โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าทดแทน 300,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้มีคำสั่งห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวกับนาย ล. สามีโจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าทดแทน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 มิถุนายน 2563) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ยกเว้นให้จำเลยนำมาชำระต่อศาลในนามโจทก์เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก (ที่ถูก ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ยกเว้นให้จำเลยนำมาชำระต่อศาลในนามโจทก์เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ)
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าทดแทน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 มิถุนายน 2563) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้โต้แย้งว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนาย ล. จดทะเบียนสมรสกันที่สำนักงานเขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลย หรือไม่ เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสาม บัญญัติว่า "ถ้าสามีหรือภริยายินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้อีกฝ่ายหนึ่งกระทำการตามมาตรา 1516 (1) หรือให้ผู้อื่นกระทำการตามวรรคสอง สามีหรือภริยานั้นจะเรียกค่าทดแทนไม่ได้" อันเป็นบทบัญญัติยกเว้นความรับผิด หากคู่สมรสอีกฝ่ายยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้ผู้อื่น หรือคู่สมรสอีกฝ่ายกระทำการเช่นว่านั้นก็ตาม แต่จำเลยมิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยให้ได้ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ที่บรรยายฟ้องในข้อ 2 ว่า "เมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2559 โจทก์ระแคะระคายว่านาย ล. เลี้ยงดูผู้หญิงหลายคน แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นใครบ้าง และต่อมาสืบทราบว่าเป็นจำเลยด้วย ..." ทั้งทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า โจทก์ทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่างนาย ล. กับจำเลยจากนางสาว ร. ซึ่งทำหน้าที่เป็นเชฟปรุงอาหารให้นาย ล. โดยนางสาว ร. เล่าให้โจทก์ฟังเกี่ยวกับจำเลยไปเที่ยวกับนาย ล. และพักด้วยกันที่จังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดภูเก็ต อันเป็นมูลเหตุให้โจทก์ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู จำนวน 78,600,000 บาท จากนาย ล. ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เมื่อพิจารณาตามคำฟ้องแล้วปรากฏว่า โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 4 ของคดีดังกล่าวว่า "ต่อมากลางปี 2557 โจทก์ตรวจสอบข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตโดยบังเอิญและพบว่าจำเลยเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ... เป็นเหตุให้โจทก์มีอาการเครียดและล้มป่วยเป็นเวลาต่อเนื่องร่วมสองปี เพราะวิตกว่าจะติดโรคร้ายแรงจากจำเลย ทั้งยังพบว่าจำเลยแอบเลี้ยงดูผู้หญิงอื่นและมีผู้หญิงมาติดพันหลายคน โจทก์ไม่อาจอยู่กินด้วยกันได้ จึงทำสัญญาแยกกันอยู่กับจำเลย 2 ฉบับ ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 ตกลงแยกกันอยู่เป็นเวลา 6 เดือน ครบกำหนดวันที่ 24 พฤษภาคม 2558 โดยจำเลยตกลงชำระค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องเข้ารับการรักษาร่างกาย จำนวน 100,000 บาท ต่อเดือน นอกเหนือจากค่าครองชีพและค่ารักษาพยาบาลแล้ว จำเลยตกลงชำระเงินค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกเดือนละ 500,000 บาท และในกรณีที่ครบกำหนดแล้วไม่มีการหย่า จำเลยตกลงรักษาสถานะและเลี้ยงดูโจทก์ต่อไปตามกฎหมาย ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 14 กันยายน 2560 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2559 ครบกำหนดวันที่ 24 พฤษภาคม 2561 จำเลยตกลงชำระค่าเลี้ยงดูให้โจทก์ในอัตราเดือนละ 20,000 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือประมาณเดือนละ 600,000 บาท ... และไม่จำกัดใช้บัตรเอเม็กซ์ เซ็นจูเรียน หรือบัตรแบล็กการ์ด (บัตรดำ) ค่าเช่าที่พัก ค่ารักษาพยาบาล และเงินสนับสนุนอื่น ๆ เป็นต้น ... เมื่อลงนามในสัญญาดังกล่าวแล้ว โจทก์ใช้บัตรเครดิตเสริมที่เป็นชื่อโจทก์เป็นปกติโดยตลอด ... ข้อ 5 ต่อมาเมื่อสัญญาแยกกันอยู่ฉบับที่ 2 ครบกำหนดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2561 จำเลยถือโอกาสระงับการใช้บัตรเครดิตของโจทก์ทุกใบ ซึ่งรวมถึงบัตรเอเม็กซ์ เซ็นจูเรียน หรือบัตรแบล็กการ์ด (บัตรดำ) ซึ่งเป็นบัตรที่โจทก์เคยใช้โดยไม่จำกัดวงเงิน และระงับการให้เงินเลี้ยงดูโจทก์ ... ข้อ 6 ตามสัญญาแยกกันอยู่ จำเลยระบุไว้โดยชัดแจ้ง หากไม่มีการหย่ากันโดยสมบูรณ์ตามกฎหมาย จำเลยตกลงว่าจะรักษาสถานะและอุปการะโจทก์อย่างที่สามีพึงกระทำและอุปการะภริยาตามข้อ 6.1 ของสัญญาแยกกันอยู่ฉบับลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งการรักษาสถานะของโจทก์ในฐานะที่เป็นภริยาของจำเลย .... กล่าวคือ จำเลยต้องอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ให้สมกับฐานะที่เป็นภริยาของจำเลยซึ่งมีฐานะเป็นมหาเศรษฐีระดับโลก เคยให้โจทก์ใช้บัตรเครดิตโดยไม่จำกัด ... จำเลยจึงต้องมีหน้าที่ดูแลโจทก์จำนวนเดือนละไม่จำกัดดังที่จำเลยเคยให้โจทก์ใช้จ่าย แต่โจทก์คิดเพียงเดือนละ 3,000,000 บาท ... โดยเริ่มนับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2561 จนถึงวันฟ้อง เป็นเวลา 25 เดือน คิดเป็นเงินจำนวน 75,000,000 บาท หนี้ค่าเช่าบ้านค้างชำระ จำนวน 3,600,000 บาท รวมเป็นเงิน 78,600,000 บาท และจำเลยต้องชำระค่าเลี้ยงดูโจทก์เดือนละ 3,000,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าโจทก์จะเสียชีวิต" เมื่อพิจารณาจากคำฟ้องในคดีนี้ประกอบกับคดีที่โจทก์ฟ้องนาย ล. เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู จึงเห็นได้ว่าโจทก์ทราบมานานแล้วว่านาย ล. มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับหญิงอื่นหลายคน รวมทั้งจำเลยในคดีนี้ สอดคล้องกับที่โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในช่วงปี 2559 นาย ล. เลี้ยงดูผู้หญิงหลายคน และนางสาว ร. พยานโจทก์ที่เบิกความว่าได้สมัครทำงานเป็นเชฟให้แก่นาย ล. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 พยานเป็นผู้ส่งภาพถ่ายแสดงความสัมพันธ์ระหว่างนาย ล. กับจำเลย รวมทั้งคลิปวิดีโอต่าง ๆ ให้แก่โจทก์ พฤติการณ์ที่โจทก์ทราบดีว่านาย ล. มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับผู้หญิงหลายคน รวมทั้งจำเลยในคดีนี้ แต่โจทก์กลับมิได้ใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนในการกระทำดังกล่าวจากจำเลย แต่กลับทำสัญญาแยกกันอยู่กับนาย ล. สองฉบับดังกล่าวข้างต้นและให้นาย ล. จ่ายเงินค่าเลี้ยงดูให้แก่โจทก์ ตลอดจนให้ใช้บัตรเครดิตอย่างไม่จำกัดวงเงินตามคำฟ้อง ข้อ 4 ข้อ 5 และข้อ 6 ต่อมาโจทก์กลับมาฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยในคดีนี้เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 เป็นจำนวนเงินสูงถึง 300,000,000 บาท หรือการที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากนาย ล. เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 จำนวน 78,600,000 บาท อันเป็นระยะเวลาภายหลังจากที่โจทก์ทราบถึงเหตุดังกล่าวและแยกกันอยู่กับนาย ล. เมื่อปี 2557 เป็นเวลาถึงเกือบ 6 ปี จึงเชื่อว่าเกิดจากโจทก์ที่โกรธแค้นจำเลยและนาย ล. ที่นาย ล. ไม่จ่ายเงินค่าเลี้ยงดูให้แก่โจทก์อีกต่อไป รวมทั้งยกเลิกการใช้บัตรเครดิตของโจทก์ หาใช่มาจากจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับนาย ล. สามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตามที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้ไม่ ซึ่งสอดคล้องกับที่โจทก์เบิกความตอบทนายโจทก์ถามว่า ในช่วงที่บัตรเครดิตของโจทก์หมดอายุ ได้มีการส่งบัตรเครดิตใหม่ไปให้ที่ที่พักของนาย ล. จำเลยเห็นจึงบอกให้นาย ล. ตัดบัตรทิ้ง ทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 บัญญัติว่า "ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต" การที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยในคดีนี้ จึงสืบเนื่องมาจากการที่นาย ล. ระงับการจ่ายเงินค่าเลี้ยงดูและการใช้บัตรเครดิตของโจทก์ตามข้อตกลงเป็นสำคัญ มิได้มีเจตนาที่จะใช้บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง มาเรียกค่าทดแทนจากจำเลยอย่างแท้จริง การฟ้องคดีของโจทก์ดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้กระทำได้ อีกทั้งยังเป็นการใช้สิทธิฟ้องจำเลยโดยไม่สุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 ด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ ศาลฎีกามีสิทธิยกขึ้นในชั้นฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) มาตรา 246 และมาตรา 252 ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 182/1 วรรคสอง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่น ๆ ของจำเลยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ