โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากอาคารที่เช่าและส่งมอบอาคารดังกล่าวคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 1,446,081.45 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,415,614.74 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ชำระค่าปรับตามสัญญาจากการที่ไม่ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากอาคารที่เช่านับแต่วันที่สัญญาสิ้นสุดลงในอัตราวันละ 667 บาท ต่อคูหา รวมเป็นเงิน 2,001 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และส่งมอบอาคารที่เช่าคืนโจทก์ ชำระค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ที่โจทก์ไม่สามารถนำทรัพย์สินออกให้เช่าคิดเป็นค่าเสียหายรายเดือน เดือนละ 2,000 บาท ต่อคูหา รวมเป็นเงินเดือนละ 6,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและส่งมอบอาคารที่เช่าคืนโจทก์ ชำระค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ที่โจทก์ไม่สามารถนำทรัพย์สินออกให้เช่าคิดเป็นค่าบำรุงรายปี ปีละ 140,000 บาท ต่อคูหา รวมเป็นเงินปีละ 420,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและส่งมอบอาคารที่เช่าคืนโจทก์กับชำระค่าเสียหายจากค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินรายปีในอัตราปีละ 23,811.30 บาท ต่อคูหา รวมเป็นเงินปีละ 71,433.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่ปี 2561 (ปีภาษี 2562) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและส่งมอบอาคารที่เช่าคืนโจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 838,289.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 106,589.40 บาท นับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,475,991.06 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 763,641.06 บาท นับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์โดยกำหนด ค่าทนายความ 5,000 บาท ให้จำเลยใช้ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2558 จำเลยทำสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ของโจทก์บริเวณวงเวียนสวนมะลิจำนวน 3 คูหา เลขที่ 220, 222 และ 224 ซอยเฉลิมเขตร์ 1 แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร มีกำหนด 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2557 ถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 2560 โดยจำเลยตกลงชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์เดือนละ 2,000 บาท ต่อคูหาและค่าบำรุงกรุงเทพมหานคร เป็นเงินปีละ 140,000 บาท ต่อคูหา ก่อนครบกำหนดระยะเวลาการเช่า โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 7 เมษายน 2560 แจ้งจำเลยว่าสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารที่เช่าพบการผุกร่อนของคอนกรีตจนถึงชั้นเหล็กเสริมคอนกรีตในส่วนของโครงสร้างพื้นและคานอันเกิดจากการขาดการบำรุงรักษาและอายุการใช้งานและพบการดัดแปลงอาคารอันส่งผลให้อาคารมีสภาพหรือมีการใช้ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินหรืออาจไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัยจึงขอให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารแล้วส่งมอบอาคารที่เช่าคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยภายใน 30 วัน นับแต่วันที่สัญญาสิ้นสุดลง หากพ้นกำหนดจำเลยต้องชดใช้ค่าปรับวันละ 667 บาท ต่อคูหา ตามสัญญาเช่าข้อ 16 ต่อมาจำเลยและผู้เช่ารายอื่นมีหนังสือลงวันที่ 28 เมษายน 2560 ขอให้โจทก์พิจารณาต่อสัญญาเช่าให้แก่จำเลยและผู้เช่ารายอื่น โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2560 แจ้งไม่ต่ออายุสัญญาเช่ากับมีหนังสือแจ้งให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากอาคารที่เช่าและชำระค่าเสียหายแก่โจทก์อีกหลายครั้ง หลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารและส่งมอบอาคารที่เช่าแก่โจทก์เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยต้องชำระค่าปรับรายวัน ค่าเสียหายเสมือนค่าเช่ารายเดือนและค่าบำรุงรายปีให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระค่าปรับรายวันเพราะศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายเต็มจำนวนที่โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 2,000 บาทต่อเดือน ต่อคูหาแล้ว โจทก์ไม่อาจเรียกค่าปรับตามสัญญาได้อีก ค่าปรับรายวันจึงเป็นค่าเสียหายที่ซ้ำซ้อน ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5277/2540 สำหรับค่าเสียหายเสมือนค่าเช่ารายเดือน โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าสามารถนำอาคารที่พิพาทออกให้เช่าในราคาดังกล่าว และทรัพย์มีสภาพไม่อาจให้เช่าได้เนื่องจากโครงสร้างพื้นและคานเกิดจากขาดบำรุงรักษา ส่งผลให้อาคารมีสภาพเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกายหรืออาจไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัยได้ ส่วนค่าบำรุงรายปี จำเลยไม่ต้องรับผิดเนื่องจากสัญญาเช่าสิ้นสุดแล้ว นั้น เห็นว่า สำหรับค่าปรับรายวัน เมื่อจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธวันที่สัญญาเช่าสิ้นสุดลงตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้อง และให้การว่าจำเลยส่งมอบอาคารที่เช่าคืนโจทก์แล้ว ซึ่งตามสัญญาเช่า ข้อ 16 ระบุว่า ในกรณีสัญญาสิ้นสุดไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ ผู้เช่าจะต้องขนย้ายทรัพย์สินและบริวารแล้วส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าคืนให้แก่ผู้ให้เช่าในสภาพเรียบร้อยที่ผู้ให้เช่าสามารถใช้ประโยชน์ได้ทันที ภายใน 30 วันนับแต่วันที่สัญญาสิ้นสุดลง หากพ้นกำหนดนี้แล้วผู้เช่าต้องชดใช้ค่าปรับแก่ผู้ให้เช่าในอัตราวันละ 667 บาท... สัญญาข้อนี้เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยตกลงกันไว้ล่วงหน้าหากจำเลยผิดข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าวยินยอมให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับรายวันจากจำเลยได้ เป็นการตกลงกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้า เมื่อจำเลยผิดสัญญาจำเลยจึงต้องรับผิดตามข้อสัญญาดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจลดค่าปรับโดยเห็นว่าเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนโดยพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างแล้วลดค่าปรับรายวันเหลือวันละ 450 บาท และศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย นับว่าเหมาะสมแล้ว ส่วนที่จำเลยอ้างว่า เมื่อศาลกำหนดค่าเสียหายเสมือนค่าเช่ารายเดือนให้แก่โจทก์ตามฟ้องแล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับรายวันอีกนั้น จะเห็นได้ว่า เมื่อจำเลยมิได้ส่งมอบอาคารที่เช่าคืนโจทก์ภายในกำหนดระยะเวลาตามสัญญาเช่า อันเป็นการไม่ชำระหนี้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระค่าปรับรายวัน ตามสัญญาเช่าข้อ 16 ในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายและโจทก์มีสิทธิพิสูจน์ค่าเสียหายยิ่งกว่านั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคสอง การที่จำเลยไม่ส่งมอบอาคารที่เช่าคืนโจทก์ เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงโจทก์ย่อมได้รับความเสียหายในส่วนที่ต้องดำเนินการให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากอาคารที่เช่าพร้อมกับส่งมอบอาคารที่เช่าคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย และการที่จำเลยยังคงอยู่ในอาคารที่เช่าต่อไปหลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้วโดยไม่มีสิทธิ ย่อมเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขาดประโยชน์ที่จะได้รับจากทรัพย์สินของโจทก์อีกส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งเป็นค่าเสียหายคนละส่วนกับค่าปรับรายวันตามสัญญาเช่าข้อ 16 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5277/2540 ที่จำเลยอ้างมีข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการเช่าและค่าเสียหายแตกต่างจากคดีนี้ จึงไม่อาจนำมาเทียบเคียงวินิจฉัยได้ สำหรับค่าเสียหายคิดเสมือนค่าเช่ารายเดือน นั้น เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้ว จำเลยไม่ส่งมอบอาคารที่เช่าคืนโจทก์ ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถใช้ประโยชน์จากอาคารของโจทก์ได้ แม้อาคารของโจทก์มีสภาพผุกร่อนของคอนกรีต อันส่งผลให้อาคารมีสภาพที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรืออาจไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัยดังที่จำเลยฎีกา แต่ก็ยังสามารถใช้อยู่อาศัย หรือใช้ประโยชน์อื่นได้ โดยจำเลยเองก็ยังประสงค์จะขอให้โจทก์ต่อสัญญาเช่าให้อีก โจทก์จึงอาจนำอาคารของโจทก์ออกให้บุคคลอื่นเช่าได้ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชำระค่าเสียหายคิดเสมือนค่าเช่ารายเดือน ในอัตราเดือนละ 2,000 บาท ต่อคูหา เท่ากับอัตราค่าเช่าตามสัญญาตามที่โจทก์ขอ และศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย นับว่าเหมาะสมแล้ว ส่วนค่าบำรุงรายปี นั้น จะเห็นได้ว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายค่าบำรุงรายปีเนื่องจากจำเลยอยู่ในอาคารที่เช่าต่อไปหลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้วโดยไม่มีสิทธิ โดยโจทก์นำอัตราค่าบำรุงรายปีที่จำเลยต้องชำระตามสัญญาเช่ามาเป็นเกณฑ์ในการเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้ เท่ากับโจทก์เรียกค่าเสียหายโดยอาศัยข้อสัญญาเช่า เมื่อสัญญาเช่ามีการบอกเลิกสัญญาทำให้สัญญาสิ้นสุดลงแล้ว โจทก์จึงไม่อาจเรียกให้จำเลยชำระค่าบำรุงรายปีตามข้อสัญญาได้อีกคงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากจำเลยผิดสัญญาเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 และมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และบัญญัติให้ใช้ความใหม่ว่า ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทบัญญัติกฎหมายโดยชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี... และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 224 เดิมแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้ใช้ความใหม่ว่า หนี้เงินให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี...และพระราชกำหนดดังกล่าว มาตรา 7 บัญญัติให้ใช้บทบัญญัติตามมาตรา 224 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตามกฎหมายเป็น ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ( 5 ) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 การที่จำเลยผิดสัญญาต่อโจทก์จึงเป็นหนี้เงินโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้อัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์ แต่ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามที่โจทก์ขอ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่ ส่วนอัตราดอกเบี้ยนับแต่วันผิดสัญญาถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 เดิม
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 818,949.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 106,599.99 บาท นับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปแต่ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนไปบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามที่โจทก์ขอ ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาให้จำเลยรับผิดค่าบำรุงรายปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ