โจทก์ทั้งสี่ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์ทั้งสี่พร้อมทั้งรื้อสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินและใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่เดือนละ ๑๒,๕๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะออกจากที่ดินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยเช่าที่ดินจากโจทก์ที่ ๑ ทำนาโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาการเช่าตั้งแต่ปี ๒๕๐๐ โจทก์ทั้งสี่ไม่เคยมีหนังสือบอกเลิกการเช่าไปยังจำเลยและการบอกเลิกการเช่าของโจทก์ทั้งสี่ตามฟ้องมิได้ผ่านการพิจารณาวินิจฉัยของคชก. ตำบลคูขวาง โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ วินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสี่บอกเลิกการเช่าที่ดินพิพาทต่อจำเลยก่อนสิ้นระยะเวลาการเช่านาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑ ปี จึงเป็นการบอกเลิกการเช่านาตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๒๔ ซึ่งมาตรา ๓๗ วรรคสอง บัญญัติว่า "ให้ผู้ให้เช่านาส่งสำเนาการบอกเลิกการเช่านา?ไปยังคชก. ตำบล? เมื่อได้รับสำเนาหนังสือบอกเลิกการเช่านาดังกล่าวแล้ว ให้คชก. ตำบลพิจารณาวินิจฉัย?" มาตรา ๕๖ บัญญัติว่า "ผู้เช่านา ผู้เช่าช่วงนา ผู้ให้เช่านา? อาจอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคชก. ตำบล ต่อคชก. จังหวัด?" และมาตรา ๕๗ บัญญัติว่า "คู่กรณีหรือผู้มีส่วนได้เสียในการเช่านาที่ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคชก. จังหวัด มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้?" ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสี่ส่งสำเนาหนังสือบอกเลิกการเช่านาไปยังประธานคชก. ตำบล คชก. ตำบล ต้องพิจารณาวินิจฉัยการบอกเลิกการเช่านา ดังกล่าวก่อน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๗ วรรคสอง ไม่ว่าจำเลยผู้เช่านาจะคัดค้านการบอกเลิกการเช่านาหรือไม่ หากโจทก์ทั้งสี่ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคชก. ตำบล จึงมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคชก. จังหวัด และศาลตามลำดับ ตามมาตรา ๕๖ และมาตรา ๕๗ การที่โจทก์ทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ โจทก์ทั้งสี่ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เดิมโจทก์ที่ ๑ เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ต่อมาโจทก์ที่ ๑ ยกที่ดินพิพาทให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ เมื่อปี ๒๕๓๔ ระหว่างที่ที่ดินพิพาทยังเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ ๑ โจทก์ที่ ๑ ให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาททำนาตั้งแต่วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๒๗ จนกระทั่งวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๘ โจทก์ทั้งสี่บอกเลิกการเช่าที่ดินพิพาทต่อจำเลยพร้อมกับส่งสำเนาหนังสือบอกกล่าวนั้นต่อประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลคูขวาง หรือคชก. ตำบลคูขวาง จำเลยไม่คัดค้านการบอกกล่าวเลิกการเช่าต่อคชก. ตำบลคูขวาง และคชก. ตำบลคูขวาง มิได้พิจารณาวินิจฉัยหนังสือบอกเลิกการเช่าของโจทก์ทั้งสี่ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า โจทก์ทั้งสี่มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๒๔ มาตรา ๑๓ บัญญัติให้คชก. ตำบล มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดอัตราค่าเช่าขั้นสูงของแต่ละท้องที่ในเขตตำบลตามการจำแนกคุณภาพของที่ดินและน้ำ
(๒) พิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าเช่า การชำระค่าเช่า ระยะเวลาของการเช่าตลอดจนข้อพิพาทอื่นหรือค่าเสียหายอันเกิดจากการเช่าตามคำร้องขอของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าและมีคำสั่งใด ๆ ให้ผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าปฏิบัติหรือมิให้ปฏิบัติการใดเพื่อให้เกิดผลตามคำวินิจฉัย
(๓) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่คชก. จังหวัด มอบหมาย
?ฯลฯ?
ดังนั้น คชก. ตำบล มีอำนาจหน้าที่อื่นตามมาตรา ๑๓ (๓) คืออำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในมาตราอื่นแห่งพระราชบัญญัติเดียวกันนี้ เช่น มาตรา ๓๗ วรรคสอง ซึ่งกำหนดให้ คชก. ตำบล พิจารณาวินิจฉัยการบอกเลิกการเช่านาตามสำเนาหนังสือบอกเลิกการเช่านาที่ผู้ให้เช่าส่งมา อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายข้อนี้บังคับให้ คชก. ตำบล ต้องพิจารณาวินิจฉัยหนังสือบอกเลิกการเช่านาของผู้ให้เช่านาทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น แม้ผู้เช่าจะไม่คัดค้านการบอกเลิกการเช่านาหรือไม่มีคำร้องขอให้วินิจฉัยก็ตาม คชก. ตำบล จำต้องพิจารณาและวินิจฉัยหนังสือบอกเลิกการเช่านานั้น ๆ ว่าสมควรให้การเช่านาสิ้นสุดลงหรือไม่ หรืออยู่ในบังคับแห่งเงื่อนไขใดภายใต้กรอบอำนาจที่กำหนดไว้ในตามมาตรา ๓๗ (๑) ถึง (๔) หรือไม่ ซึ่งเมื่อ คชก. ตำบลคูขวางวินิจฉัยแล้ว ผู้เช่านา ผู้เช่าช่วงนา หรือผู้ให้เช่านาที่เป็นคู่กรณี หรือผู้มีส่วนได้เสียในการเช่านาอาจอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก. ตำบลคูขวางต่อ คชก. จังหวัดได้ตามมาตรา ๕๖ วรรคหนึ่ง และคู่กรณีหรือผู้มีส่วนได้เสียในการเช่านาที่ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคชก. จังหวัด มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ตามมาตรา ๕๗ วรรคหนึ่ง ซึ่งในกรณีของโจทก์ทั้งสี่ เมื่อ คชก. ตำบลคูขวางยังมิได้พิจารณาวินิจฉัยหนังสือบอกกล่าวเลิกการเช่านาตามขั้นตอน ที่พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๒๔ มาตรา ๓๗ วรรคสอง ได้บัญญัติไว้ โจทก์ทั้งสี่ยังไม่มีสิทธิอุทธรณ์โดยเสนอคดีต่อศาลได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษาว่า โจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.