โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ.2496 มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมเงินได้ในอัตราสูงสุดไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี ตามประกาศกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2541 จำเลยทั้งสองทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์เพื่อซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 29452 และอาคารบนที่ดินดังกล่าวโดยทำสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 2 ฉบับ ฉบับละ 286,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จำเลยทั้งสองตกลงผ่อนชำระต้นเงินดอกเบี้ยเป็นรายเดือนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 4,000 บาท เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 29 พฤษภาคม 2541 ครบกำหนดชำระหนี้เสร็จภายใน 20 ปี หากจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยครบ 1 ปี ยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบรวมกับต้นเงินได้ และให้ถือเป็นต้นเงินใหม่ที่จำเลยทั้งสองจะต้องเสียดอกเบี้ยต่อไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ จำเลยทั้งสองยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนดไว้ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2542 จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับแรกให้แก่โจทก์ คงเหลือหนี้ต้นเงินจำนวน 265,000 บาท และจำเลยทั้งสองได้ขอกู้ยืมเงินเพิ่มเติมอีก 26,000 บาท รวมเป็นต้นเงินตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับแรกจำนวน 291,000 บาท ต่อมาวันที่ 19 มิถุนายน 2544 จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับแรกให้แก่โจทก์อีก คงเหลือหนี้ต้นเงินจำนวน 276,000 บาท จำเลยทั้งสองขอเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับดังกล่าวออกไปเป็นระยะเวลา 33 ปี 2 เดือน วันที่ 28 มิถุนายน 2542 จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่ 2 ให้แก่โจทก์ คงเหลือต้นเงินตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับดังกล่าวจำนวน 271,000 บาท และจำเลยทั้งสองได้ขอกู้ยืมเงินเพิ่มเติมอีก 74,000 บาท รวมเป็นต้นเงินตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่ 2 จำนวน 245,000 บาท ต่อมาวันที่ 19 มิถุนายน 2544 จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่ 2 ให้แก่โจทก์อีก คงเหลือหนี้ต้นเงินตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับดังกล่าวจำนวน 317,000 บาท จำเลยทั้งสองขอเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับดังกล่าวออกไปเป็นระยะเวลา 33 ปี 2 เดือน และเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2544 จำเลยทั้งสองทำสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่ 3 จำนวนเงิน 64,000 บาท เพื่อชำระหนี้ต่อเติมและซ่อมแซมอาคาร จำเลยทั้งสองยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5.25 ต่อปี เป็นเวลา 2 ปี ส่วนระยะเวลากู้ที่เหลือยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ MRR-1.25 ต่อปี โดยต้องผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่าเดือนละ 400 บาท กำหนดชำระหนี้เสร็จสิ้นภายใน 30 ปี จำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 29452 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวเป็นประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินทั้งสามฉบับในวงเงิน 572,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี โดยมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่า หากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยทั้งสองยอมรับผิดชดใช้เงินส่วนที่ขาดจนครบนอกจากนี้จำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาประกันภัยสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่จำนองโดยให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยและจำเลยทั้งสองเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัยตลอดไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้น หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระเบี้ยประกันภัยและโจทก์ได้ชำระเงินเบี้ยประกันภัยไป จำเลยทั้งสองยอมให้โจทก์นำเงินค่าเบี้ยประกันภัยดังกล่าวรวมเข้ากับต้นเงินตามสัญญากู้ยืมเงินได้ หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองได้จดทะเบียนเพิ่มเงินจำนอง 3 ครั้ง รวมวงเงินจำนองเป็นเงิน 657,000 บาท หลังจากทำสัญญาจำเลยทั้งสองชำระหนี้ไม่ตรงตามกำหนด โดยจำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับแรกครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2544 จำนวน 1,900 บาท ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่ 2 ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2545 จำนวน 2,200 บาท และชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่ 3 ครั้ง สุดท้ายเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2544 จำนวน 400 บาท โจทก์ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินทั้งสามฉบับเป็นอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับแรกเป็นต้นเงินจำนวน 272,791.05 บาท และดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องจำนวน 47,017.25 บาท รวมเป็นเงิน 319,808.30 บาท และเป็นหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่ 2 เป็นต้นเงินจำนวน 309,069.20 บาท และดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องจำนวน 26,051.07 บาท รวมเป็นเงิน 335,120.27 บาท กับเป็นหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่ 3 เป็นต้นเงินจำนวน 63,470.30 บาท และดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องจำนวน 10,356.93 บาท รวมเป็นเงิน 73,827.23 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินทั้งสามฉบับทั้งสิ้น 728,755.80 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้จำนวนดังกล่าวและบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 728,755.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 13.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 645,330.55 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และเบี้ยประกันภัยจำนวน 1,324.66 บาท ทุกวันที่ 2 เมษายน ของทุกสามปี นับแต่วันที่ 2 เมษายน 2547 ไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้น หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 29452 ตำบลสามวาตะวันตก อำเภอมีนบุรี กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 726,512.18 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 581,860.25 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 63,470.30 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 7 มีนาคม 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 29452 ตำบลสามวาตะวันตก อำเภอมีนบุรี กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบกับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกมีว่า อัตราดอกเบี้ยที่โจทก์คิดจากจำเลยทั้งสองตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2544 ตามเอกสารหมาย จ. 12 เป็นเบี้ยปรับหรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่ 3 ตามเอกสารหมาย จ. 12 มีใจความโดยสรุปว่าในระยะ 2 ปีแรก นับแต่วันทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราคงที่ได้เพียงร้อยละ 5.25 ต่อปี เท่านั้น จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นกว่านั้นไม่ได้จนกว่าจะล่วงพ้น 2 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญาเว้นแต่จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้เมื่อใดไม่ว่าจะอยู่ในช่วง 2 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญากู้ยืมเงินหรือหลังจากนั้นก็ตาม โจทก์ย่อมมีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้เสมอ ดังนั้น ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5.25 ต่อปี ในระยะเริ่มแรกก็ดี และหลังจากล่วงพ้นระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้ยืมเงินก็ดี ล้วนเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามข้อสัญญาทั้งสิ้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ จึงเป็นดอกผลนิตินัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 148 วรรคสาม แต่สำหรับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยทั้งสองหลังจากที่จำเลยทั้งสองตกเป็นผู้ผิดนัด และยังอยู่ในช่วงระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้ยืมเงิน ซึ่งโจทก์ยังไม่มีสิทธิเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนั้นเป็นการใช้สิทธิตามสัญญากู้ยืมเงินที่ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นได้ในกรณีที่จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ จึงเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ดอกเบี้ยร้อยละ 13.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มีนาคม 2545 เป็นเบี้ยปรับนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการสุดท้ายมีว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระเบี้ยประกันภัยหลังวันฟ้องได้หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยทั้งสองจะมีหน้าที่ตามสัญญากู้ยืมเงินที่จะต้องเอาประกันภัยสิ่งปลูกสร้างที่จำนองไว้แก่โจทก์ โดยจำเลยทั้งสองตกลงให้โจทก์ทำประกันภัยได้เอง และจำเลยทั้งสองยินยอมชำระเบี้ยประกันภัยคืนแก่โจทก์ก็ตาม แต่เมื่อหน้าที่ที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระเบี้ยประกันภัยภายหลังวันฟ้องเป็นหนี้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระอันเป็นหนี้ในอนาคต จะถือว่าจำเลยทั้งสองละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตนนั้นยังไม่ได้ จึงยังไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์กับจำเลยทั้งสองตามกฎหมายที่จะฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวได้ โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระเบี้ยประกันภัยหลังวันฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ยกคำขอของโจทก์ในข้อนี้ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน"
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.