โจทก์ฟ้องว่า นายวาเจ้าเช่าตึกแถวของโจทก์เพื่อประกอบการค้าจนกระทั่งผู้เช่าวายชนม์ลงอันทำให้การเช่าสิ้นสุดลง จำเลยที่ 1 เป็นคนอาศัยนายวาเจ้าผู้เช่า และจำเลยที่ 2 เพิ่งเข้าอยู่เมื่อผู้เช่าวายชนม์ โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองออกจากตึกเช่า แต่จำเลยขัดขืนจึงขอให้ขับไล่
จำเลยให้การว่านายวาเจ้ากับพวกเช่าตึกพิพาทเป็นร้านค้าจนนายวาเจ้าวายชนม์ จำเลยที่ 1 เป็นหลานจำเลยที่ 2 เป็นบุตรนายวาเจ้าได้แจ้งให้โจทก์ทราบขอเช่าต่อไป ย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าฯ
ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรผู้เช่าแต่ไม่ได้อยู่ในตึกพิพาท จำเลยที่ 1 เป็นคนในครอบครัวอาศัยอยู่กับผู้เช่า และได้แจ้งความจำนงขอเช่าต่อ ตามเงื่อนไขแห่งพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าฯ แล้ว พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ฟังว่า ตึกพิพาทไม่ใช่เคหะอันได้รับความคุ้มครอง เมื่อการเช่าสิ้นสุดลง โจทก์ขับไล่จำเลยได้พิพากษาให้ขับไล่จำเลย
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าปัญหาที่ว่าการเช่ารายนี้จะอยู่ในความคุ้มครองของพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขันหรือไม่นั้น ตามฟ้องโจทก์บรรยายชัดเจนว่าตึกรายพิพาทนายวาเจ้าเช่าเพื่อประกอบการค้าและในคำให้การของจำเลยก็รับเช่นนั้น เมื่อเป็นดังนี้การเช่ารายนี้ก็หาอยู่ในความคุ้มครองแห่งพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขันไม่ เมื่อนายวาเจ้าผู้เช่าตาย การเช่าก็ย่อมสิ้นสุดลงจำเลยที่ 1 จะเอาประโยชน์จากมาตรา 17 ของพระราชบัญญัติที่กล่าวโดยแสดงความจำนงค์จะเช่าตึกรายนี้ต่อไปหาได้ไม่
จึงพิพากษายืน