คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลภาษีอากรกลางสั่งรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยกำหนดให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกว่าโจทก์ที่ 1 เรียกจำเลยที่ 1 ในสำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 2 และเรียกกรมสรรพากรว่าจำเลย
สำนวนแรกโจทก์ที่ 1 ฟ้องว่า การที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้โจทก์ที่ 1 นำเงินภาษีและเบี้ยปรับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 ของห้างโจทก์ที่ 2 ไปชำระนั้น เป็นการไม่ชอบเพราะโจทก์ที่ 2 เป็นนิติบุคคล การเรียกร้องบังคับหนี้ต้องกระทำต่อโจทก์ที่ 2 ประกอบกับโจทก์ที่ 2 ได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้ว โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้ชำระบัญชีจึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว และการปฏิบัติของโจทก์เกี่ยวกับการจำหน่ายหนี้สูญเป็นการปฏิบัติโดยสมควรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ(9) แล้วขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์
จำเลยให้การว่า โจทก์ที่ 1 มีฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและผู้ชำระบัญชีของห้างโจทก์ที่ 2 จึงมีหน้าที่และความรับผิดเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 72 วรรค 2 และมีหน้าที่ในการจัดการเกี่ยวกับหนี้สินของห้างโจทก์ที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1250 การจำหน่ายหนี้สูญโจทก์มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องเนื่องจากมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ของห้างโจทก์ที่ 2 ล้มละลายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2526 หนี้จำนวนดังกล่าวจึงยังไม่ถึงที่สุดในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 ยังตัดเป็นหนี้สูญไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ขณะที่คดีสำนวนแรกอยู่ระหว่างการพิจารณา จำเลยได้ยื่นฟ้องสำนวนหลัง ขอให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันชำระค่าภาษีจำนวนเดียวกับที่โจทก์ที่ 1 ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในสำนวนแรกซึ่งโจทก์ทั้งสองให้การต่อสู้คดีทำนองเดียวกับที่กล่าวในคำฟ้องสำนวนแรก และต่อสู้ด้วยว่าจำเลยไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์เฉพาะในเรื่องการจำหน่ายหนี้สูญ โดยถือว่าไม่ใช่รายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ(9) และยกฟ้องคดีสำนวนหลัง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาทั้งสองสำนวน
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยมีอำนาจฟ้องคดีสำนวนหลัง (คดีหมายเลขดำที่ 191/2532 ของศาลภาษีอากรกลาง) หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ตรวจสอบการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ที่ 2 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 แล้วมีหนังสือลงวันที่ 31 มกราคม 2532 แจ้งการประเมินให้โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของโจทก์ที่ 2 ชำระภาษีให้จำเลยเป็นเงินทั้งสิ้น1,030,176.27 บาท โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยให้ลดเบี้ยปรับที่ได้เรียกเก็บไปแล้วลง คงเหลือเรียกเก็บเพียงร้อยละ50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย คงให้โจทก์ที่ 1 ชำระภาษีพร้อมเบี้ยปรับแก่จำเลยเป็นเงิน 772,632.20 บาท โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภาษีอากรกลางตามคดีสำนวนแรก(คดีหมายเลขดำที่ 145/2532 ของศาลภาษีอากรกลาง) ขณะที่คดีสำนวนแรกอยู่ในระหว่างการพิจารณา จำเลยฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางขอให้บังคับโจทก์ทั้งสองชำระภาษี ที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้โจทก์ที่ 1 ชำระให้แก่จำเลยเป็นคดีสำนวนหลัง ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าการที่โจทก์ที่ 1 ไม่ชำระเงินตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้แก่จำเลย เป็นการโต้แย้งสิทธิที่จำเลยจะนำคดีมาฟ้องได้หรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 30(2) บัญญัติว่า "ฯลฯ ให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาล ฯลฯ" เป็นที่เห็นได้ว่า ที่กฎหมายบัญญัติไว้เช่นนี้ก็โดยวัตถุประสงค์เพื่อให้ศาลพิจารณาว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบหรือไม่ ศาลจึงมีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไข ยกเลิกหรือเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ เมื่อโจทก์ที่ 1ยังอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลอยู่ จำเลยมีสิทธิจะได้รับชำระภาษีตามที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยแล้วหรือไม่ จึงต้องรอคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเสียก่อน การที่โจทก์ที่ 1 ไม่ชำระภาษีตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงหาได้เป็นการโต้แย้งสิทธิที่จำเลยจะนำคดีมาฟ้องไม่ เพราะมิฉะนั้นบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลจะไร้ผล ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องคดีสำนวนหลังจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไป ตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อสุดท้ายว่า การที่โจทก์ทั้งสองจำหน่ายหนี้ที่โจทก์ที่ 2 มีต่อห้างหุ้นส่วนจำกัดสหพิบูลย์วิทยุโทรทัศน์และการไฟฟ้า จำนวน 1,352,680 บาท เป็นหนี้สูญนั้น ชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ(9) ที่ใช้บังคับอยู่ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 หรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดสหพิบูลย์วิทยุโทรทัศน์และการไฟฟ้า เป็นหนี้โจทก์ที่ 2 ค่าซื้อสินค้าเป็นเงิน 1,352,680 บาทห้างดังกล่าวถูกบริษัทโฮมอีเลคโทรนิคส์ จำกัด ฟ้องล้มละลายและศาลมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2525 โจทก์ที่ 2 ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จำนวนดังกล่าวข้างต้น เมื่อวันที่ 18พฤศจิกายน 2525 ศาลมีคำสั่งให้ได้รับชำระหนี้ตามจำนวนดังกล่าวจากกองทรัพย์สินของห้างนั้น แต่ปรากฏตามคำเบิกความของนายชลิตอินทรวิมลเมธา เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ในคดีดังกล่าวว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ติดตามยึดทรัพย์สินของลูกหนี้และขายทอดตลาดได้เงิน 400,000 บาทเศษ สภาพของทรัพย์ที่ยึดส่วนใหญ่ไม่มีราคา หุ้นส่วนผู้จัดการและผู้เป็นหุ้นส่วนของห้างลูกหนี้หลบหนีจนต้องออกหมายจับจำนวนหนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระจากกองทรัพย์สินของห้างลูกหนี้มีถึง 59 ล้านบาทเศษ ในการแบ่งทรัพย์ครั้งที่ 1โจทก์ที่ 2 ได้รับส่วนแบ่งร้อยละ 1.85 คิดเป็นเงินเพียง 25,024.58บาท และไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะติดตามยึดได้อีก จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นได้ว่า โจทก์ที่ 2 ได้กระทำการตามสมควรเพื่อที่จะให้ได้รับชำระหนี้ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ(9)ที่ใช้บังคับอยู่ในปี 2525 แล้ว โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิจำหน่ายหนี้จำนวนดังกล่าวเป็นหนี้สูญในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 ได้ หาจำต้องรอจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาให้ห้างลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายเสียก่อนจึงจะจำหน่ายเป็นหนี้สูญได้ดังจำเลยอุทธรณ์ไม่ ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 2 มีสิทธิจำหน่ายหนี้จำนวนดังกล่าวเป็นหนี้สูญได้ และการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในส่วนนี้ไม่ชอบและพิพากษาให้เพิกถอนเสียนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน"
พิพากษายืน.