ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การใช้กฎหมายอาญาในคดีคนต่างด้าวทำงานผิดกฎหมาย: พิจารณาบทกฎหมายที่ใช้บังคับ ณ ขณะกระทำผิด
พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 33 บัญญัติว่า "คนต่างด้าวผู้ใดทำงานฝ่าฝืนพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" ส่วน พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2551 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คนต่างด้าวผู้ใดทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" และมาตรา 57 บัญญัติว่า "ให้ออกกฎกระทรวงกำหนดงานที่คนต่างด้าวอาจทำได้ตามมาตรา 7 ให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวงตามมาตรา 7 ให้นายทะเบียนอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานใดๆ ได้ เว้นแต่งานที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521" การกระทำของจำเลยตามฟ้องยังคงถือเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ทั้งกฎหมายทั้งสองฉบับมีระวางโทษเท่ากัน จึงต้องใช้กฎหมายในขณะที่จำเลยกระทำความผิด ดังนี้ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวทำงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาด เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2550 และมีคำขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 6, 33 โดยยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2551 ขณะที่ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มีผลใช้บังคับและศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด จึงชอบแล้ว