โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 358, 359, 362, 365
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายบรรจง ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต และโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายของผลสับปะรดที่ถูกทำลายเป็นเงิน 177,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 8,325 บาท รวมเป็นเงิน 185,925 บาท และดอกเบี้ยอัตราเดียวกันนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยทั้งสองให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 359 (4) (ที่ถูก มาตรา 359 (4) (เดิม), ประกอบมาตรา 358 (เดิม)), 365 (2) (ที่ถูก มาตรา 365 (2) (เดิม) ประกอบมาตรา 362 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (2) (เดิม) จำคุกคนละ 1 ปี ให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน (ที่ถูก ร่วมกันชำระเงิน) 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ร่วม โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 2 ปี ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้น 5,000 บาท แทนโจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า โจทก์ร่วมเดิมชื่อ "จง" โจทก์ร่วมและนางช้องเป็นสามีภริยากัน โจทก์ร่วมเป็นเกษตรกรเป็นผู้ครอบครองที่ดิน ภ.บ.ท.5 เนื้อที่ดินทั้งหมด 161 ไร่ และทำไร่สัปปะรดบนที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ ขณะเกิดเหตุนายฤทธิเดช และนายพีระ เป็นผู้ดูแลไร่สัปปะรดดังกล่าวให้โจทก์ร่วม นายบุญเด่นหรือดำ มีไร่สัปปะรดตั้งอยู่ใกล้กับไร่สัปปะรดของโจทก์ร่วมดังกล่าว และจำเลยทั้งสองเป็นลูกจ้างของนายบุญเด่น ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นายฤทธิเดชและนายพีระเห็นคนร้ายหกคนร่วมกันใช้มีดฟันทำลายผลสัปปะรดในไร่ของโจทก์ร่วมดังกล่าวได้รับความเสียหาย หลังจากนั้นโจทก์ร่วมพร้อมนายฤทธิเดชและนายพีระไปแจ้งความต่อร้อยตำรวจเอกปกรณ์เกียรติ พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรบ้านหนองพลับ โดยนายฤทธิเดชและนายพีระแจ้งว่าจำคนร้ายได้สองคน คนหนึ่งเป็นคนขับรถไถของนายบุญเด่น ร้อยตำรวจเอกปกรณ์เกียรติติดต่อให้นายบุญเด่นพาลูกน้องที่ทำงานในไร่มาที่สถานีตำรวจ ครั้งแรกมีลูกน้องเป็นหญิงและชายจำนวนหนึ่งมา แต่นายฤทธิเดชและนายพีระแจ้งว่าไม่ใช่คนร้าย ร้อยตำรวจเอกปกรณ์เกียรติจึงให้นายบุญเด่นพาลูกน้องคนอื่นมาให้หมด ครั้งหลังมีลูกน้องซึ่งรวมจำเลยทั้งสองมาอีกจำนวนหนึ่ง นายฤทธิเดชและนายพีระยืนยันว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนร้าย ร้อยตำรวจเอกปกรณ์เกียรติตรวจสอบบัตรประจำตัวประชาชนและข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของจำเลยทั้งสอง แล้วให้นายฤทธิเดชและนายพีระลงลายมือชื่อยืนยันภาพถ่ายทะเบียนราษฎร์ของจำเลยทั้งสาม แล้วโจทก์ร่วมร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง จากนั้นเกิดการโต้เถียงกันระหว่างฝ่ายโจทก์ร่วมกับฝ่ายจำเลยทั้งสอง ร้อยตำรวจเอกปกรณ์เกียรติจึงให้จำเลยทั้งสองกลับไปก่อน ร้อยตำรวจเอกปกรณ์เกียรติรวบรวมพยานหลักฐานโดยสอบคำให้การโจทก์ร่วม นายฤทธิเดช นายพีระ ร้อยตำรวจโทวีระพันธ์ ตรวจสถานที่เกิดเหตุ ทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ถ่ายภาพ ทำบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้าย ร่วมกับพิสูจน์หลักฐานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ตรวจสถานที่เกิดเหตุ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองโดยจำเลยทั้งสองฎีกามาทั้งในส่วนอาญาและส่วนแพ่ง โดยส่วนอาญานั้น เมื่อพิจารณาฎีกาของจำเลยทั้งสอง เห็นว่า มี 2 ข้อ โดยข้อ 2.1 ระบุว่าปัญหาข้อเท็จจริง ส่วนข้อ 2.2 ระบุว่าปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไม่เกินคนละ 2 ปี และศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไม่เกินคนละ 2 ปี จำเลยทั้งสองจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณา หรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา หรืออธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย ก็ให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 และมาตรา 221 แต่เมื่อผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 คดีนี้ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในฎีกาของจำเลยทั้งสองในคดีส่วนอาญาเพียงว่า จำเลยทั้งสองยื่นขอให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้รับรองฎีกาในส่วนคดีอาญาตามคำร้องฉบับลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2562 นั้น ผู้พิพากษาศาลดังกล่าวมีคำสั่งไม่รับรองให้จำเลยทั้งสอง จึงมีคำสั่งไม่รับ โดยไม่ได้สั่งฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อ 2.2 ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมาย จึงไม่ชอบ จึงให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวเสียและมีคำสั่งใหม่เป็นสั่งรับฎีกาข้อ 2.2 และเมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาและศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยไปทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวน คงมีปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ถึงแม้จะมีความบกพร่องเกี่ยวกับการสอบคำให้การของพยานโจทก์ในชั้นสอบสวนดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา ก็เพียงมีผลต่อน้ำหนักในการรับฟังคำให้การดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลเท่านั้น หาได้ทำให้การสอบสวนเสียไปไม่ ส่วนข้อที่ว่าพนักงานสอบสวนไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/1 ถึงมาตรา 134/4 นั้น เห็นว่า บทกฎหมายดังกล่าวเป็นบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาในชั้นที่พนักงานสอบสวนถามคำให้การของผู้ต้องหา แต่ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560 ที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างในฎีกาว่ายังอยู่ในระหว่างรับคำร้องทุกข์ของผู้เสียหาย พนักงานสอบสวนยังไม่ได้แจ้งข้อหาหรือสอบถามคำให้การของจำเลยทั้งสอง กรณีไม่อยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติดังกล่าว การสอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมายโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น ดังนั้น คดีส่วนอาญาจึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ซึ่งสัปปะรดอันเป็นพืชหรือพืชผลกสิกรของโจทก์ร่วม คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปในคดีเฉพาะส่วนแพ่งตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อคดีส่วนอาญายุติดังกล่าวข้างต้นและโจทก์ร่วมขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ในมูลอันเป็นความผิดอาญาดังกล่าว ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกและร่วมกันใช้มีดฟันผลสัปปะรดทำให้ผลสัปปะรดของโจทก์ร่วมเสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ฉะนั้น การกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ร่วม จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ร่วม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 มาตรา 206 และมาตรา 224 ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ร่วมว่า ผลสัปปะรดที่ถูกฟันเสียหายคิดเป็นเนื้อที่ 2 ไร่ โจทก์ร่วมปลูกสัปปะรดไร่ละ 6,000 หน่อ สัปปะรดมีอายุประมาณ 5 เดือนเศษ ซึ่งจะถึงเวลาเก็บเกี่ยวอีกประมาณ 1 สัปดาห์ มีน้ำหนักลูกละประมาณ 2 กิโลกรัม จำนวน 12,000 ลูก คิดเป็นค่าเสียหายโดยคำนวณจากราคาซื้อขายขณะนั้นลูกละ 6.50 บาท เป็นเงิน 156,000 บาท โดยราคาหลังเกิดเหตุกิโลกรัมละ 7.40 บาท อีกทั้งยังมีร้อยตำรวจเอกหญิงชัลรัชต์ พิสูจน์หลักฐานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาเป็นพยานเบิกความว่า พยานไปตรวจที่เกิดเหตุและทำรายงาน ซึ่งเมื่อพิจารณารายงานดังกล่าวระบุเพียงว่า เนื้อที่ซึ่งปลูกต้นสัปปะรดเสียหายประมาณ 2 ไร่ และทรัพย์สิน (สัปปะรด) ที่ถูกทำลายประมาณ 2 ไร่ ความเสียหายประมาณ 126,000 บาท เห็นว่า ร้อยตำรวจเอกหญิงชัลรัชต์ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองมาก่อน อีกทั้งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะเบิกความเพื่อประโยชน์ของโจทก์ร่วม เชื่อว่าเบิกความไปตามจริง ส่วนที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า กำลังคน 1 คน ใช้เวลาฟันผลสัปปะรดขนาดเนื้อที่ 2 ไร่ ต้องใช้เวลา 2 ถึง 3 วัน หากใช้กำลังคนประมาณ 6 คน จะใช้เวลาประมาณ 1 วันเศษ ราคาผลสัปปะรดช่วงเวลาเกิดเหตุน่าจะราคาผลละ 5 บาท เนื้อที่ 1 ไร่ สามารถปลูกต้นสัปปะรดได้ประมาณ 7,000 ต้น นั้น ก็เป็นการนำสืบลอย ๆ พยานหลักฐานของโจทก์ร่วมมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผลสัปปะรดถูกฟันเสียหายเนื้อที่ 2 ไร่ ซึ่งการกำหนดค่าเสียหายว่าแค่ไหนเพียงใดนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจศาลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด แม้จะได้ความจากโจทก์ร่วมตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า ที่เกิดเหตุมีทั้งผลสัปปะรดลูกเล็ก ลูกใหญ่ และที่เน่าเสียไปบ้าง และผลสัปปะรดไม่ได้ถูกฟันทุกลูกก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาภาพถ่ายตามรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุเกี่ยวกับทรัพย์แล้วเห็นว่า ผลสัปปะรดเมื่อถูกฟันแล้วไม่สามารถนำไปทำประโยชน์ได้ และพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำเพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ร่วม และการที่จำเลยทั้งสองบุกรุกเข้าไปฟันผลสัปปะรดของโจทก์ร่วมในเวลากลางวัน นับว่าเป็นการกระทำที่อุกอาจ หากไม่มีผู้พบเหตุการณ์กระทำของจำเลยทั้งสองกับพวกก็คงจะสร้างความเสียหายแก่โจทก์ร่วมมากกว่านี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ร่วมเป็นเงิน 120,000 บาท นั้น นับว่าเหมาะสมกับความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ร่วมขอเรียกดอกเบี้ยในค่าสินไหมทดแทนซึ่งเป็นหนี้เงินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิด (วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดให้ตามขอนั้น ปรากฏว่ามีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ศาลฎีกาจึงต้องแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ส่วนนี้ โดยกำหนดดอกเบี้ยตามพระราชกำหนดดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งเป็นวันทำละเมิดถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยน โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งในชั้นฎีกาให้เป็นพับ