุกประการจนถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยยื่นขอจดทะเบียนทั้งสองเครื่องหมายนี้เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสอง จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามคำฟ้อง ข้อ 3 (ค) และ (ง) และแม้จำเลยไม่ได้ยกปัญหานี้มาโดยตรงก็ตาม แต่เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นว่า การกระทำของจำเลยดังกล่าวไม่เป็นความผิด ก็ย่อมพิพากษายกฟ้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบด้วยมาตรา 215 และ มาตรา 225 และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ทั้งสองและฎีกาของจำเลยเกี่ยวกับความผิดข้อหานี้ในประการอื่นอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่าจำเลยกระทำความผิดตามคำฟ้องข้อ 3 (ก) (ข) (ค) (ง) รวม 4 ข้อหา เป็นความผิด 4 กรรม ต้องลงโทษทุกกรรมรวม 4 กรรม นั้น เมื่อได้วินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดตามคำฟ้องข้อ 3 (ก) เพียงข้อหาเดียวเท่านั้นแล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวนี้อีกต่อไป
ตามบทบัญญัติมาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ที่บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีหลักฐานโดยชัดแจ้งว่า มีผู้กระทำการหรือกำลังกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 108 มาตรา 109 หรือมาตรา 110 เจ้าของเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วม อาจขอให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลดังกล่าวระงับหรือละเว้นการกระทำดังกล่าวนั้นได้" นั้น เป็นบทบัญญัติที่กำหนดมาตรการป้องกันความเสียหายโดยให้สิทธิแก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ที่ปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสอง อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 หรือมาตรา 109 ระงับหรือละเว้นการปลอม เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองต่อไปได้ เพื่อป้องกันความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองที่จะเกิดขึ้นจากการปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าของตนเท่านั้น มิใช่เป็นบทกำหนดโทษสำหรับลงโทษแก่จำเลยผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 แต่อย่างใด อย่างไรก็ตามในการขอให้ศาลบังคับตามมาตรา 116 ดังกล่าวนี้ แม้โจทก์จะมีคำขอมาท้ายคำฟ้องคดีนี้ก่อนวันที่ข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ของอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ซึ่งออกตามความในมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การยื่นคำขอและการพิจารณาคำขอดังกล่าวไว้ในข้อ 12 ถึง 19 มีผลใช้บังคับก็ตาม แต่การที่โจทก์ทั้งสองจะขอให้ศาลบังคับตามมาตรา 116 นี้ก็ต้องปรากฏในขณะที่ยื่นคำขอว่าจำเลยได้กระทำการหรือกำลังจะกระทำการปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสอง เมื่อปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองมีคำขอดังกล่าวมาท้ายคำฟ้องซึ่งบรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดข้อหาปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองระหว่างเดือนมกราคม 2536 ถึงปลายเดือนมกราคม 2540 อันเป็นการแสดงว่าจำเลยกระทำการดังกล่าวเสร็จสิ้นไปก่อนวันที่โจทก์มีคำขอมาท้ายคำฟ้องประมาณ 7 เดือน ไม่ใช่กรณีที่กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำการหรือกำลังจะกระทำการดังกล่าวในขณะที่โจทก์มีคำขอให้ศาลบังคับตามมาตรา 116 คำขอของโจทก์ทั้งสองเช่นนี้จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 116 ดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาบังคับให้จำเลยระงับหรือละเว้นการปลอม เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ซึ่งกรณีเช่นนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดข้อหาเลียนเครื่องหมายการค้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 274 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109 ตามคำฟ้องข้อ 3 (ก) เพียงข้อหาเดียวข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.