โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 4, 19, 57
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษายกอุทธรณ์โจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณาแล้วพิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 19, 57 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 7,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันรับฟังยุติว่า อาคารชุด ศ. จดทะเบียนอาคารชุดเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2533 จำเลยมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอาคารชุดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2533 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด ศ. 2 ที่ดินโฉนดเลขที่ 43829 มีชื่อนายประเสริฐ ผู้ถือกรรมสิทธิ์ และเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด ศ. 2 ที่ดินแปลงนี้ทางด้านทิศเหนือติดทางสาธารณะออกสู่ถนนห้วยแก้ว ทิศใต้ติดลำเหมืองสาธารณประโยชน์ซึ่งมีการก่อสร้างพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กบนลำเหมืองสาธารณประโยชน์เพื่อเป็นทางออกจากที่ดินไปยังถนนศิริมังคลาจารย์ ซอย 1 เมื่อปี 2561 จำเลยได้รับอนุญาตจากเทศบาลนครเชียงใหม่ให้ก่อสร้างรั้วเพื่อใช้เป็นคานเปิด-ปิด บนที่ดินโฉนดเลขที่ 43829 ตามวัน เวลา และสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยก่อสร้างคานเหล็กแบบเปิด-ปิด ปิดกั้นทางเข้าออกบนที่ดินโฉนดเลขที่ 43829 ทั้งสองด้าน นายธวัชชัย ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อเทศบาลนครเชียงใหม่ว่า ทางพิพาทในที่ดินโฉนดเลขที่ 43829 เป็นทางสาธารณะ จำเลยก่อสร้างคานเหล็กปิดกั้นทางสาธารณะ เทศบาลนครเชียงใหม่ออกคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้จำเลยรื้อถอนวัตถุใด ๆ ให้พ้นจากทางพิพาท จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่ง เทศบาลนครเชียงใหม่มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ จำเลยฟ้องเทศบาลนครเชียงใหม่กับพวกต่อศาลปกครองเชียงใหม่ ขอให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นโดยยังมิได้รื้อถอนคานเหล็กออกจากทางพิพาท เทศบาลนครเชียงใหม่แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีนี้แก่จำเลย
สำหรับที่จำเลยฎีกาว่า นายธวัชชัยพยานโจทก์และประชาชนทั่วไปมิได้ใช้ทางพิพาทมาตั้งแต่ปี 2530 หากทางพิพาทเป็นทางสาธารณะมาตั้งแต่ปี 2530 เหตุใดนายธวัชชัยเพิ่งจะมาร้องเรียนในปี 2557 ควรที่จะต้องร้องเรียนตั้งแต่ปี 2533 ซึ่งมีการนำที่ดินโฉนดเลขที่ 43829 ไปจดทะเบียนเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด คำเบิกความของนายธวัชชัยจึงมีพิรุธ จำเลยใช้สิทธิปิดกั้นทางพิพาทมาโดยตลอด จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่ามีสิทธิก่อสร้างคานเหล็กปิดกั้นทางพิพาทได้เพราะเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดและได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมายแล้ว จำเลยไม่เคยจดทะเบียนยกทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณะนั้น เป็นฎีกาที่ยกข้อเท็จจริงขึ้นอ้างเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย และเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยมิได้ยกขึ้นโต้แย้งไว้ในคำแก้อุทธรณ์ ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยว่า ทางพิพาทที่จำเลยปิดกั้นนั้นเป็นทางสาธารณะและถนนหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วว่า พยานโจทก์และประชาชนใช้ทางพิพาทเป็นทางสัญจรมาหลายสิบปีตั้งแต่ปี 2530 โดยไม่มีบุคคลใดปิดกั้นหรือโต้แย้งคัดค้าน ส่วนอาคารชุด ศ. จดทะเบียนอาคารชุดภายหลังจากที่นายประเสริฐเจ้าของที่ดินเดิมเปิดให้ประชาชนใช้ทางพิพาทเป็นทางสัญจร จากข้อเท็จจริงดังกล่าว การที่นายประเสริฐเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 43829 ซึ่งทางพิพาทตั้งอยู่ยินยอมให้ประชาชนโดยทั่วไปใช้ทางพิพาทเป็นทางสัญจรโดยไม่มีการหวงกันใด ๆ มาตั้งแต่ปี 2530 นั้น ถือได้ว่านายประเสริฐได้ยกทางพิพาทให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (2) แล้วโดยปริยาย หาจำต้องแสดงเจตนาอุทิศให้หรือจดทะเบียนยกให้เป็นทางสาธารณะต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใดไม่ แม้ทางพิพาทอยู่ในเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 43829 ซึ่งนำไปจดทะเบียนเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด ศ. 2 ในภายหลังตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 แล้วจำเลยก่อสร้างคานเหล็กปิดกั้นทางพิพาทในลักษณะหวงกันมิให้ประชาชนใช้ทางพิพาทก็ไม่ทำให้ทางพิพาทหมดสภาพจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินกลับไปเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินเดิมอีก จำเลยจึงไม่อาจยกบทบัญญัติอันเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด การลงมติของเจ้าของร่วมในการจำหน่ายทรัพย์ส่วนกลางที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้หรือการจัดการทรัพย์ส่วนกลาง และการก่อสร้างอันเป็นการเปลี่ยนแปลง เพิ่มเติม หรือปรับปรุงทรัพย์ส่วนกลาง ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 15 (1), 16, 48 (2) (4) (6) อันเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองแต่เฉพาะประโยชน์ของเจ้าของร่วมในอาคารชุดมาหักล้างการแสดงเจตนาโดยปริยายของเจ้าของที่ดินเดิมได้ และเมื่อพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 4 ให้คำนิยามคำว่า "ถนน" ว่าหมายความรวมถึง ทางเดินรถ ทางเท้า ขอบทาง ไหล่ทาง ทางข้ามตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก ตรอก ซอย สะพาน หรือถนนส่วนบุคคล ซึ่งเจ้าของยินยอมให้ประชาชนใช้เป็นทางสัญจรได้ ทางพิพาทจึงเป็นถนนตามคำนิยามดังกล่าว การที่จำเลยก่อสร้างคานเหล็กปิดกั้นทางพิพาทจึงเป็นการตั้ง วาง หรือกองวัตถุใด ๆ บนถนน อันเป็นความผิดตามฟ้อง ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่ชอบนั้นเห็นว่า แม้ศาลฎีกาจะวินิจฉัยให้ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นฎีกาที่ไม่เป็นสาระ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เนื่องจากมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 โดยตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า "เมื่อพ้นกำหนดสามร้อยหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้เปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวตามกฎหมายในบัญชี 1 ท้ายพระราชบัญญัตินี้ เป็นความผิดทางพินัยตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ถือว่าอัตราโทษปรับอาญาที่บัญญัติไว้ในกฎหมายดังกล่าว เป็นอัตราค่าปรับเป็นพินัยตามพระราชบัญญัตินี้" และมาตรา 45 บัญญัติว่า "บรรดาความผิดอาญาที่เปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัยมาตรา 39 มาตรา 40 หรือมาตรา 42 (1)...(3) ถ้าอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ให้ศาลพิจารณาปรับเป็นพินัยตามพระราชบัญญัตินี้" ดังนั้น เมื่อในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาบทบัญญัติมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ มีผลใช้บังคับ ย่อมมีผลให้ความผิดตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 19, 57 ซึ่งเป็นความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวและเป็นกฎหมายที่มีอยู่ในบัญชี 1 ท้ายพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ เปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัย และเมื่อความผิดทางพินัยฐานดังกล่าวนี้เป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 ความผิดทางพินัยจึงเป็นอันยุติไปตามบทบัญญัติมาตรา 16 (1) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ กรณีต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 ปรับ 5,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5