โจทก์ฟ้องว่า จำเลยให้โจทก์ออกจากงานที่จ้าง ไม่จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์ธนกิจ จำเลยจ้างโจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการสหกรณ์เมื่อโจทก์มีอายุ 58 ปี โจทก์ต้องออกจากงานเมื่ออายุครบ 60 ปี มีการต่ออายุให้โจทก์คราวละ 1 ปีเรื่อยมาเป็นกำหนดเวลาที่แน่นอนจนโจทก์มีอายุครบ 65 ปีจึงต้องออกจากงานตามระเบียบของสหกรณ์ โดยจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ และถือได้ว่าเป็นการจ้างที่มีกำหนดเวลาแน่นอน การดำเนินงานของจำเลยไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ เมื่อโจทก์ออกจากงาน โจทก์เคยร้องเรียนต่อสำนักงานแรงงานจังหวัดเพื่อเตือนให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย แต่ต่อมาโจทก์ถอนคำร้องเรียนโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยตามฟ้องสำหรับดอกเบี้ยไม่มีสัญญากำหนดอัตรากันไว้ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การต่ออายุการทำงานแต่ละคราวเป็นเพียงการขยายกำหนดเวลาจ้างเดิมออกไป ไม่ใช่ข้อตกลงทำสัญญาจ้างกันใหม่ภายหลังที่โจทก์มีอายุครบ 60 ปีแล้ว เห็นได้จากการนับเวลาทำงานของโจทก์โจทก์เข้าทำงานในสหกรณ์จำเลยเมื่อโจทก์อายุ 58 ปี ออกจากงานเมื่ออายุ 65 ปี ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 6,500 บาท จำเลยจ่ายบำเหน็จให้โจทก์ไปแล้ว45,000 บาท แสดงว่าการนับเวลาทำงานของโจทก์นับติดต่อกันมาได้ 7 ปีอีกทั้งตลอดระยะเวลาที่มีการต่ออายุการทำงาน โจทก์ก็มีสิทธิลาออกจากงานได้โดยไม่ถือว่าเป็นการผิดสัญญาจ้างดังนี้ สัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นสัญญาจ้างที่มิได้กำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนอยู่เช่นเดิม
ตามข้อบังคับสหกรณ์จำเลยข้อ 2(9) แจ้งวัตถุประสงค์การดำเนินธุรกิจของจำเลยให้มีการซื้อ แลกเปลี่ยน โอนหรือรับโอน เช่าหรือให้เช่า เช่าซื้อหรือให้เช่าซื้อ จำนองหรือรับจำนอง จำนำหรือรับจำนำ ขายหรือจำหน่ายซึ่งทรัพย์สิน และในข้อ 66 กำหนดการจัดสรรกำไรสุทธิของสหกรณ์ และระเบียบว่าด้วยเจ้าหน้าที่สหกรณ์ฯ ของจำเลยข้อ 27 กำหนดการจัดสรรกำไรเป็นโบนัสแก่เจ้าหน้าที่สหกรณ์ แสดงว่าจำเลยดำเนินการเพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ มิฉะนั้นจะมีกำไรมาจากที่ใดเพื่อจัดสรรแก่สมาชิกและเจ้าหน้าที่สหกรณ์
การจ่ายค่าชดเชยเป็นหน้าที่ของนายจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานการไม่ปฏิบัติตามเป็นความผิดทางอาญา ถือว่าเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นบทบังคับเด็ดขาด ไม่อาจระงับไปด้วยเหตุที่ลูกจ้างถอนคำร้องเรียนดังกล่าว โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ทำงานติดต่อกันมาเกินสามปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้าง
พิพากษายืน ตามสำนวนปรากฏว่าจำเลยเสียค่าแต่งทนายความมา20 บาท เงินค่าธรรมเนียมจำนวนนี้จำเลยไม่ต้องเสียตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 27ให้คืนแก่จำเลย