โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 106,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 80,000,000 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 199/2553 หมายเลขแดงที่ 70/2554 ของศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยื่นคำขอจดทะเบียนให้โจทก์ทั้งสองพ้นจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 อ้างว่า ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2550 ลงมติให้โจทก์ทั้งสองออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 โดยไม่มีการบอกกล่าวเรียกประชุมผู้ถือหุ้นและไม่มีการประชุมกันจริง ขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมและจดทะเบียนให้โจทก์ทั้งสองกลับเข้าเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ดังเดิม ครั้นโจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องเรียกค่าเสียหาย ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต ต่อมาโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยินยอมจดทะเบียนให้โจทก์ทั้งสองกลับเข้าเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 หากเกิดหรือมีความเสียหายใดๆ ก่อนหรือขณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ทั้งสองขอสงวนสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง แต่คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกร่วมกันทำละเมิด ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งเรื่องค่าเสียหายยังมิได้วินิจฉัยในคดีเดิม จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีเดิม ส่วนกรณีจำเลยที่ 2 ที่ 5 ร่วมกันทำละเมิดโจทก์ทั้งสองหรือไม่ นายคริสโตเฟอร์ ผู้รับมอบอำนาจจำเลยที่ 2 เบิกความว่า พยานทราบจากจำเลยที่ 2 ว่าส่งจดหมายเชิญผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมวิสามัญทางไปรษณีย์โดยไม่มีหลักฐานมาแสดง นายเกรย์เรช ผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุมเบิกความว่า พยานไม่ได้รับหนังสือบอกกล่าวหรือเชิญเข้าประชุมแต่ทราบจากจำเลยที่ 2 ทางโทรศัพท์ จึงรับฟังได้ตามที่โจทก์ทั้งสองนำสืบว่า ไม่มีการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์และส่งทางไปรษณีย์ซึ่งคำบอกกล่าวเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2550 หากมีการประชุมจริงและมีการจัดทำเอกสารก่อนการประชุมก็น่าจะต้องนำเอกสารดังกล่าวไปให้จำเลยที่ 5 ใช้ประกอบการพิมพ์คำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด จำเลยที่ 5 ก็จะไม่พิมพ์ข้อความผิดในข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยที่ 3 มีฝ่ายจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ขณะเกิดเหตุมีนางสุปรียา เป็นหัวหน้า ไม่น่าเชื่อว่านางสุปรียาจะให้จำเลยที่ 5 พิมพ์คำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด โดยไม่มีเอกสารประกอบ หากโจทก์ทั้งสองทราบว่าจะมีการประชุมกันจริง โจทก์ทั้งสองจะต้องเข้าร่วมประชุมเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนมิใช่ปล่อยให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการประชุมโดยลำพัง ประกอบกับการทำรายงานการประชุมวิสามัญ ผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2550 มีข้อความไม่ตรงกับคำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัดในสาระสำคัญ เชื่อว่าเป็นการกระทำโดยจงใจของจำเลยที่ 5 และรู้เห็นเป็นใจกับจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงรับฟังว่า จำเลยที่ 2 เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ครั้งที่ 1/2550 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ได้ประชุมกันจริง แต่จำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 5 ไปแจ้งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสุราษฎร์ธานีว่ามีการประชุมกันจริง และโจทก์ทั้งสองลาออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นความเท็จ การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 5 เป็นการร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายเป็นเงิน 1,000,000 บาท พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2550 ซึ่งเป็นวันทำละเมิดไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง และให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ทั้งสอง เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 100,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 และที่ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 และที่ 5 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 70/2554 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 และที่ 5 ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองและโจทก์ทั้งสองไม่ได้รับความเสียหายนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงไว้ถูกต้องและชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
อนึ่ง ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวการของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 กระทำละเมิด จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองด้วย ส่วนจำเลยที่ 3 ที่ 4 ในฐานะนายจ้างและตัวแทนของนายจ้างต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดกับจำเลยที่ 5 นั้น โจทก์ทั้งสองมิได้กล่าวโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองว่าไม่ชอบ หรือไม่ถูกต้องอย่างไร ฎีกาของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 (เดิม) ที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ทั้งสองฟ้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนด 1,000,000 บาท เป็นจำนวนต่ำมากนั้น โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายเนื่องจากต้องขาดรายได้จากเงินเดือนและค่าตอบแทนที่ได้รับจากการบริหารงานในตำแหน่งกรรมการของจำเลยที่ 1 ในช่วงที่โจทก์ทั้งสองไม่ได้เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีก่อนฟ้อง เห็นควรกำหนดให้ 2,000,000 บาท ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้น
ที่จำเลยที่ 2 และที่ 5 ฎีกาว่า จำนวนค่าทนายความ 100,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดสูงมากเกินกว่าปริมาณงานที่โจทก์ทั้งสองและทนายความโจทก์ทั้งสองได้กระทำในชั้นอุทธรณ์ ทั้งเป็นจำนวนที่สูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 5 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาล โดยกำหนดค่าทนายความรวม 100,000 บาท ดังนั้น ค่าทนายความดังกล่าวจึงเป็นค่าทนายความในศาลชั้นต้นรวมกับชั้นอุทธรณ์ จึงไม่สูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 5 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ที่ 5 ร่วมกันใช้เงิน 2,000,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้คงไว้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.